หุ้นสหรัฐฯฉุดหุ้นโลกปรับฐาน FED ส่งสัญญาณเข้มงวด
#หุ้นสหรัฐ #ทันหุ้น - บทวิเคราะห์ โดย บล.กสิกรไทย
หุ้นโลกปรับฐานหลังเฟดส่งสัญญาณเข้มงวด
ดัชนีหุ้นโลก ปรับตัวลง 3.51% จากตลาดหุ้นสหรัฐฯ และยุโรปที่ลดลง แต่ได้แรงหนุนจากตลาดหุ้นภูมิภาคเอเชียเหนือ
ดัชนี S&P 500 ลดลง จากหุ้นในกลุ่มป้องกันความเสี่ยง, วัฏจักร และพลังงานปรับตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่กลุ่มเติบโตปรับตัวขึ้น
ดัชนี SET Index ปรับตัวลงเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน จาก Bond Yield 10 ปี สหรัฐฯที่ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง, หุ้นใหญ่ในกลุ่มค้าปลีกปรับตัวลง และกนง. ที่คงอัตราดอกเบี้ย
Key Highlights
ภาพรวมตลาดเดือน ธ.ค. 2567
ดัชนี MSCI ACWI ปรับตัวลง 3.51% MoM โดยผลตอบแทนของดัชนีต่างๆ ทั่วโลกแสดงความแตกต่างอย่างชัดเจน ดัชนีที่มีน้ำหนักการลงทุนในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีสูงอย่าง Nasdaq, Nikkei, Hang Seng CEI และ Taiwan Weighted แสดงผลการดำเนินงานที่โดดเด่น ในทางตรงกันข้าม ดัชนีที่มีผลตอบแทนต่ำกว่าตลาดโดยรวมอย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่ Russell 2000 ซึ่งเป็นหุ้นขนาดเล็ก, Dow Jones ที่เน้นหุ้นอุตสาหกรรมดั้งเดิม และ Bovespa
แม้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ค่อนข้างแข็งแกร่ง โดยเฉพาะตัวเลขการจ้างงานที่ออกมาดีเกินคาด แต่ตลาดกลับเผชิญแรงกดดันจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ10 ปี (10Y UST) ที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อันเป็นเป็นผลจากการที่ตลาดกลับมาให้ความสำคัญกับอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น ประกอบกับการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่ลดดอกเบี้ยลง 25 bps แต่ส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยในปี 2568 เหลือเพียง 2 ครั้งจากเดิม 4 ครั้ง
สรุปผลการดำเนินงานของตลาดหุ้นที่สำคัญ
สหรัฐฯ Dow Jones ปิดที่ 42,544.23 จุด (-5.27% MoM), S&P 500 ปิดที่ 5,881.63จุด (-2.50% MoM), Nasdaq Composite ปิดที่ 19,310.79 จุด (+0.48% MoM) และRussell 2000 ปิดที่ 2,230.16 จด (-8.40% MoM) โดย S&P 500 ปิดทรงตัว โดยมีหุ้นขนาดใหญ่ใน 3 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวขึ้นได้ดี เช่น Technology, Consumer Discretionary และ Communication Services ในขณะที่อีก 8กลุ่มปรับตัวลงค่อนข้างแรง โดยมีแรงกดดันจาก 10Y UST ที่ปรับตัวสูงขึ้นมาที่บริเวณ 4.63% จากตัวเลขอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น และการที่เฟดส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยเพียง 2 ครั้งในปี 2568 จากเดิมที่ 4 ครั้ง
ยุโรป ดัชนี STOXX 600 ปิดที่ 507.63 จุด (-0.52% MoM) แรงกดดันหลักมาจากการปรับตัวลงของดัชนี FTSE 100จากหุ้นในกลุ่ม Energy และ Healthcare โดยเฉพาะการปรับตัวลงของ Novo Nordisk ที่ผลการทดสอบยาลดน้ำหนักรุ่นใหม่ให้ประสิทธิภาพที่ต่ำกว่าคาด ในขณะที่แรงหนุนของหุ้นยุโรปมาจากการปรับลดดอกเบี้ยของ ECB, การปรับตัวขึ้นต่อในหุ้นกลุ่ม Technology และการฟื้นตัวขึ้นของกลุ่ม Consumer Discretionary อย่าง Luxury Brand ใน CAC40 และ Automotive ใน DAX
ญี่ปุ่น ดัชนี Nikkei 225 ปิดที่ 39,894.32 จุด (+4.41% MoM) และดัชนี Topix ปิดที่ 2,784.92 จุด (+3.89% MoM) จากค่าเงินเยนที่อ่อนค่าต่อเนื่องหลังธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0.25%พร้อมส่งสัญญาณยังไม่รีบขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมกราคม 2568อีกทั้งยังได้แรงหนุนจากหุ้นในกลุ่ม Automotive ที่ปรับตัวขึ้นแรงโดย Toyota Motor วางแผนเพิ่ม ROE เป็น 20% และการประกาศควบควมกิจการระหว่าง Honda Motor และ Nissan Motor
ไทย SET Index ปิดที่ 1,400.21 จุด (-1.91% MoM) ปรับตัวลงเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน แม้จะมีการปรับตัวขึ้นในช่วงต้นเดือนรับข่าว Jensen Huang ผู้บริหารของ Nvidia ที่มาเยือนไทย แต่ตลาดได้รับแรงกดดันจาก 10Y UST ที่ปรับตัวขึ้น และจากการที่เฟดส่งสัญญาณเข้มงวดนโยบายในปี 2568 มากกว่าที่คาด นอกจากนี้ยังมีปัจจัยกดดันภายในจากหุ้นในกลุ่มค้าปลีกที่ปรับตัวลงแรงจากปัจจัยเฉพาะตัว และการที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 2.25%