รีเซต

นักวิทย์ฯ สกัด RNA แรกสำเร็จ ตั้งเป้าคืนชีพให้เสือแทสเมเนียที่เคยสูญพันธุ์ไปแล้ว

นักวิทย์ฯ สกัด RNA แรกสำเร็จ ตั้งเป้าคืนชีพให้เสือแทสเมเนียที่เคยสูญพันธุ์ไปแล้ว
TNN ช่อง16
28 กันยายน 2566 ( 12:25 )
58
นักวิทย์ฯ สกัด RNA แรกสำเร็จ ตั้งเป้าคืนชีพให้เสือแทสเมเนียที่เคยสูญพันธุ์ไปแล้ว

ทีมนักวิทยาศาสตร์ในสวีเดน ประสบความสำเร็จในการสกัด RNA หรือสารชีวโมเลกุลที่พบในสิ่งมีชีวิต ซึ่งทำหน้าที่ในกระบวนการทางชีววิทยาเพื่อสร้างโปรตีนและควบคุมการทำงานของยีน จากสัตว์สายพันธุ์ไทลาซีน (Thylacine) หรือ เสือแทสเมเนีย ซึ่งเคยสูญพันธุ์ไปแล้วจากบริเวณเกาะแทสเมเนียในช่วงศตวรรษก่อน โดยตั้งเป้าคืนชีพให้เสือแทสเมเนียอีกครั้ง


สัตว์สายพันธุ์ไทลาซีน หรือ เสือแทสเมเนีย เป็นสัตว์ในกลุ่มมีกระเป๋าหน้าท้องที่กินเนื้อเป็นอาหาร ซึ่งคาดว่าเคยมีชีวิตอยู่ทั่วออสเตรเลียมาอย่างน้อยสามพันปี ก่อนที่จะถูกชาวอาณานิคมจากยุโรปทำการกวาดล้าง เนื่องจากมองว่าเป็นภัยต่อการทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์ขนาดใหญ่ จนทำให้เหลือเพียงเสือแทสเมเนียกลุ่มสุดท้ายที่อาศัยอยู่บริเวณเกาะแทสเมเนีย ซึ่งตั้งอยู่ทางใต้ของของประเทศออสเตรเลีย ก่อนที่เสือแทสเมเนียตัวสุดท้ายจะเสียชีวิตลงในปี 1936


ในกรณีของไทลาซีน หรือ เสือแทสเมเนีย นักวิทยาศาสตร์ได้ใช้กระบวนการสร้างจีโนม (Genome) หรือข้อมูลทางพันธุกรรม (DNA) ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด รวมไปถึงการสกัด RNA หรือ สารชีวโมเลกุลที่พบในสิ่งมีชีวิต ทำหน้าที่ในกระบวนการทางชีววิทยาเพื่อสร้างโปรตีน และควบคุมการทำงานของยีน



กระบวนการสกัด RNA ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้ใช้ซากตัวอย่างของเสือแทสเมเนียในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์แห่งชาติสวีเดน (Swedish National History Museum) ที่ถูกเก็บรักษาเอาไว้นานกว่า 130 ปี โดยใช้เนื้อเยื่อบริเวณผิวหนัง และเนื้อเยื่อบริเวณกล้ามเนื้อจากซากของเสือแทสเมเนีย โดยแบ่งเป็น RNA ของกล้ามเนื้อ 1.5 ล้านลำดับ และ RNA ของผิวหนังอีก 2.8 ล้านลำดับ ร่วมกับการวิเคราะห์ลำดับของ RNA ของกล้ามเนื้อกับยีนอีก 236 ยีน รวมไปถึงยีนที่ผลิตโปรตีน เช่น โปรตีนแอกตินและไทติน ซึ่งทำหน้าที่ช่วยในการยืดและหดตัวของกล้ามเนื้อ


ตัวอย่างของผิวหนังดังกล่าว มีความสอดคล้องกับยีน 270 ยีน ที่ใช้สร้างเคราติน ซึ่งเป็นโปรตีนที่เคลือบผิวหนัง เส้นผมและเล็บ นอกจากนี้ทีมงานนักวิทยาศาสตร์ยังระบุอีกว่าชิ้นส่วนของ RNA บางส่วน ยังได้มาจากเชื้อไวรัสที่อยู่อาศัยอยู่ในซากของเสือแทสเมเนียอีกด้วย 


ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ได้สกัด DNA จากสัตว์และพืชโบราณ ซึ่งบางส่วนมีอายุมากกว่า 2 ล้านปี แต่การศึกษาครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่ RNA ซึ่งมีความเสถียรน้อยกว่า DNA มาก ได้รับการกู้คืนจากสายพันธุ์ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว


อย่างไรก็ตาม การคืนชีพให้เสือแทสเมเนีย ยังไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ในตอนนี้ และยังต้องใช้การศึกษาอีกระยะหนึ่ง แต่นับเป็นก้าวย่างที่สำคัญ ซึ่งหากทำสำเร็จ อาจปูทางไปสู่การคืนชีพสัตว์สายพันธุ์ชนิดอื่น ๆ ที่สูญพันธุ์ไปแล้วได้อีกเช่นเดียวกัน

 




ที่มาของข้อมูล Newatlas 

ที่มาของรูปภาพ NFSA/Composite Films, Nfsa.gov.au

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง