รีเซต

'หมอประสิทธิ์' เตือนธ.ค.เสี่ยงโควิดระลอกใหม่ ยุโรปศูนย์กลาง

'หมอประสิทธิ์' เตือนธ.ค.เสี่ยงโควิดระลอกใหม่ ยุโรปศูนย์กลาง
มติชน
25 พฤศจิกายน 2564 ( 12:40 )
37
'หมอประสิทธิ์' เตือนธ.ค.เสี่ยงโควิดระลอกใหม่ ยุโรปศูนย์กลาง

ข่าววันนี้ 25 พฤศจิกายน ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงอัพเดตสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ ในต่างประเทศ และข้อแนะนำในการป้องกันตนเองเมื่อเปิดประเทศ ว่า การอัพเดตสถานการณ์ในรอบนี้ เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงของการระบาดโควิด-19 เกิดขึ้น จึงจำเป็นต้องกลับมาเสนอข้อมูลให้ประชาชนรับทราบ ที่สำคัญไทยกำลังเปิดประเทศ อะไรที่ต้องเฝ้าระวัง บทเรียนอะไรที่เกิดขึ้นในประเทศที่มีการระบาดขึ้นมาใหม่ เพื่อเอามาป้องกัน ย้ำว่า หากเรามีมาตรการป้องกันดีพอ เราจะเปิดประเทศได้ ทั้งนี้ ข้อมูลที่นำเสนอในวันนี้มาจากหลายพื้นที่ สิ้นสุดเมื่อวันที่ 24 พ.ย.64 จึงมั่นใจว่าทันกับเหตุการณ์ ตามที่องค์การอนามัยโลก ประกาศเป็นกังวลกับการระบาดมากมายของยุโรปในเวลานี้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ประเทศหลายที่เคยสงบ กลับมาระบาดมาก

 

“การคาดการณ์โดยผู้บริหารระดับสูงขององค์การอนามัยโลกประจำประเทศ ระบุว่า หากไม่มีการจัดการอะไรเลย ภายใน มี.ค.2565 อาจมีผู้เสียชีวิตมากขึ้นไปถึง 5 แสนราย เป็นตัวเลขที่น่าตกใจ แต่หากวิเคราะห์เหตุปัจจัยตรงนั้น เราจะเข้าใจ เพื่อร่วมมือกันป้องกัน โดยการศึกษาย้อนหลังจากปีที่แล้วถึงปัจจุบัน พบว่า หากมีการระบาดในทวีปใดทวีปหนึ่ง ระยะเวลาต่อมาไม่นาน มักจะกระจายมาทวีปอื่นตามมา” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวและว่า กราฟข้อมูลจนถึงวันที่ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา หากดูรายทวีป จะพบว่า ขณะนี้การระบาดใหญ่เกิดขึ้นในทวีปอเมริกา โดยเฉพาะอเมริกาเหนือเสมือนว่ามันจะกำลังจะวกขึ้น โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ส่วนทวีปยุโรปชัดเจนว่า ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนส.ค. – ก.ย. เป็นต้นมา ตัวเลขกำลังวิ่งขึ้นชัดเจนและทุกวันนี้ยังไต่ขึ้นไม่หยุด ทวีปเอเชีย โดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ไทยอยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างดี หลายประเทศกำลังลง รวมถึงไทยด้วย แต่หากดูจากปีที่แล้ว ถ้าลงแบบนี้ก็เคยวกกลับขึ้นมา ฉะนั้น เราจะต้องช่วยกันป้องกันเพื่อไม่ให้กลับมาขึ้นอีก เช่นเดียวกันกับทวีปอื่นๆ ที่กราฟกำลังลง เช่น เวสต์เทิร์นแปซิฟิก แอฟฟริกา ที่อยู่แนวโน้มขาลง แต่ยังไม่มีหลักฐานชัดเจน ซึ่งต้องติดตามดูว่าจะวกกลับมาหรือไม่

 

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า สำหรับทวีปยุโรป ประเทศที่พบอัตราการเพิ่มขึ้นมาก คือ ออสเตรีย เนเธอร์แลนด์ อังกฤษ เยอรมนี และ อิตาลี ซึ่งกราฟวิ่งไต่ขึ้นตั้งแต่เดือน ต.ค. 64 ที่เป็นจุดเปลี่ยนแปลง สิ่งที่ห่วงคือ ยุโรปกำลังเข้าหน้าหนาวที่เป็นช่วงเวลาเสี่ยงจริงๆ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์โลก พบว่า ตั้งแต่ระลอก (เวฟ) ต้นๆ เริ่มลดลงมาดูดี แต่พอมาเดือน ต.ค. เริ่มเกิดเหตุการณ์ ที่อุบัติการณ์ติดชื้อต่อวันทั้งโลก เริ่มกลับวิ่งขึ้นมา จากที่เคยลงไปถึงวันละ 3 แสนราย ขณะนี้กลับขึ้นมาวันละ 5-6 แสนราย กลายเป็นช่วงปกติแล้ว แต่เป็นสิ่งที่ดีที่ปีนี้กราฟอัตราเสียชีวิตไม่ไปด้วยกัน ที่จำนวนการติดเชื้อยอดค่อยๆ ลงลด เช่นเดียวกับอัตราเสียชีวิต เชื่อว่าเป็นปัจจัยจากการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ทั่วโลกฉีดเกือบ 8,000 ล้านโดส ครอบคลุมประชากรทั้งหมด 7,900 กว่าล้านคน อัตราฉีดเฉลี่ยวันละ 33 ล้านโดส

 

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า สหรัฐตัวเลขเริ่มลดลง แต่ขณะเดียวกันช่วงเดือน ต.ค. ที่การลดลงเริ่มนิ่งแล้วกลับมาวกขึ้น คนส่วนใหญ่ยังไม่ยอมรับการฉีดวัคซีน เป็นปัญหาที่แม้ว่ารัฐบาลจะมีมาตรการหลายอย่างที่สนับสนุนให้ฉีด แต่คนกลุ่มนี้ก็ยังไม่ฉีด ซึ่งเป็นกลุ่มที่นำไปสู่การเสียชีวิต ดังนั้น ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่คือคนที่ยังไม่ฉีด หรือฉีดไม่ครบ อัตราเสียชีวิตเริ่มเปลี่ยนแปลง จากเดิมเป็นเลข 3 หลักมาระยะหนึ่ง แต่สุดท้ายก็เริ่มเป็น 1-2 พันราย ขณะนี้อยู่ช่วงพันกว่าๆ แต่กราฟต่ำกว่ารอบที่แล้วชัดเจน ทั้งนี้ สหรัฐพบติดเชื้อใหม่ 7-8 หมื่นราย บางวันสูงถึงแสนราย ฉีดวัคซีนแล้ว 450 ล้านโดส เฉลี่ยวันละ 1.5 ล้านโดส ครอบคลุมประชากร 333.7 ล้านคน เข็มที่ 1 ราว ร้อยละ 70 เข็มที่ 2 ที่ครบโดสอีกร้อยละ 60 และฉีดเข็มที่ 3 ประมาณ ร้อยละ 10.6

 

“สหรัฐเริ่มฉีดเข็มที่ 3 แล้ว สิ่งหนึ่งที่ไทยเป็นประเทศต้นๆ ในโลกที่เชิญชวนฉีดเข็มที่ 3 เราดำเนินการก่อนประเทศตะวันตก เพราะช่วงที่เราเห็นบุคลากรสุขภาพที่ฉีดวัคซีนครบแล้วติดเชื้อ เหมือนกับอินโดนีเซีย ไทยจึงตัดสินใจเริ่มเข็มที่ 3 ตั้งแต่เดือน ก.ย. ซึ่งตอนต้นๆ ประเทศทางตะวันตก ไม่เห็นด้วยกับเข็มที่ 3 แต่ตอนนี้ประเทศต่างๆ ที่แพร่ระบาด เข็มที่ 3 ก็มาแล้ว โดยฉีดในกลุ่มเสี่ยง 2 กลุ่ม คือ บุคลากรสุขภาพ และผู้สูงอายุที่มีโรคร่วม” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

 

 

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า ประเทศอังกฤษ ตามที่นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ประกาศในวันที่ 19 ก.ค.64 เป็นวันฟรีดอม เดย์ (Freedom Day) เนื่องจากฉีดวัคซีนมากพอแล้ว ก็จะเปิดสถานที่ เปิดกิจกรรม คนเข้าร่วมได้โดยไม่จำเป็นต้องเว้นระยะห่างหรือสวมหน้ากากอนามัย ทั้งนี้ แพทย์จำนวนไม่น้อย รวมถึงนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยที่ติดตามเรื่องนี้เป็นห่วงว่าจะเกิดการระบาดใหม่ ที่อาจเป็นสายพันธุ์ใหม่ได้

 

“แต่นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริง หลังวันที่ 19 ก.ค. เป็นต้นมา อังกฤษไม่เคยกลับมาที่ตัวเลขก่อนประกาศอิสรภาพ โดยติดเชื้อใหม่เฉลี่ยวันละ 3 หมื่นราย บางวันถึง 5 หมื่นราย แต่ตัวเลขเสียชีวิตอยู่ 2-3 หลัก หลังๆ ก็เป็นตัวเลข 3 หลักแล้ว ประมาณ 2-3 รายทุกวัน ดังนั้น หากต่อเนื่องเป็นเดือน ถือว่าไม่น้อยเลย อย่างไรก็ตาม อังกฤษฉีดวัคซีนแล้ว 112 ล้านโดส เฉลี่ยวันละ 4 แสนโดส ครอบคลุมประชากร 68.3 ล้านคน เข็มที่ 1 ประมาณ ร้อยละ 76 เข็มที่ 2 อีก ร้อยละ 70 ทั้งนี้ กำลังมีการถกเถียงกันในการปิดกิจกรรมบางอย่างด้วย นี่ขนาดฉีด 2 ครบเกือบร้อยละ 70 และมีอีกร้อยละ 20 ได้รับเข็มที่ 3 แล้ว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นยังเป็นอย่างนี้ ผลของวัคซีนนี่แหละที่ทำให้อัตราเสียชีวิตไม่ไปด้วยกันกับอัตราติดเชื้อ นี่คือประโยชน์ที่ชัดเจน เพื่อลดความรุนแรงกับเสียชีวิต แต่ไม่สามารถป้องกันติดเชื้อ เพราะต้องดำเนินด้วยมาตรการอื่นที่สำคัญมากกว่าวัคซีน” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

 

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ประเทศเยอรมนี ช่วง 10 วันที่ผ่านมา เกือบทำลายสถิติไล่วันจากผู้ติดเชื้อใหม่วันละ 3 หมื่นราย เป็น 4 หมื่น 5 หมื่น และ 6 หมื่นราย เยอรมนีฉีดวัคซีนแล้ว 117 ล้านโดส ประชากร 84.1 ล้านคน โดย 3 ใน 4 ของประชากรได้รับวัคซีนเข็มแรกร้อยละ 70 ได้รับวัคซีนครบโดส ส่วนอีกร้อยละ 7 ได้รับเข็มที่ 3 แล้ว จะเห็นได้ว่ามีคนฉีดวัคซีนมาก ข้อดีคือ อัตราเสียชีวิตเป็นตัวเลข 3 หลักต่อเนื่องกันตลอด ทั้งนี้ เยอรมนีเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ออกมาตรการเข้มงวดในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้ หลายประเทศในยุโรปไม่ได้ทำการแยกกักที่บ้าน (Home Isolation) เหมือนไทย ดังนั้น เมื่อติดเชื้อ เริ่มมีอาการก็เข้าโรงพยาบาล จำนวนเตียงเริ่มไม่พอ ก็เกิดวิกฤตโดยหลายประเทศเริ่มกังวล จึงออกมาตรการควบคุมเข้มงวด

 

“เดือนหน้า (ธันวาคม 2564) จะเป็นต้องเฝ้าระวังทั้งโลก โดยเฉพาะประเทศตะวันตก เพราะอากาศเย็น เป็นเทศกาลท่องเที่ยว พบปะ กลับไปพบญาติ หลายประเทศในยุโรปประกาศล็อกดาวน์ เข้มงวดตั้งแต่ตอนนี้ เป็นเขาเกรงว่าหากไม่ดึงกราฟลงให้เร็วตอนนี้ เมื่อเดือนหน้าคริสต์มาส ปีใหม่ เขาจะมารวมกันก็จะเป็นความเสี่ยงมากขึ้น” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวและว่า สำหรับประเทศไทย ประชากร 70 ล้านคน ฉีดวัคซีน 89 ล้านโดส เฉลี่ยวันละ 5 แสน ถึงเกือบล้านโดส เข็มแรกฉีดแล้วร้อยละ 67 เข็มที่ 2 ยังไม่ถึงร้อยละ 60 และเข็มที่ 3 อีกร้อยละ 4.4 อัตราเสียชีวิตของไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับการติดเชื้อยังคู่ขนานกันไป เรามีประชากรบางจังหวัดในกลุ่มเสี่ยงได้รับวัคซีนมาก ส่วนหญิงตั้งครรภ์ยังได้น้อย ซึ่งอยากย้ำว่า โอกาสที่วัคซีนจะกระทบต่อเด็กในครรภ์น้อยมาก หลายประเทศแนะนำให้ฉีด เพราะมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าคนทั่วไป 2 เท่า

 

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า สำหรับการถอดบทเรียน พบว่ายุโรปเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดรอบใหม่ โดยเริ่มมีการเดินทางระหว่างประเทศมากขึ้น องค์การอนามัยโลกได้ออกมาเตือนว่า “เดือนหน้าจะเป็นเดือนช่วงเวลาความเสี่ยงของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ” โดยออสเตรียเป็นประเทศที่มีการติดเชื้อสูงสุดอัตรา 925 ต่อแสนประชากรซึ่งทำลายสถิติ จนถึงล็อกดาวน์ประเทศในบางส่วน ขณะที่ อังกฤษที่เคยพบสายพันธุ์เดลต้าพลัส ที่มีจุดกลายพันธุ์ที่ตำแหน่ง E484K ซึ่งทางทฤษฎีก็คาดว่าจะทำให้การแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นได้ แต่ยังไม่มีความรุนแรงมากกว่าเดลต้าเดิม แต่เนื่องจากอังกฤษ ติดเชื้อเพิ่มมาก นักวิชาการจึงติดตามหาเหตุผลว่าสายพันธืใหม่นี้มีผลหรือไม่ รวมถึงจะมีผลกับประสิทธิภาพของวัคซีนหรือไม่ แต่ล่าสุดยังยืนยันว่าสายพันธุ์เดลต้าพลัส ยังไม่น่ามีผลทำให้หลุดไปจากวัคซีนที่ฉีดกัน

 

“สำหรับกลุ่มคนที่ต่อต้านการฉีดวัคซีนในยุโรป เช่น สหรัฐ ออสเตรีย ฯลฯ แต่อยากมีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้น โดยเหตุการณืที่มีคนออสเตรียนมากกว่า 4 คน เข้าร่วมกิจกรรมหนึ่งในตอนเหนือของอิตาลี ที่เป็น Corono party โดยคนติดเชื้อมาเจอกัน ซึ่งคนจำนวนหนึ่งเข้าไปติดเชื้อหวังเกิดภูมิฯ ในธรรมชาติ ผลคือ ขณะนี้มี 1 คน ที่เสียชีวิตแล้ว อีก 3 คน ยังอยู่ในไอซียู โดยมีจำนวนนี้มีเด็กด้วย ดังนั้น อย่าไปคิดว่าไม่ฉีดวัคซีน แต่ติดเชื้อแล้วจะมีภูมิฯ เพราะไม่มีใครรู้ว่า ติดเชื้อแล้วภูมิฯ จะขึ้นหรือชีวิตจะลด ฉะนั้นดีที่สุดคือฉีดวัคซีน” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง