รีเซต

IMD แนะไทยปรับโครงสร้างประเทศ ดันศก.ฟื้นตัวจากโควิด-19

IMD แนะไทยปรับโครงสร้างประเทศ ดันศก.ฟื้นตัวจากโควิด-19
TNN ช่อง16
11 กันยายน 2563 ( 16:51 )
61

วันนี้ ( 11 ก.ย.63) สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “Thailand Competitiveness Conference 2020” บนระบบออนไลน์ ภายใต้แนวคิด 3 ด้านคือ Reality Check, Understanding the Future และ Shifting the Strategy เพื่อเสนอแนะแนวทางในการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในช่วงวิกฤติ COVID-19 พร้อมมุ่งหวังให้ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ธุรกิจ รวมถึงประชาชน ร่วมกันแสวงหาแนวทางในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้เติบโตก้าวหน้าได้อย่างยั่งยืนภายใต้วิถีชีวิตปรกติใหม่ (New Normal) โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาครั้งนี้จากแวดวงธุรกิจขนาดกลาง-ใหญ่ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ และประชาชนผู้สนใจทั่วไป ประมาณ 500 คน

โดยศาสตราจารย์ อาทูโร่ บริส (Prof.Arturo Bris) ผู้อำนวยการสถาบัน IMD World Competitiveness Center ระบุว่า จากวิกฤติ COVID-19 จะเห็นได้ว่าเกือบทุกประเทศต่างไม่มีความพร้อมรับมือต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยประเทศที่มีขนาดพื้นที่เล็กจะรับมือกับสถานการณ์ได้ดีกว่า โดยเฉพาะประเทศที่เศรษฐกิจดีที่สุดในปัจจุบัน ได้แก่ สิงคโปร์ เดนมาร์ก สวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ และฮ่องกง 

ในส่วนของประเทศไทยที่ถือเป็นประเทศขนาดกลาง สิ่งสำคัญที่จะสามารถช่วยทำให้เศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวและอยู่รอดได้คือ การปรับโครงสร้างให้เกิดความยั่งยืนและใช้ความยั่งยืนนี้เป็นหัวใจในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพราะไม่เพียงเป็นแนวโน้มความต้องการของคนยุคใหม่เท่านั้น แต่ยังจะช่วยสร้างความแตกต่าง รวมถึงดึงดูดเงินลงทุนจากต่างชาติซึ่งถือเป็นความท้าทายและโอกาสดีที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างให้เกิดขึ้นภายในประเทศ โดยความยั่งยืนจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากปราศจากความร่วมมือของทางภาครัฐที่จะช่วยกำหนดนโยบายและผลักดันโครงการต่าง ๆ ที่ภาคเอกชนไม่สามารถทำได้เอง

ด้านศาสตราจารย์ สเตฟาน แกเรลลี (Prof.Stephane Geralli) ผู้ก่อตั้งสถาบัน IMD World Competitiveness Center กล่าวว่า สถานการณ์ COVID-19 ส่งผลกระทบหนักที่สุดต่อภาคการท่องเที่ยวซึ่งนับเป็น 10% ของ GDP ทั้งโลก นอกจากนี้ยังทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงมากมายทั้งต่อการดำเนินธุรกิจและการดำเนินชีวิตของผู้คน โดยในภาคธุรกิจมี ความน่าเป็นห่วงคือการเกิดหลุมดำทางเศรษฐกิจซึ่งอาจทำให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กไม่อาจอยู่รอดได้ เพราะถูกบริษัทที่ใหญ่กว่ากว้านซื้อ และทำให้เกิดภาวการณ์การลงทุนมากเกินความจำเป็น (Overcapitalization) โดยบริษัทยักษ์ใหญ่จะขยายตัวเพิ่มมากขึ้น 

ซึ่งจากภาวะดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดเทรนด์โมเดลธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบัน เช่น Grab, Uber, Tesla ซึ่งล้วนเป็นแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงแต่กลับไม่ทำกำไร จึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจว่าอาจจะนำไปสู่การพัฒนาโมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ นอกจากนี้ ยังมีกระแสการนำแหล่งผลิตกลับสู่ประเทศต้นกำเนิด แทนการ Outsource ไปยังประเทศที่ค่าแรงถูก เพื่อสร้างอาชีพให้คนในประเทศ และยังเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชน โดยในภูมิทัศน์ใหม่ของโลกหลังเกิดวิกฤติ COVID สิ่งที่ผู้คนจะต้องการมากที่สุดจากองค์กรต่าง ๆ ได้แก่ ความปลอดภัย ความโปร่งใส จริยธรรม และความยั่งยืน




เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNTHAILAND.com
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง