“คริปโทเคอร์เรนซี” จะมาแทนที่ “เงินตรา” ?
ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา หนึ่งในสินทรัพย์ที่คนทั่วโลกให้ความสนใจและพูดถึงมากที่สุดคงไม่พ้น "คริปโทเคอร์เรนซี" เนื่องจากมีความเข้าใจในเทคโนโลยีบล็อกเชนมากขึ้น ขณะที่ นักลงทุนหลายคนก็เปรียบเทียบว่า คริปโทเคอร์เรนซีบางประเภท โดยเฉพาะ "บิตคอยน์" เป็นเหมือนกับ "ทองคำในโลกดิจิทัล" ทำให้ตั้งแต่ปลายปี 2563 ที่ผ่านมา บริษัทเอกชน กูรู และผู้มีทรงอิทธิพลหลายคน ได้ให้การยอมรับคริปโทเคอร์เรนซีมากขึ้นเรื่อยๆ ในฐานะ "สินทรัพย์เพื่อการลงทุน" และกำลังก้าวเข้าสู่ในฐานะ "ตัวกลางการชำระเงิน" ด้วยหรือไม่ มาติดตามกัน
“คริปโทเคอร์เรนซี” ถูกยอมรับตามกฎหมายของหลายประเทศว่าเป็น “สินทรัพย์เพื่อการลงทุน” ส่งผลให้ภาคธุรกิจและสถาบันการเงินหันให้ความสนใจหันมาลงทุนมากขึ้น โดยมีความเคลื่อนไหวที่สำคัญๆ อาทิ Grayscale กองทุนยักษ์ใหญ่ระดับโลก ตั้งกองทรัสต์อย่าง "Grayscale Bitcoin Trust" ขึ้นมาปี 2556 โดยข้อมูลจาก bitcointreasuries.org ระบุว่าปัจจุบัน กองทรัสต์นี้ มีบิตคอยน์มากที่สุดในโลกอยู่ที่ 649,130 เหรียญ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึง 3.1% จากจำนวนบิตคอยน์ทั้งหมดที่ตั้งไว้ 21 ล้านเหรียญ
ขณะที่เมื่อสิงหาคม 2563 MicroStrategy บริษัทซอฟต์แวร์ธุรกิจรายใหญ่ในสหรัฐฯ ประกาศ ซื้อบิตคอยน์ครั้งแรกถึง 21,454 เหรียญ และปัจจุบัน MicroStrategy ถือครองบิตคอยน์อยู่ถึง 91,064 เหรียญแล้ว
กุมภาพันธ์ 2564 Purpose Investments ผู้จัดการสินทรัพย์ในโทรอนโตของแคนาดา ตั้งกองทุน "ETF บิตคอยน์" แรกของโลก
กุมภาพันธ์ 2564 Bank of New York Mellon ซึ่งเป็นธนาคารรับฝากสินทรัพย์ (custody bank) และธนาคารที่เก่าแก่ที่สุดของสหรัฐฯ ประกาศว่า ภายในปีนี้จะรับดูเเลสินทรัพย์ดิจิทัล พร้อมรับทำธุรกรรมการโอนและแลกเปลี่ยนเงินคริปโทเคอร์เรนซีด้วย ถือว่าเป็นครั้งเเรกที่ ธนาคารรับฝากสินทรัพย์ (custody bank) ขนาดใหญ่ของอเมริกาเปิดแผนธุรกิจสำหรับสินทรัพย์ทางเลือกประเภทดังกล่าว
กุมภาพันธ์ 2564 สแควร์ (Square) ผู้ให้บริการการชำระเงินสำหรับผู้ค้ารายใหญ่ในสหรัฐฯ ที่ก่อตั้งโดยแจ็ค ดอร์ซีย์ (Jack Dorsey) ซีอีโอของทวิตเตอร์ ถือครองบิตคอยน์อยู่ที่ 8,027 BTC โดยบิตคอยน์ทั้งหมดที่ สแควร์ถือครองอยู่จนถึงช่วงสิ้นปี 2563 คิดเป็นสัดส่วนราว 5 เปอร์เซนต์ของสินทรัพย์ทั้งหมดของบริษัท
ล่าสุดเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (มีนาคม 2564) "เหม่ยตู้" (Meitu) ผู้ให้บริการแอปพลิเคชั่นแต่งรูปสัญชาติจีน เปิดเผยว่า ได้ซื้อคริปโทเคอร์เรนซีเป็นมูลค่า 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือราว 1,200 ล้านบาท) Meitu ถือเป็นบริษัทมหาชนสัญชาติจีนรายแรกที่ออกมาเปิดเผยว่า จะลงทุนคริปโทเคอร์เรนซี
โดยคริปโทเคอร์เรนซีที่ Meitu เข้าซื้อประกอบด้วย อีเธอร์ (Ether) คริปโทเคอร์เรนซีที่มีมาร์เกตแคปสูงเป็นอันดับ 2 ของโลกมูลค่า 22.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ บิตคอยน์ คริปโทเคอร์เรนซีอันดับ 1 มูลค่า 17.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในวันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมา
ขณะที่ “คริปโทเคอร์เรนซี” ในฐานะเป็น “เงินตรา” ที่สามารถชำระสินค้าและบริการได้ตามกฎหมายนั้น แม้ธนาคารกลางประเทศต่างๆ ยังไม่ยอมรับ แต่ภาคเอกชนมีความตื่นตัวเปิดให้บริการ “การชำระเงิน” ด้วยคริปโทเคอร์เรนซี ซึ่งเอกชนรายใหญ่ที่เคลื่อนไหวในเรื่องนี้ อาทิ
-ตุลาคมปี 2563 PayPal ผู้ให้บริการการชำระเงินออนไลน์จากสหรัฐอเมริกา ประกาศให้ลูกค้าบนแพลตฟอร์ม สามารถใช้คริปโทเคอร์เรนซีชำระสินค้าและบริการต่างๆ ได้เหมือนกับ "เงินตรา" ทั่วไปบนร้านค้า 26 ล้านแห่งบนเครือข่ายของบริษัท ภายในครึ่งแรกของปีนี้ โดยคริปโทเคอร์เรนซี ที่ PayPal รองรับในช่วงแรกมี 4 สกุล ได้แก่ บิตคอยน์ (BTC), อีเธอเรียม (ETH), บิตคอยน์ แคช (BCH) และไลต์คอยน์ (LTC)
-กุมภาพันธ์ 2564 เทสลา (Tesla) บริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ของโลก เปิดเผยว่า บริษัทได้ลงทุนใน "บิตคอยน์" คริปโตเคอร์เรนซีอันดับ 1 ของโลกเป็นมูลค่ากว่า 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และจะยอมรับการชำระเงินในรูปแบบบิตคอยน์เพื่อซื้อสินค้าและบริการต่างๆ ของเทสลา ในไม่ช้า
-กุมภาพันธ์ 2564 Mastercard ผู้ให้บริการทางการเงินและบัตรเครดิตจากสหรัฐอเมริกา ประกาศเตรียมเปิดเครือข่ายเพื่อสนับสนุนการชำระเงินผ่านคริปโทเคอรเรนซีบางประเภท ภายในปีนี้
- มีนาคม 2564 "เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์" กรุ้ป ผู้ให้บริการโรงภาพยนตร์รายใหญ่ที่มีสาขาอยู่ทั่วประเทศไทย ร่วมมือกับ ซิปเม็กซ์ (ZIPMEX) แพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลชั้นนําของประเทศไทย และแรพิดซ์ (RAPIDZ) ผู้ให้บริการระบบบริหารการรับแลกสินค้าและบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัลชั้นนำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เริ่มโครงการ “ทดลองรับแลกตั๋วหนังด้วยสกุลเงินดิจิทัล” เป็นรายแรกของประเทศไทย หวังรองรับสังคมไร้เงินสด และเพิ่มทางเลือกในการลดการสัมผัสเงินให้แก่ลูกค้า ในยุคโควิด-19 โดยได้เริ่มให้บริการที่เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ รัชโยธิน เป็นสาขาแรก ตั้งแต่เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2564 เป็นวันแรก
จุดนี้จึงมาสู่คำถามที่ว่าในอนาคต “คริปโทเคอร์เรนซี” มีโอกาสจะมาแทนที่ “เงินตรา” ได้จริงหรือไม่?
ก่อนที่จะตอบคำถามนี้ อันดับแรกจะต้องเข้าใจประเภทของคริปโทเคอร์เรนซีที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งแบ่งเป็นได้ 3 ประเภท ได้แก่
1. Decentralized Cryptocurrencies คือ คริปโทเคอร์เรนซีที่ไม่มีผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้ออกโดยชัดเจน แต่มีกลไกให้สาธารณชนมีโอกาสเข้าเป็นส่วนหนึ่งในการรับรองความถูกต้องของธุรกรรมในระบบ กลไกนี้มีชื่อที่รู้จักกันทั่วไปว่า กระบวนการทำเหมือง หรือ mining ซึ่งจะจำกัดปริมาณที่จะออกแต่ต้น เช่นในกรณี “บิทคอยน์” ที่แพร่หลายที่สุด ซึ่งได้มีการเขียนอัลกอริธึมกำหนดไว้แต่แรกว่าจะมีการทยอยออกจนครบ 21 ล้านบิทคอยน์แล้วจะหยุดการออกโดยอัตโนมัติ
2. Privately issued Cryptocurrencies ซึ่งเป็นคริปโทเคอร์เรนซีที่เอกชนเป็นผู้ออก ซึ่งระบุตัวตนผู้ออกได้ชัดเจน โดยอาจมีสินทรัพย์หนุนหลังหรือไม่มีก็ได้ บางครั้งก็เรียกว่า “stable coin” ตัวอย่างที่เป็นที่รู้จักกันดีคือ XRP ของบริษัท Ripple ซึ่งไม่ได้ผูกค่าไว้กับเงินสกุลทางการ หรือใช้เงินสกุลทางการหนุนหลัง โดยผู้ออกมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในธุรกรรมโอนเงินระหว่างประเทศ
หรือกรณีสถาบันการเงินของญี่ปุ่น เช่น Mizuho Financial Group และ Japan Post Bank ที่อยู่ระหว่างการร่วมกันพัฒนา J-Coin โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานกำกับดูแลของญี่ปุ่น และมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนนโยบายการลดการใช้เงินสดของชาวญี่ปุ่น โดยจะมีเงินเยน “หนุนหลัง” J-Coin เต็มจำนวนและสามารถแลก J-Coin เป็นเงินเยนได้ในอัตรา 1 ต่อ 1 ซึ่ง J-Coin จะสามารถอยู่บนแอพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน ของประชาชน เพื่อซื้อสินค้าและบริการผ่าน QR Code
3. Central Bank Digital Currency (CBDC) คริปโทเคอร์เรนซีที่ออกโดยธนาคารกลางของประเทศนั้น ๆ ซึ่งส่วนใหญ่มีวัตถุประสงค์เพื่อลดต้นทุนในระบบเศรษฐกิจที่เกิดจากการใช้เงินสด อย่างไรก็ดี ปัจจุบันธนาคารกลางหลายแห่งอยู่ระห่างการศึกษาวิจัยแนวทางการออก CBDC ทั้งในรูปแบบ Retial CBDC เพื่อชำระเงินรายย่อย และ Wholesale CBDC เพื่อชำระเงินที่มีมูลค่าสูงระหว่างสถาบันการเงิน หรือบริษัทเอกชนขนาดใหญ่
โดยปัจจุบัน จีนถือเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าในโครงการ CBDC มากที่สุด โดยสำนักข่าว ซีเอ็นบีซีรายงานว่า การพัฒนาคริปโทเคอร์เรนซีของธนาคารกลางจีนรุดหน้าไปมาก โดยล่าสุดหน่วยงานภายในธนาคารกลางจีนได้ร่วมมือกับ “สวิฟต์” หน่วยงานกำหนดมาตรฐานการโอนเงินระหว่างประเทศ ร่วมกันจัดตั้งบริษัท “ไฟแนนซ์ เกตเวย์ อินฟอร์เมชั่น เซอร์วิส ลิมิเต็ด” จดทะเบียนในกรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา โดยบริษัทนี้ถูกจัดตั้งมาเพื่อที่จะศึกษาพัฒนาดิจิทัลหยวน ให้สามารถรองรับการใช้งานข้ามประเทศได้ และเป็นช่องทางการขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจ
ที่ผ่านมา จีนได้เริ่มมีการทดลองใช้งานดิจิทัลหยวนจริง ๆ กับประชาชนแล้วที่เมือง “เซินเจิ้น” กับ “ซูโจว” และเมื่อช่วงเทศกาลตรุษจีนที่ผ่านมา ขณะที่ กรุงปักกิ่งได้แจกดิจิทัลหยวนเป็น “อั่งเปา” ให้กับประชาชนผู้โชคดี 50,000 คน คนละ 200 หยวน (ประมาณ 930 บาท) มูลค่ารวม 10 ล้านหยวน เพื่อใช้จ่าย ในช่วงเทศกาลตรุษจีน
และล่าสุดเมือง “เฉิงตู” ก็เพิ่งเริ่มการทดลองแจกดิจิทัลหยวนให้กับผู้โชคดี 200,000 คน คนละ 170-240 หยวน (ประมาณ 800-1,125 บาท) ซึ่งโดยรวมมีมูลค่าทั้งสิ้น 40.2 ล้านหยวน (188 ล้านบาท) ให้สามารถไปใช้จ่ายได้ช่วงวันที่ 3-19 มีนาคมนี้ โดยผู้ที่ได้รับดิจิทัลหยวนจะสามารถใช้ซื้อสินค้าตามร้านค้าที่กำหนดได้ รวมถึงแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ “เจดี.คอม”
แหล่งข่าวระบุว่า จีนมีแผนจะเปิดตัว “ดิจิทัลหยวน” อย่างเป็นทางการในงาน “โอลิมปิกฤดูหนาว” ซึ่งจะจัดขึ้นที่กรุงปักกิ่ง ช่วงปลายปี 2565 โดยมีเป้าหมายที่จะให้นักกีฬา และผู้ร่วมงานทุกคนมีดิจิทัลหยวนสำหรับการใช้จ่ายทุกอย่าง เช่น การซื้อสินค้า จ่ายค่ารถโดยสาร ไปจนถึงค่าที่พัก ถือเป็นการใช้ “ดิจิทัลหยวน” เต็มรูปแบบ แต่ขณะเดียวกันก็มีมุมมองว่าอาจเกิดกระแส “ดิจิทัลบอยคอต” ไม่ยอมใช้ดิจิทัลหยวนของรัฐบาลจีนก็เป็นได้
ขณะที่ อีกหลายประเทศส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในระหว่างการศึกษาและทดลอง ไม่ว่าจะเป็น ดิจิทัลยูโรของสหภาพยุโรป ไลออนร็อคของฮ่องกง ดิจิทัลวอนของเกาหลีใต้ แจสเปอร์ของแคนาดา อี-โครนาของสวีเดน
ส่วน "ประเทศไทย" โดยเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (8 มี.ค.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพิ่งเปิดเผยถึงผลการพัฒนาระบบต้นแบบการชำระเงินในภาคธุรกิจโดยใช้สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency: CBDC) ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่าง ธปท. เอสซีจี และบริษัทดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด โดยมีบริษัท ConsenSys เป็นผู้สนับสนุนด้านเทคโนโลยี ซึ่งผลการพัฒนาและทดสอบสรุปได้ว่าเทคโนโลยีดังกล่าวสามารถเพิ่มประสิทธิภาพ (Efficiency) การชำระเงินให้แก่ภาคธุรกิจได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ ในปี 2564 - 2565 ธปท. จะมุ่งเน้นการศึกษาและพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลสำหรับภาคประชาชน (Retail CBDC) เพื่อให้สามารถใช้ได้ในวงกว้าง โดย ธปท. จะเผยแพร่รายละเอียดผลการศึกษาการออก Retail CBDC ในระยะต่อไป
ทั้งนี้ คุณลักษณะของ "เงินตรา" ทางเศรษฐศาสตร์มีคุณสมบัติสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ 1. เป็นตัวกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยน (Medium of Exchange) คือ สังคมให้การยอมรับเป็นตัวกลางในแลกเปลี่ยนกับสินค้าและบริการ เพื่อทำเกิดประสิทธิภาพในระบบเศรษฐกิจ 2. มีหน่วยวัดทางบัญชี (Unit of Account) เช่น บาท หรือ ดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นต้น เพื่อความสะดวกในการซื้อ ขาย แลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ และ 3. ตัวเก็บมูลค่า (Store of Value) กล่าวคือ เป็นสิ่งที่สามารถอำนวยความสะดวกในการเก็บมูลค่าของการสะสมทรัพย์
ฉะนั้น ในกรณีของ Decentralized Cryptocurrencies หรือ บิตคอยน์ อาจยังไม่สามารถตีความว่าเป็นเงินตามนิยามทางเศรษฐศาสตร์ได้ชัดเจน เนื่องจาก ยังไม่เป็นตัวกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนที่ดี เนื่องจาก การใช้บิทคอยน์ในการซื้อขายแลกเปลี่ยนในชีวิตประจำวันยังไม่แพร่หลาย และจำกัดอยู่ใน "วงแคบ" เท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้เงินสด บัตรเดบิต หรือ บัตรเครดิต ที่ยืนยันการชำระธุรกรรมได้ในแทบจะทันที นอกจากนี้ในปัจจุบัน บางประเทศ เช่น จีน และไทย ได้ประกาศห้ามใช้ บิตคอยน์ เป็นตัวกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนชัดเจน ที่สำคัญยังไม่ใช่ตัวเก็บมูลค่า (Store of Value) ที่ดี เนื่องจาก ราคาผันผวนมาก
ดังนั้น การที่ "คริปโทเคอร์เรนซี" จะก้าวมาแทน "เงินตรา" ได้หรือไม่ ถือเป็นความท้าทายในโลกยุคจิทัล ที่เทคโนโลยีมีความสำคัญต่อการใช้ชีวิตประจำวัน