รีเซต

รัฐบาลยืนยันจริงจังและจริงใจในการแก้ไขปัญหาพร้อมรับฟังทุกฝ่ายหลังถูกยูเอ็นเรียกร้องให้ร่าง พ.ร.บ. บังคับบุคคลสูญหาย เป็นไปตามหลักสากล

รัฐบาลยืนยันจริงจังและจริงใจในการแก้ไขปัญหาพร้อมรับฟังทุกฝ่ายหลังถูกยูเอ็นเรียกร้องให้ร่าง พ.ร.บ. บังคับบุคคลสูญหาย เป็นไปตามหลักสากล
บีบีซี ไทย
18 กรกฎาคม 2563 ( 13:53 )
124
รัฐบาลยืนยันจริงจังและจริงใจในการแก้ไขปัญหาพร้อมรับฟังทุกฝ่ายหลังถูกยูเอ็นเรียกร้องให้ร่าง พ.ร.บ. บังคับบุคคลสูญหาย เป็นไปตามหลักสากล

 

สำนักงานเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติออกแถลงการเรียกร้องให้ประเทศไทยบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการทรมานและการบังคับบุคคลสูญหายที่มีหลักการตามมาตรฐานสากลอย่างครบถ้วนโดยเร็วหลังจากที่ ครม. เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. ที่ผ่านมา

 

จากแถลงการที่ออกเมื่อวันที่ 17 ก.ค. 63 โดย สำนักงานเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระบุว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่ร่างกฎหมายเอาผิดการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย ต้องมีหลักการตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศเพื่อป้องกันและอำนวยความยุติธรรมแก่อาชญากรรมร้ายแรงนี้ภายหลังการพิจารณามากว่าทศวรรษ

 

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยเมื่อวันที่ วันที่ 23 มิ.ย. 63 หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม. เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย

 

ร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว เป็นการกำหนดฐานความผิดการกระทำทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย มาตรการป้องกัน การเยียวยาผู้เสียหาย และการดำเนินคดีสำหรับความผิดดังกล่าวให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยกำหนดระวางโทษสูงสุดจำคุกตลอดชีวิตและปรับ 400,000 บาท

 

บีบีซีไทยได้ติดต่อรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อขอความคิดเห็นเพิ่มเติมจากแถลงการของสำนักงานเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ โดยรัชดายืนยันว่ายินดีรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายและ ะย้ำว่ารัฐบาลจริงใจและจริงจังกับเรื่องของการผ่านร่างกฎหมายเรื่องนี้

 

"ประเทศไทยมีแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและมีเป้าหมายหลักในแต่ละด้านอยู่ ในเรื่องของการป้องกันการทรมานและการบังคับสูญหายก็อยู่ในแผนนั้น และมาวันนี้รัฐบาลก็ได้ขับเคลื่อนเรื่องนี้ไปโดยอ้างอิงหลักสากลและผ่านกระบวนการปนะชาพิจารณ์มาแล้ว และกำลังจะเข้าสู่กระบวนการให้สภาพิจารณา" รัชดา บอกกับบีบีซีไทย

 

"ในเรื่องกฎหมาย ประเทศไทยเป็นภาคีสนธิสัญญาในหลาย ๆ เรื่อง เพราะฉะนั้นการที่เราจะย่างก้าวในเรื่องกฎหมายมันก็ต้องอ้างอิงตามหลักสากลอยู่แล้ว มันเป็นไปไม่ได้ที่เราจะไม่สนใจข้อตกลงในภาคีที่เราร่วมเป็นสมาชิกอยู่แล้ว"

 

รัชดาอธิบายเพิ่มเติมว่าแต่ละประเทศก็ต้องปรับนำมาใช้ให้เข้ากับบริบทของประเทศนั้น ส่วนข้อวิพากษ์วิจารณ์ไม่ว่าจะจากหน่วยงานใด รัฐบาลก็พร้อมที่จะรับฟัง และเรื่องนี้ก็เป็นสิ่งที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะได้หยิบยกเข้าไปในที่ประชุมนัดแรก แล้วคณะกรรมาธิการก็จะมีการพิจารณาปรับปรุงต่อไป

 

"เสียงวิพากษ์วิจารณ์ก็พร้อมที่จะรับฟังอยู่แล้ว นี่คือขั้นตอนที่รัฐบาลผ่านร่างฯ เท่านั้น อะไรที่จะทำให้มันครอบคลุมมากขึ้นก็มาช่วยกันคิด ถ้าองค์กรไหน หน่วยงานไหน คิดว่ามันยังมีประเด็นที่ต้องใส่เพิ่มเติม ทุก ๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็ควรรับฟัง จากนี้ไปมันก็เป็นเรื่องของสภาแล้ว ไม่ใช่เรื่องของรัฐบาล ฝ่ายออกกฎหมายคือฝ่ายนิติบัญญัติ พร้อมที่จะรับฟังและให้ ส.ส. เค้าไปพิจารณา"

 

ทางด้านนายสุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาประจำประเทศไทยของฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวกับ บีบีซีไทย ว่ารัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาก็ไม่แตกต่างจากรัฐบาลอื่นๆ ที่ผ่านมา คือ ไม่มีความจริงใจที่จะทำให้การบังคับสูญหาย และการซ้อมทรมานเป็นความผิดอาญาตามกฎหมายไทย ล่าสุดถึงแม้คณะรัฐมนตรีจะผ่านร่างกฎหมายเรื่องนี้ แต่เนื้อหาก็ถูกบิดเบือนในสาระสำคัญจนไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลตามที่ระบุในกติการะหว่างประเทศที่ไทยลงนามไว้

 

"สิ่งที่เกิดขึ้นจึงเป็นแค่การเล่นละคร แต่ดูเหมือนว่าจะไม่มีใครเชื่อคำโฆษณาของรัฐบาลประยุทธ์อีกต่อไป เราจึงเห็นความพยายามที่ใช้กลไกของรัฐสภาเสนอร่างกฎหมายฉบับประชาชนที่มีเนื้อหาสมบูรณ์ครบถ้วนตามมาตรฐานสากล และที่สำคัญคือเป็นร่างที่เหยื่อ และครอบครัวของผู้ถูกยังสูญหาย และซ้อมทรมานมีส่วนร่วมด้วย" นายสุณัยกล่าว

 

"ละครฉากใหญ่อีกเรื่องคือกลไกที่รัฐบาลประยุทธ์จัดตั้งขึ้นเพื่อรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการบังคับสูญหาย และการซ้อมทรมาน ซึ่งไม่ได้สอบสวน และคลี่คลายปัญหาเลย คดีเก่าก็คั่งค้างต่อไปคดีใหม่ก็เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ"

 

สำนักงานเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติระบุเพิ่มเติมว่าการที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัตินี้นับเป็นก้าวสำคัญ แต่ร่างกฎหมายดังกล่าวยังขาดหลักการสากลที่เป็นสาระสำคัญ ทั้งหลักการทรมานเป็นการกระทำต้องห้าม และหลักการไม่ผลักดันกลับไปเสี่ยงภัย ซึ่งต่างเป็นสิทธิที่ไม่อาจลดทอนได้ ตามกฎหมายระหว่างประเทศ อีกทั้ง คำนิยามของการกระทำผิดในร่างกฎหมายนี้ยังไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล

 

"กฎหมายภายในประเทศจะสามารถช่วยให้เหยื่อและครอบครัวได้รับสิทธิเรียกร้องตามกระบวนการยุติธรรมอย่างมีประสิทธิภาพได้ ก็ต่อเมื่อกฎหมายนั้นเป็นไปตามอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ" ซินเธีย เวลิโก้ ผู้แทนประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำนักงานเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ณ กรุงเทพมหานคร กล่าว

 

ประเทศไทยได้ดำเนินการที่สำคัญเพื่อป้องกันการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย ด้วยการให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานฯ เมื่อปี 2550 และลงนามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับเมื่อปี 2555 ร่างพระราชบัญญัตินี้เป็นส่วนสำคัญที่รอคอยมานาน ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยอยู่ในสถานะที่จะสามารถปฏิบัติตามพันธกรณีในฐานะรัฐภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานฯได้ และเป็นบริบทที่จำเป็นต่อการให้สัตยาบัน และบังคับใช้อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับอย่างมีประสิทธิภาพ

 

"เวลาและทรัพยากรจำนวนมากได้ทุ่มเทไปกับการร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวให้แล้วเสร็จตลอดหลายปีที่ผ่านมา อีกทั้ง ภาคประชาสังคมและกลไกด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศได้ชี้ให้เห็นข้อบกพร่องของร่างกฎหมายฉบับก่อนหน้าและฉบับปัจจุบันเสมอมา การที่ประเทศไทยพร้อมที่จะบังคับใช้ร่างพระราชบัญญัติซึ่งมีเนื้อหาตามหลักการในกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอย่างครบถ้วนนั้น จะแสดงให้เห็นความมุ่งมั่นในการขจัดการทรมานและบังคับบุคคลให้สูญหายให้หมดสิ้น รวมถึงความมุ่งมั่นในการอำนวยความยุติธรรมให้แก่เหยื่อของอาชญากรรมเหล่านี้" เวลิโก้ กล่าว

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง