รีเซต

มัดรวม สิทธิประโยชน์ "บัตรทอง" คุ้มครองอะไร ใครสมัครได้บ้าง?

มัดรวม สิทธิประโยชน์ "บัตรทอง" คุ้มครองอะไร ใครสมัครได้บ้าง?
TNN ช่อง16
22 กันยายน 2563 ( 14:00 )
9.7K

"บัตรทอง" หรือชื่ออย่างเป็นทางการคือ "บัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า" หรือ "บัตร 30 บาทรักษาทุกโรค" สุดแท้แล้วแต่ใครจะถนัดเรียกแบบไหน โดยบัตรทอง เป็นสิทธิตามกฎหมายที่รัฐบาลจัดให้คนไทยทุกคนตั้งแต่แรกเกิดและตลอดช่วงชีวิต ซึ่งผู้ใช้บัตรทองจะต้องลงทะเบียนไว้กับสถานพยาบาลที่ตนต้องการเข้ารับการรักษา โดยทั่วไปจะเลือกสถานพยาบาลใกล้บ้าน

  • ใครบ้างมีสิทธิได้รับ "บัตรทอง"

ตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 มาตรา 5 กำหนดให้ บุคคลทุกคนมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติ ซึ่งบุคคลในที่นี้ หมายถึง บุคคลที่มีสัญชาติไทย ดังนั้น ผู้มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คือ

- บุคคลที่มีสัญชาติไทย มีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก

- ไม่มีสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลอื่นใดที่รัฐจัดให้ ได้แก่ สิทธิตามกฏหมายประกันสังคม สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการ / พนักงานส่วนท้องถิ่น หรือ สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลของหน่วยงานรัฐอื่น ๆ  เช่น รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน ข้าราชการเมือง

- บุคคลผู้โอนสัญชาติ, แปลงสัญชาติ, โดยมีชื่อในฐานข้อมูลทางทะเบียนราษฎร์และมีเลขบัตรประชาชน 13 หลักก็สามารถติดต่อขอทำบัตรทองได้เช่นเดียวกัน


  • สิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

- กรณีเจ็บป่วยทั่วไป หมายถึง อาการเจ็บป่วยที่ไม่ใช่อาการฉุกเฉิน สามารถรอรับบริการสาธารณะสุขในเวลาทำการปกติได้ โดยไม่ก่อให้เกิดอาการรุนแรงหรือภาวะแทรกซ้อน สามารถเข้ารับบริการที่หน่วยบริการตามสิทธิ แจ้งการขอใช้ "สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ"

- กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน หมายถึง อาการเจ็บป่วยกะทันหัน เป็นภยันตรายต่อชีวิต ต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน ไม่จำเป็นต้องเป็นโรงพยาบาลตามสิทธิ โดยค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นใน 72 ชั่วโมงแรก ผู้ป่วยไม่ต้องจ่าย แต่ละกองทุนประกันสุขภาพภาครัฐที่ผู้ป่วยมีสิทธิ จะดำเนินการจ่ายให้โรงพยาบาลตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงแต่ไม่เกินอัตราที่กำหนด

หากเป็นการเข้ารับการรักษาโรงพยาบาลนอกสิทธิ์ที่ตนสังกัดอยู่แล้ว ไม่ใช่ฉุกเฉินวิกฤติ แพทย์ต้องแจ้งให้ผู้ป่วยทราบ หากผู้ป่วยตัดสินใจที่จะรับบริการที่โรงพยาบาลนอกสิทธิ์ แต่ละกองทุนจะจ่ายให้เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นไม่ครอบคลุมทั้งหมด หลักเกณฑ์ขึ้นอยู่กับแต่ละกองทุนกำหนด ส่วนที่เหลือผู้ป่วยจะต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเอง 


อย่างไรก็ตาม ก่อนรับบริการ ต้องแนบเอกสารประกอบ ได้แก่ บัตรประจำตัวประชาชน หรือเอกสารที่ทางราชการออกให้ ที่มีรูปถ่าย กรณีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ที่ยังไม่ได้ทำบัตรประจำตัวประชาชน สามารถใช้สูติบัตร แทนได้

  • บริการที่อยู่ในความคุ้มครอง "บัตรทอง"

- ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค

- การตรวจรักษาโรคทั่วไป ตั้งแต่โรคทั่วไป เช่น ไข้หวัด จนถึงการรักษาโรคเรื้อรัง หรือโรคเฉพาะทางที่มีค่ารักษาสูง เช่น โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ไตวายเรื้อรัง โรคหัวใจ โรคเอดส์ วัณโรค เป็นต้น

- การคลอดบุตร สามารถใช้สิทธิการคลอดบุตรได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง

- บริการทันตกรรม ได้แก่ อุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูน การให้ฟลูออไรด์เสริมในกลุ่มเสี่ยงต่อโรคฟันผุ การรักษาโพรงประสาทฟันน้ำนม การเคลือบหลุมร่องฟัน ผ่าฟันคุด ใส่เพดานเทียมเด็กปากแหว่งเพดานโหว่ และการทำฟันปลอมฐานพลาสติก

- ค่ายาตามกรอบบัญชียาหลักแห่งชาติ และยาที่มีมูลค่าสูง โดยอ้างอิงจากคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

- ค่าห้องทั่วไป และค่าอาหารในช่วงพักฟื้น

- ค่าใช้จ่ายเพื่อการจัดส่งระหว่างพยาบาล

- บริการแพทย์แผนไทยตามข้อบ่งชี้แพทย์ ได้แก่ ยาสมุนไพร หรือ ยาแผนไทย การนวดเพื่อการรักษา การอบหรือประคบสมุนไพรเพื่อการรักษา การฟื้นฟูสุขภาพแม่หลังคลอดบุตร

- บริการฟื้นฟูสมรรถภาพให้แก่คนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้ที่จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟู เช่น จิตบำบัด กายภาพบำบัด พฤติกรรมบำบัด กิจกรรมบำบัด ฟื้นฟูการได้ยิน ฟื้นฟูการมองเห็น และรับอุปกรณ์เครื่องช่วยตามประเภทความพิการตามเกณฑ์ที่ สปสช.กำหนดเป็นต้น

(คลิกอ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)


นอกจากนี้ ยังได้มีการขยายความคุ้มครอง บัตรทอง ปี 2564 จากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 3 มี.ค.63 อนุมัติงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ปี 2564 รวมทั้งสิ้น 194,508.79 ล้าน เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ประมาณ 2.2 % และมีการปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ – บริการ ดังนี้

1.เพิ่มวัคซีน “หัด, คางทูม, หัดเยอรมัน” (MMR) ในเด็กอายุ 1 ปี 6 เดือน

2.เพิ่มการคัดกรองภาวะ “ดาวน์ซินโดรม” ให้กับหญิงตั้งครรภ์ทุกกลุ่มอายุ

3.โครงการรับยาใกล้บ้านโมเดล 1-3

4.บริการจัดส่งยาและเวชภัณฑ์ไปยังผู้ป่วยที่บ้าน

5.บริการโทรเวชกรรม (Telemedicine) และ Telehealth


  • บริการที่ไม่อยู่ในความคุ้มครองของ "บัตรทอง"

1. ภาวะมีบุตรยาก หรือการผสมเทียม

2. การศัลยกรรมความงามที่ไม่มีการบ่งชี้จากแพทย์

3. การดำเนินการใด ๆ ทางการแพทย์โดยปราศจากการบ่งชี้ทางการแพทย์

4. การดำเนินการรักษาด้วยวิธีการหรือขั้นตอนที่ยังเป็นการทดลองอยู่

5. อาการเจ็บป่วยซึ่งเป็นผลจากอุบัติเหตุทางยานพาหนะ แต่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายที่บริษัท หรือกองทุนเป็นผู้จ่าย

6. การรักษา หรือขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับผู้ที่ติดสารเสพติด ยกเว้นกรณีเฉพาะที่ประกาศจาก สปสช.เท่านั้น

7. ผู้ป่วยในที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลมากกว่า 180 วันด้วยโรคเดียวกัน ยกเว้นภาวะแทรกซ้อนที่จำเป็นต้องรักษาอย่างต่อเนื่อง หรือมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์

8. การปลูกถ่ายอวัยวะขึ้นอยู่กับการประกาศ สปสช. เช่น การปลูกถ่ายตับกับเด็กไม่เกิน 18 ปี หรือการปลูกถ่ายไตเพื่อรักษาโรค ไตวายเรื้อรังในระยะสุดท้าย


  • สมัคร - เช็กสิทธิ บัตรทอง ต้องทำอย่างไร? 

สำหรับประชาชนที่สนใจจะสมัครบัตรทองหรือต้องการเช็กสิทธิบัตรทอง สามารถทำได้ ดังนี้

การสมัคร "บัตรทอง"

ต้องมีหลักฐาน ได้แก่ บัตรประจำตัวประชาชน หรือ บัตรประจำตัวที่มีรูปถ่ายซึ่งทางราชการออกให้ , กรณีเด็กต่ำกว่า 7 ปี ใช้สำเนาใบสูติบัตร (ใบเกิด) แทน , ทะเบียนบ้านที่ผู้ขอมีชื่ออยู่ กรณีพักอาศัยอยู่จริงไม่ตรงตามทะเบียนบ้าน จะต้องแนบสำเนาทะเบียนบ้านของบุคคลที่ตนไปพักอาศัยอยู่ พร้อมหนังสือรับรองของเจ้าบ้าน หากเป็นบ้านเช่าหรือหอพักใช้เอกสารหลักฐานอื่น ๆ เช่น สัญญาเช่าที่พัก ใบเสร็จรับเงินค่าเช่าที่พัก ใบเสร็จรับเงินค่าน้ำ ใบเสร็จรับเงินค่าโทรศัพท์บ้าน ที่แสดงว่าผู้ขอลงทะเบียนพักอาศัยอยู่ในพื้นที่นั้นๆ จริง

สถานที่ติดต่อขอทำบัตรทอง

- พื้นที่ต่างจังหวัด โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โรงพยาบาลของรัฐใกล้บ้าน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 1-12

- พื้นที่กรุงเทพมหานคร สำนักงานเขต 19 แห่ง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 13 กทม.

การเช็กสิทธิ "บัตรทอง"

- ติดต่อด้วยตนเองได้ที่ สำนักงานเขต กทม. (19 เขต) สปสช. เขตพื้นที่ 1-13 โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงพยาบาลของรัฐ

- โทรสายด่วน สปสช. 1330 กด 2 ตามด้วยหมายเลขบัตรประชาชน 13 หลัก และเครื่องหมาย #

- ทาง Application "สปสช." สามารถดาวน์โหลดฟรี ได้ทั้งระบบ Andriod และ iOS เมื่อลงทะเบียนติดตั้งแอปพลิเคชั่นเรียบร้อย สามารถเข้าใช้งานฟังก์ชั่น ตรวจสอบสิทธิตนเอง และตรวจสอบสิทธิคนในครอบครัวได้ทันที

- ผ่าน Line Official Account สปสช. พิมพ์ค้นหา Line ID @nhso หรือ สแกน QR Code คลิกลิงก์ https://lin.ee/zzn3pU6 เลือกฟังก์ชั่น "ตรวจสอบสิทธิ" และกรอกข้อมูล

- ผ่านทางเว็บไซต์ สปสช. www.nhso.go.th เข้าเมนูประชาชน เลือกหัวข้อ "ตรวจสอบสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ" หรือคลิกลิงก์นี้ http://eservices.nhso.go.th/eServices/mobile/login.xhtml


เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNTHAILAND.com
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE

ข่าวที่เกี่ยวข้อง