รีเซต

‘ส.ภัตตาคาร’ ชี้ฉลองปีใหม่ดันยอดขายร้านอาหารพุ่งทะลุ 100%

‘ส.ภัตตาคาร’ ชี้ฉลองปีใหม่ดันยอดขายร้านอาหารพุ่งทะลุ 100%
มติชน
2 มกราคม 2565 ( 15:19 )
66
‘ส.ภัตตาคาร’ ชี้ฉลองปีใหม่ดันยอดขายร้านอาหารพุ่งทะลุ 100%

ข่าววันนี้ นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย เปิดเผยว่า ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2565 เห็นธุรกิจร้านอาหารกลับมามียอดขายดีขึ้นมาก ทะลุ 100% ไปแล้ว เนื่องจากคนส่วนใหญ่ใช้โอกาสนี้ในการเฉลิมฉลองกับครอบครัวและพบปะเพื่อน รวมถึงมีร้านอาหารขนาดเล็กหรือสตรีทฟู๊ดต่างๆ หยุดกลับต่างจังหวัดจำนวนมาก ร้านอาหารขนาดใหญ่ จำพวกภัตตาคารจึงได้ประโยชน์เชิงบวกมากขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงร้านอาหารถือเป็นธุรกิจที่ฟื้นตัวกลับมาได้ดีขึ้นและเร็วมาก แต่ยังต้องประเมินภาพประมาณกลางเดือนมกราคมนี้ ก่อนว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร เพราะปกติร้านอาหารมักจะขายดีสูงสุด (พีก) ช่วงวันที่ 30-31 ธันวาคม และวันที่ 1-2 มกราคมของทุกปี หลังจากนั้นจะเป็นภาวะปกติ ซึ่งจะประเมินภาพการฟื้นตัวได้ดีมากขึ้น

 

“การออกมาใช้จ่ายของคนทั้งในกรุงเทพฯ และตามต่างจังหวัดหลักๆ สะท้อนให้เห็นว่า คนไทยยังไม่ได้ตื่นตระหนกกับการระบาดโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนมากเท่าที่ควร เพราะยังเห็นคนเข้าใช้บริการในร้านอาหารเยอะมาก โดยเฉพาะร้านอาหารกึ่งบันเทิง ที่มีดนตรีสด และสามารถดื่มแอลกอฮอล์ได้ ซึ่งส่วนนี้มองว่า อาจเป็นความอัดอั้นของคนที่ต้องอยู่กับบ้านนานเกินไป พอสามารถออกได้ แม้มีความเสี่ยง แต่ก็ขอออกมาก่อนแล้วกัน ค่อยป้องกันตัวเองสูงๆ แทน” นางฐนิวรรณ กล่าว

 

นางฐนิวรรณ กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดโควิด-19 กับเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ความจริงถือเป็นช่วงเวลาที่มีความเสี่ยงสูงมาก ในการกระจายเชื้อโรค เนื่องจากเป็นช่วงเวลาของการเฉลิมฉลอง การงานรื่นเริง และส่งมอบความสุขให้กันและกัน การป้องกันตัวเองจึงลดลง รวมถึงมาตการป้องกันการระบาดก็อาจหละหลวมมากขึ้น เหมือนเป็นการลดความเข้มงวด เพื่อเอื้อให้เกิดบรรยากาศที่มีความสุขมากขึ้นได้ แต่จุดนี้อาจเป็นจุดบอดที่ทำให้เกิดการระบาดคลัสเตอร์ใหม่ขึ้นได้ แม้จะเข้าใจได้ว่า เป็นเทศกาลที่เกิดขึ้นแค่ 1 ครั้งของทั้งปีเท่านั้น แต่ก็ต้องยอมรับว่า ถือเป็นความเสี่ยงที่มีสูงมากเช่นกัน

 

นางฐนิวรรณ กล่าวว่า ล่าสุดเห็นสถานการณ์ราคาวัตถุดิบปรับสูงขึ้นหลายรายการ โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ต่างๆ นั้น ขณะนี้ยังไม่เห็นผลกระทบต่อต้นทุนของร้านอาหารมากนัก แต่ปกติแล้วธุรกิจร้านอาหาร มักไม่สามารถปรับราคาขึ้นได้มากนัก เพราะเป็นธุรกิจที่มีคู่แข่งมาก ทำให้ต้องลดต้นทุนอื่นๆ ทดแทน อาทิ ลดปริมาณอาหาร ลดจำนวนการใส่วัตถุดดิบที่มีราคาสูง ถือเป็นการปรับขึ้นราคาอัตโนมัติในตัวอยู่แล้ว แต่ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมาจริงๆ เป็นเรื่องค่าใช้จ่ายเพื่อความปลอดภัยมากกว่า อาทิ เจลแอลกอฮอล์ ถุงแยกอุปกรณ์ทานอาหาร การทำความสะอาดที่ต้องเพิ่มจำนวนครั้งมากขึ้น โดยทั้งหมดจะเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมาอีก

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง