ไขข้อสงสัย แจ้งความ “คนหาย” ได้หรือไม่? แม้จะยังไม่ถึง 24 ชั่วโมง
จากกรณีที่ เมย์ จีระนันท์ อดีตนักร้องยุค 90 หายตัวออกจากบ้านไปตั้งแต่กลางดึก เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2567 ทำให้คุณแม่ของอดีตนักร้องต้องไปแจ้งความที่สน.โชคชัย ก่อนจะโพสต์ข้อความประกาศเพื่อให้ทุกคนช่วยกันตามหาเบาะแส จนกระทั่งเวลาประมาณ 22.30 น. ได้พบตัว เมย์ จีระนันท์ ในเขต สภ.เมืองเพชรบุรี เจ้าหน้าที่จึงแจ้งให้ครอบครัว เมย์ จีระนันท์ ทราบ และพาไปส่งถึงบ้านพักในกรุงเทพฯ เมื่อเวลาประมาณ 02.00 น. ของวันที่ 19 มิ.ย. 2567
ทั้งนี้ ทางสำนักงานกิจการยุติธรรม ได้ให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับ กฎหมายน่ารู้ 70 : คนหายทำอย่างไร และก่อนไปแจ้งความต้องเตรียมตัวอย่างไร
1. ตรวจสอบข้อมูลและยืนยันชัดเจนว่า คนหาย ไปจริง เช่น สอบถามคนใกล้ชิด-คนที่คิดว่าจะทราบความเคลื่อนไหวครั้งสุดท้ายก่อนขาดการติดต่อไป
2. ตรวจสอบทรัพย์สินและสิ่งของสำคัญของ คนหาย ว่านำติดตัวไปหรือไม่ เช่น เสื้อผ้า จดหมาย ของมีค่าอื่นๆ
3. ตั้งสติและลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนการหายตัวไป เช่น เขียนลำดับเหตุการณ์ – ขั้นตอน เพื่อเป็นข้อมูลให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ
4. เตรียมเอกสารเกี่ยวกับ คนหาย เช่น ภาพถ่ายล่าสุด สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน – ทะเบียนบ้าน – ใบสำคัญทางราชการอื่นๆ (ถ้ามี)
5. ประสาน-ขอข้อมูลติดต่อพยาน เพื่อเข้าแจ้งความขั้นตอนการ แจ้งความคนหาย ที่สถานีตำรวจ
- แจ้งความกับพนักงานสอบสวนและลงบันทึกประจำวัน
- ให้ปากคำ-หลักฐาน-ข้อมูลของ คนหาย
- พนักงานสอบสวนมอบบันทึกประจำวันให้แก่ผู้แจ้งความ
- ผู้แจ้งความ ขอชื่อ-เบอร์ติดต่อพนักงานสอบสวนที่รับแจ้งความ เพื่อประสานและสอบถามความคืบหน้า
ทั้งนี้ “คนหาย” เมื่อครบกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนด “คนหาย” จะกลายเป็น “คนสาบสูญ” (คนสาบสูญ = คนตายโดยผลของกฎหมาย)
อย่างไรก็ตาม แจ้งความคนหายได้แม้จะยังไม่ถึง 24 ชั่วโมง ตามข้อกฎหมายในระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดีเรื่องคนหายพลัดหลง ไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์ว่าต้องหายไปเกินกว่า 24 ชั่วโมง จึงจะสามารถแจ้งความได้ ในกรณีเร่งด่วน เช่น เด็ก คนชรา หรือผู้ป่วยที่มีอาการทางสมอง หายออกไปจากบ้าน สามารถแจ้งความเพื่อขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทันที
ภาพจาก AFP