รีเซต

โควิด-19 : ครบ 100 วันไวรัสโคโรนาระบาดในไทย องค์การอนามัยโลกวอนปกป้อง "นักรบชุดขาว"

โควิด-19 : ครบ 100 วันไวรัสโคโรนาระบาดในไทย องค์การอนามัยโลกวอนปกป้อง "นักรบชุดขาว"
บีบีซี ไทย
21 เมษายน 2563 ( 14:28 )
161
โควิด-19 : ครบ 100 วันไวรัสโคโรนาระบาดในไทย องค์การอนามัยโลกวอนปกป้อง "นักรบชุดขาว"

เจ้าหน้าที่องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทยสนทนากับพยาบาลวิชาชีพ 3 คนจากสถาบันบำราศนราดูร ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่รักษาผู้ป่วยโควิด-19 มาตั้งแต่ไทยพบผู้ติดเชื้อรายแรกเมื่อ 13 ม.ค. ซึ่งหากนับเป็นจุดเริ่มต้นการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในไทย วันนี้ (21 เม.ย.) ก็จะนับว่าครบรอบ 100 วันพอดี

 

"ในขณะที่หลายคนได้ #WFH (ทำงานจากบ้าน) และ #อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ บุคลากรทางการแพทย์กำลังปฏิบัติหน้าที่อย่างไม่หยุดหย่อนในการรับมือกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่" องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทยระบุ

 

 

พยาบาลทั้ง 3 คนเป็นบุคลากรทางการแพทย์กลุ่มแรกที่ให้การดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มแรกในไทย พวกเธอยอมรับกับเจ้าหน้าที่องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทยว่า "กลัว" เพราะ ณ เวลานั้นยังไม่มีใครรู้อะไรมากนักเกี่ยวกับโรคติดต่อชนิดนี้ แต่ด้วยหน้าที่ ทุกคนต้องเก็บความกลัวนั้นไว้และทำงานตามแผนรับมือโรคอุบัติใหม่ที่ผ่านการซักซ้อมมาอย่างดี

 

จิดาภา สุจันทร์ : พยาบาลวิชาชีพแผนกอุบัติเหตุและฉุกเฉิน

"วันนั้นเป็นวันที่ 8 ม.ค." จิดาภาเล่าถึงจุดเริ่มต้นของภารกิจโควิด-19

ขณะเข้าเวรอยู่ที่แผนกอุบัติเหตุและฉุกเฉิน สถาบันฯ ได้รับแจ้งว่าจากสนามบินสุวรรณภูมิว่ามีผู้ต้องสงสัยติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ เป็นนักท่องเที่ยวชาวจีน ขอให้ส่งทีมแพทย์และพยาบาลไปรับตัว จิดาภาเป็นหนึ่งในทีมที่เดินทางไปรับนักท่องเที่ยวคนดังกล่าว

 

แม้จะเป็นพยาบาลมาได้ 5 ปีแล้ว แต่เหตุการณ์นี้ไม่เหมือนเหตุการณ์อื่น ๆ เป็นครั้งแรกในชีวิตการทำงานที่เธอรู้สึกกลัวและตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ แม้จะมีชุดป้องกันการติดเชื้อหรือ PPE (Personal Protection Equipment) อันประกอบไปด้วย หน้ากาก N95 แว่นตา Face Shield หมวก ถุงมือ ถุงเท้าพลาสติกและรองเท้าบูทก็ตาม

 

หลังจากเคสแรก พยาบาลจิดาภาถูกจัดให้ร่วมทีมไปรับผู้ต้องสงสัยและผู้ป่วยโควิด-19 อีกหลายครั้ง ความกลัวยังอยู่ แต่สิ่งที่เธอทำได้ดีที่สุดเป็นเพียงการสังเกตอาการตัวเองอย่างใกล้ชิด และวัดอุณหภูมิร่างกายอย่างสม่ำเสมอตลอดระยะเวลาที่ต้องไปรับและให้การดูแลผู้ป่วย

 

"เราคิดเสมอว่าทุกคนที่มารับบริการที่สถาบันฯ อาจเป็นโรคโควิด-19 เราต้องป้องกันตัวเอง อย่างน้อยเราต้องใส่หน้ากาก N95 หรือหน้ากากทางการแพทย์"

แม้อุปกรณ์ PPE จะมีเพียงพอสำหรับบุคลากรที่สถาบันฯ แต่จิดาภาบอกว่าทุกคนต้องใช้อุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ "อย่างคุ้มค่า" วิธีหนึ่งคือพยาบาลที่สวมชุด PPE จะต้องปฏิบัติหน้าที่ติดต่อกัน 4 ชั่วโมง เพื่อที่จะไม่ต้องเปลี่ยนและทิ้งชุด PPE บ่อย ๆ

 

จิดาภาบอกว่าช่วง 100 วันที่ผ่านมานับตั้งแต่โรควิด 19 แพร่ระบาดในประเทศไทย เธอและเพื่อนบุคลากรทางการแพทย์มีภาระงานหนักขึ้นและทำงานจนแทบไม่ได้หยุดพักเลย ด้วยงานที่มากขึ้นและมาตรการล็อกดาวน์ ช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมาเธอจึงไม่ได้กลับไปเยี่ยมพ่อแม่ที่บ้านต่างจังหวัดเหมือนทุกปี

 

สุทธิพร เทรูยา : รองผู้อำนวยการสถาบันบำราศนราดูร ฝ่ายการพยาบาล

สถาบันบำราศนราดูรเป็นสถาบันหลักของประเทศไทยในการดูแลผู้ป่วยโรคติดต่ออันตราย โรคติดเชื้อ โรคอุบัติใหม่ โรคอุบัติซ้ำและโรคติดต่ออื่น ๆ จึงต้องรับภารกิจหนักเมื่อเกิดการระบาดของโรคโควิด-19

"เมื่อเราได้รับโทรศัพท์ว่ามีเคสจากประเทศจีนเดินทางมาถึงสนามบิน ให้สถาบันบำราศนราดูรไปรับผู้ป่วย ณ ตอนนั้นถามว่าน้อง ๆ พยาบาลที่ไปรับกลัวไหม ตอบว่าทุกคนมีความกลัวอยู่ในใจ แต่ในความกลัวเราก็มีสติ เราได้มีการวางแผนการออกไปรับผู้ป่วยที่สนามบิน เตรียมทีมและชุดอุปกรณ์ป้องกันร่างกายขั้นสูงสุด" รอง ผอ.สถาบันบำราศนราดูรกล่าว

 

 

"เรากำลังสู้กับเชื้อโรค อุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญที่สุดสำหรับผู้ที่ปฏิบัติงานด้านโรคติดต่อ โดยอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อเปรียบเสมือน 'เสื้อเกราะ'" เธอกล่าวเสริม

"เรานับเลยว่าในแต่ละวันเราใช้อะไรกี่ชิ้น ตอนแรกเราเตรียมสำหรับหนึ่งเดือน ต่อมาเมื่อเริ่มมีการระบาดมากขึ้น เราก็เตรียมสำหรับสามเดือน ตอนนี้ก็เตรียมล่วงหน้าต่อไปอีก"

สิ่งหนึ่งที่ทำให้สถาบันฯ รับมือกับภารกิจประวัติศาสตร์ครั้งนี้ได้ดีเป็นเพราะที่ผ่านมาบุคลากรได้ฝึกซ้อมการใส่อุปกรณ์ PPE กันมานับครั้งไม่ถ้วน เพื่อป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อเมื่อเกิดโรคระบาดใหญ่เช่นนี้ขึ้น

"ทุกคนในสถาบันฯ ฝึกซ้อมการใส่อุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อหรือที่เรียกว่าชุด PPE ทุกคนจะรู้ว่าหน้ากาก N95 ของตัวเองขนาดอะไร face shield ใส่ตำแหน่งไหนจะได้ไม่หลุดและยังซ้อมถอด ถอดอย่างไรไม่ให้สิ่งที่ปนเปื้อนกลับเข้ามาในร่างกาย"

 

อารมณ์ ดิษฐขัมภะ : หัวหน้าหน่วยงานตึกแยกโรค 7/2

อารมณ์เป็นพยาบาลมานานถึง 37 ปี ผ่านภารกิจยาก ๆ มาแล้วหลายอย่าง รวมทั้งการเป็นหัวหน้าตึก ICU และปัจจุบันได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าหน่วยงานตึกแยกโรค (7/2) แต่เธอยอมรับว่าเกือบ 40 ปีของการเป็นพยาบาลไม่เคยเจอสถานการณ์ที่คนไข้มารับการรักษาจำนวนมากขนาดนี้มาก่อน

 

"สถาบันฯ เคยดูแลคนไข้ที่เป็นโรคติดต่อ โรคติดเชื้อ เช่น โรคซาร์ส (SARS: Severe Acute Respiratory Syndrome) เมอร์ส (MERS: Middle East Respiratory Syndrome) และอีโบลา (Ebola virus disease) มาแล้ว แต่ตอนนั้นมีคนไข้แค่ไม่กี่คน ปัจจุบันห้องแยกโรคความดันลบของสถาบันฯ เต็มทุกห้อง เมื่อคนไข้เก่าย้ายออก ก็จะมีคนไข้ใหม่ย้ายเข้ามาแทน"

 

พยาบาลชำนาญการพิเศษผู้นี้กล่าวว่าโรคโควิด-19 น่ากลัวตรงที่แพร่ระบาดขยายวงกว้างอย่างรวดเร็ว แต่การเตรียมความพร้อมของสถาบันฯ การฝึกซ้อมการสวมใส่-ถอดชุด PPE รวมทั้งการซ้อมแผมรับผู้ป่วยโรคอุบัติใหม่และโรคอุบัติซ้ำอย่างสม่ำเสมอ ทำให้เกิดความมั่นใจในการปฏิบัติหน้าที่

 

"พอเห็นคนไข้ที่มาแต่ละคนก็สงสาร จึงอยากทำงานอย่างเต็มความสามารถในการดูแลคนไข้" เธอบอก

แม้จะป้องกันตัวเองอย่างดีเพียงใด แต่ก็ยังมีรายงานว่าบุคลากรทางการแพทย์ทั้งในและต่างประเทศติดเชื้อจากการปฏิบัติหน้าที่ อารมณ์จึงหวังว่าบุคลากรทางการแพทย์ทุกคนจะได้รับการคุ้มครองอย่างต่อเนื่อง ทั้งเรื่องการจัดหาอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้ออย่างเพียงพอ การพิจารณาเรื่องค่าเสี่ยงภัยเพิ่มเติมและการประกันชีวิต

 

นพ. แดเนียล เคอร์เทสซ์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่าประชาชนมีบทบาทสำคัญที่สุดในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

 

"เราสามารถป้องกันตนเองและคนรอบข้างได้โดยการปฏิบัติตามหลักสุขอนามัยขั้นพื้นฐานอย่างเคร่งครัดเช่นการล้างมือบ่อย ๆ หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า ปิดปากขณะไอหรือจามด้วยแขนเสื้อ รักษาระยะห่างจากคนรอบข้าง 1-2 เมตรและอยู่บ้านให้มากที่สุด เราทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการยุติการระบาด ปกป้องเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและระบบสาธารณสุขของประเทศไทย" เขาย้ำ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง