รีเซต

ซีพีเอฟ ส่งเสริมชุมชนร่วมอนุรักษ์สานต่อ "สวนป่าชุมชน"

ซีพีเอฟ ส่งเสริมชุมชนร่วมอนุรักษ์สานต่อ "สวนป่าชุมชน"
TNN ช่อง16
13 มกราคม 2566 ( 17:04 )
59

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ สนับสนุนชุมชนรอบสถานประกอบการมีส่วนร่วมเพิ่มพื้นที่สีเขียวและอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของชาติ เดินหน้าพัฒนาพื้นที่สวนป่าชุมชนสู่การเป็นศูนย์การเรียนรู้ และร่วมบริหารจัดการพื้นที่เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน ช่วยอนุรักษ์พันธุ์ไม้หายากในท้องถิ่น สร้างความหลากหลายทางชีวภาพ หนุนเศรษฐกิจชุมชนและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ในโอกาส วันที่ 14 มกราคมของทุกปี เป็นวันอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของชาติ แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือของทุกภาคส่วน ตระหนักถึงการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ร่วมกันปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว ไม่ตัดไม้ทำลายป่า

นายสมพร เจิมพงศ์ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ซีพีเอฟ ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เน้นสร้างความตระหนักสู่พนักงานให้มีส่วนร่วมในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติ และสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีรอบสถานประกอบการของซีพีเอฟทั่วประเทศ ในโครงการซีพีเอฟรักษ์นิเวศ ทั้งกิจกรรมปลูกต้นไม้ในสถานประกอบการ และขยายผลสู่การสร้างเครือข่ายชุมชนดำเนินโครงการสวนป่าเชิงนิเวศ ปัจจุบันมีโครงการสวนป่าชุมชนที่ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ “โครงการสวนป่าชุมชนหมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร” ต.เทพนคร อ.เมือง จ.กำแพงเพชร และ “โครงการสวนป่าเชิงนิเวศในชุมชนหมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า” ต.บ้านซ่อง อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา สร้างกลไกการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ด้วยการวางแผน พัฒนา การบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้และต้นไม้ และการใช้ประโยชน์จากป่าให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชน ทั้งในด้านเศรษฐกิจด้วยการสร้างรายได้แก่ชุมชน และด้านสังคม เกิดการพัฒนาอาชีพตามศักยภาพของชุมชน

"โครงการสวนป่าชุมชนหมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร" อ.เมือง จ.กำแพงเพชร เป็นตัวอย่างความสำเร็จในการสร้างป่านิเวศในฟาร์มสุกรแห่งแรกของประเทศ จากแนวคิดพลิกพื้นที่ว่างในฟาร์มเลี้ยงสุกรเป็นป่านิเวศในชุมชน ภายใต้นโยบายฟาร์มสีเขียว (Greenfarm) ของธุรกิจสุกร ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน จำนวนต้นไม้ที่ปลูก รวม 25,000 ต้น บนพื้นที่กว่า 30 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นไม้ยืนต้น อาทิ ตะเคียน ยางนา พะยูง พะยอม เพื่อสร้างเป็นป่านิเวศที่สมบูรณ์ ควบคู่กับการส่งเสริมการพัฒนาและอนุรักษ์พันธุ์ไม้หายากในท้องถิ่นกว่า 140 ชนิด ทำให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพทั้งพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ และนำน้ำที่ผ่านการบำบัดจากระบบก๊าซชีวภาพ หรือน้ำปุ๋ย และปุ๋ยมูลสุกร มาใช้ประโยชน์ร่วมกับการปลูกต้นไม้ พร้อมนำคิวอาร์ โค้ด (QR Code) มาใช้เรียนรู้ห้องเรียนธรรมชาติด้วยตัวเอง และพัฒนาโปรแกรมการศึกษาดูงาน (Integrated Learning Center) ที่เหมาะสมกับกลุ่มที่เข้าเยี่ยมชม นอกจากนี้ โครงการดังกล่าว ยังสร้างคุณค่าทางสังคม (Social Impact) โดยในปี 2565 ได้ยื่นขอรับรองการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก.


“การพลิกผืนดินในฟาร์มสุกรให้เป็นพื้นที่ป่านิเวศ พัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้สวนป่ารักษ์นิเวศ โครงการหมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร และต่อยอดสู่เกษตรกรในโครงการฯ รวมทั้งสร้างภาคีเครือข่ายกับสถานศึกษาในจังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งตลอด 9 ปี ได้เปิดให้ชุมชน นักเรียน นักศึกษา และประชาชนที่สนใจ  เข้ามาดูงานกว่า 4,500 คน และในปี 2566 ตั้งเป้าพัฒนาพื้นที่ป่าระยะที่สองอีก 18 ไร่ ในรูปแบบป่าพึ่งพาป่า เป็นป่าเศรษฐกิจที่สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชน และดึงการมีส่วนร่วมของเยาวชนในพื้นที่ ปลูกฝังความตระหนักในการร่วมปลูกต้นไม้ เรียนรู้การเป็นมัคคุเทศก์ที่สามารถเป็นผู้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสวนป่าให้กับผู้ที่สนใจเข้าเยี่ยมชมโครงการฯ” นายสมพร กล่าว


จากความสำเร็จของโครงการฯดังกล่าว ในปี 2559 ซีพีเอฟต่อยอดส่งเสริมป่าชุมชนแห่งที่ 2 ใน “โครงการปลูกป่าเชิงนิเวศในชุมชน หมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า” อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา บนพื้นที่ 14 ไร่ เพื่อเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ต้นแบบป่านิเวศ ที่รวบรวมพันธุ์ไม้มากกว่า 50,000 ต้น ทั้งไม้ยืนต้น ไม้เศรษฐกิจ ไม้หายาก และพืชสมุนไพรกว่า 109 ชนิด เพื่อให้การปลูกป่ามีลักษณะใกล้เคียงกับธรรมชาติ โดยประยุกต์หลักการปลูกป่านิเวศตามทฤษฎีของ ‘ศ.ดร.อาคิระ มิยาวากิ’ ด้วยการปลูกพันธุ์ไม้พื้นเมืองที่เหมาะกับสภาวะแวดล้อมในพื้นที่ ใช้เทคนิคการปลูกต้นไม้แบบถี่ 3 ต้น ต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร แบบสุ่มคละชนิดพันธุ์ไม้ให้เหมือนป่าธรรมชาติ ซึ่งช่วยร่นระยะเวลาการเจริญเติบโตของป่าธรรมชาติ ปัจจุบันผืนป่าแห่งนี้อุดมสมบูรณ์ เกิดเป็นรูปแบบ “ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง” มีระบบนิเวศที่ดี มีความหลากหลายทางชีวภาพ มีพืชสมุนไพร เห็ด ฯลฯ ที่สามารถเข้าไปเก็บมาปรุงอาหาร กลายเป็นคลังอาหารของชาวชุมชน และเป็นศูนย์เรียนรู้ต้นแบบป่านิเวศยุค 4.0 สามารถศึกษาผ่านระบบ QR Code โดยตลอด 7 ปีที่ผ่านมา มีผู้ที่สนใจเข้าศึกษาดูงานรวม 1,000 คน

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง