รีเซต

ทฤษฎีใหม่ชี้ ไอซ์แลนด์อาจเป็นยอดเขาของทวีปที่สาบสูญ จมทะเลไปเมื่อหลายล้านปีก่อน

ทฤษฎีใหม่ชี้ ไอซ์แลนด์อาจเป็นยอดเขาของทวีปที่สาบสูญ จมทะเลไปเมื่อหลายล้านปีก่อน
ข่าวสด
31 กรกฎาคม 2564 ( 17:51 )
74
ทฤษฎีใหม่ชี้ ไอซ์แลนด์อาจเป็นยอดเขาของทวีปที่สาบสูญ จมทะเลไปเมื่อหลายล้านปีก่อน

 

ประเทศไอซ์แลนด์อาจเป็นยอดบนสุดของทวีป "ไอซ์แลนเดีย" (Icelandia) ที่ยังคงโผล่พ้นน้ำ หลังผืนแผ่นดินที่กว้างใหญ่ 600,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเชื่อมต่อระหว่างเกาะกรีนแลนด์และภูมิภาคสแกนดิเนเวีย ได้จมลงใต้มหาสมุทรแอตแลนติกตอนเหนือไปเมื่อ 10 ล้านปีก่อน

 

 

ทีมนักธรณีฟิสิกส์นานาชาติ นำโดยศาสตราจารย์กิตติคุณ จิลเลียน โฟลเจอร์ จากมหาวิทยาลัยเดอแรมของสหราชอาณาจักร เผยแพร่ทฤษฎีใหม่ดังกล่าวในบทหนึ่งของหนังสือ "ตามรอยวอร์เรน บี. แฮมิลตัน: แนวคิดใหม่ทางวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ" (In the Footsteps of Warren B. Hamilton: New Ideas in Earth Science)

 

 

G

ทีมวิจัยที่นำโดย ศ. โฟลเจอร์ เสนอว่ามหาสมุทรแอตแลนติกตอนเหนือที่เคยเป็นผืนแผ่นดินแห้งสนิท และเป็นส่วนหนึ่งของมหาทวีปแพนเจีย (Pangaea)ไม่ได้แตกตัวแยกออกจากกันอย่างสมบูรณ์ในทันทีเมื่อ 200 ล้านปีก่อน ทำให้น้ำทะเลไม่เข้าท่วมผืนแผ่นดินที่เชื่อมเกาะกรีนแลนด์และภูมิภาคสแกนดิเนเวียในแนวตะวันตก-ตะวันออก เป็นเวลานานหลายล้านปี ทำให้เกิดทวีปไอซ์แลนเดียขึ้น

 

 

"อย่างไรก็ตามเมื่อ 10 ล้านปีก่อน พื้นที่ทางตะวันตกและตะวันออกของทวีปไอซ์แลนเดียเริ่มจมลงใต้ทะเล แต่ก็ยังมีพื้นที่สูงตรงกลางทวีปโผล่พ้นน้ำให้เราได้เห็นกัน ซึ่งก็คือเกาะไอซ์แลนด์ในทุกวันนี้" ศ. โฟลเจอร์กล่าว "หากทำให้ระดับน้ำทะเลลดลงได้อีกสัก 600 เมตร เราก็จะเห็นสภาพภูมิประเทศของทวีปที่หายสาบสูญไปแล้วชัดเจนขึ้น"

 

 

ศ. โฟลเจอร์ยังชี้ว่า แม้แนวคิดนี้จะขัดแย้งกับทฤษฎีดั้งเดิมที่เชื่อว่าไอซ์แลนด์ถือกำเนิดจากภูเขาไฟใต้น้ำเมื่อ 60 ล้านปีก่อน แต่ทฤษฎีใหม่ก็สามารถจะอธิบายไขปริศนาบางอย่างได้ เช่นเรื่องแผ่นเปลือกโลกใต้เกาะ ซึ่งมีความหนาผิดปกติถึง 40 กิโลเมตร แทนที่จะเป็นเพียง 8 กิโลเมตร ตามแบบฉบับของเกาะภูเขาไฟทั่วไป

 

 

"นั่นเป็นเพราะว่า เกาะไอซ์แลนด์รวมทั้งแผ่นดินไอซ์แลนเดียเป็นส่วนหนึ่งของมหาทวีปเก่าแก่ ไม่ใช่เกาะภูเขาไฟที่เกิดขึ้นใหม่แต่อย่างใด" ศ. โฟลเจอร์อธิบาย

GILLIAN FOULGER/GOOGLE MAPS
แผนที่แสดงขอบเขตของทวีปไอซ์แลนเดีย (สีชมพูเข้ม) รวมทั้งส่วนขยายหรือ "เกรเทอร์ ไอซ์แลนเดีย" (สีชมพูอ่อน)

 

 

 

ทีมผู้วิจัยประมาณการว่า ทวีปไอซ์แลนเดียมีพื้นที่กว้างขวางถึง 600,000 ตารางกิโลเมตร หรือใหญ่เกือบเท่ากับรัฐเทกซัสของสหรัฐฯ ทั้งยังเชื่อมต่อกับผืนทวีปที่จมน้ำอีกแห่งหนึ่งทางตอนเหนือของหมู่เกาะอังกฤษ ซึ่งทีมผู้วิจัยเรียกแผ่นดินส่วนขยายของทวีปไอซ์แลนเดียนี้ว่า "เกรเทอร์ ไอซ์แลนเดีย" (Greater Icelandia)

 

 

ศ. ฟิลิป สไตน์เบิร์ก ผู้อำนวยการศูนย์เพื่อการวิจัยแนวพรมแดนแห่งมหาวิทยาลัยเดอแรม ชี้ว่าการศึกษาเรื่องทวีปไอซ์แลนเดียมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เนื่องจากการพิสูจน์ได้ว่าผืนแผ่นดินใต้น้ำเป็นไหล่ทวีปที่ยื่นขยายออกมาจากเขตแดนของชาติใด ทรัพยากรใต้สมุทรในบริเวณดังกล่าวก็จะตกเป็นของประเทศนั้น

 

 

ด้านนักธรณีฟิสิกส์หลายรายแสดงความไม่เห็นด้วยกับทฤษฎีใหม่นี้ โดยระบุว่ายังมีหลักฐานหลายชิ้นที่คัดค้านการมีอยู่ของทวีปไอซ์แลนเดีย เช่นบริเวณก้นมหาสมุทรแอตแลนติกตอนเหนือนั้น มีวัสดุที่จะก่อตัวเป็นแผ่นเปลือกโลกที่รองรับผืนทวีปอยู่ไม่มากพอ รวมทั้งร่องรอยการสลับขั้วแม่เหล็กโลกที่พื้นมหาสมุทรก็ยังชี้ว่า เกาะไอซ์แลนด์ถือกำเนิดจากภูเขาไฟใต้ทะเลอย่างแน่นอน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง