รีเซต

คอลัมน์ แกะรอยต่างแดน : เหมืองถ่านหินแห่งสุดท้าย ในกรุงปักกิ่ง

คอลัมน์ แกะรอยต่างแดน : เหมืองถ่านหินแห่งสุดท้าย ในกรุงปักกิ่ง
มติชน
25 มีนาคม 2563 ( 01:16 )
95
คอลัมน์ แกะรอยต่างแดน : เหมืองถ่านหินแห่งสุดท้าย ในกรุงปักกิ่ง

หลังจากเหมืองถ่านหินเคยรุ่งเรืองอย่างมากในประเทศจีน อันเนื่องมาจากเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญสำหรับประเทศอันยิ่งใหญ่อย่างจีน

มาวันนี้ ผลกระทบจากเหมืองถ่านหินได้ทำให้จีนต้องเผชิญกับภาวะมลพิษทางอากาศอย่างหนัก จนต้องทยอยสั่งปิดเหมืองถ่านหินเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่อง “หมอกควันพิษ” ที่จีนต้องเจอ

การปิดเหมืองช่วยทำให้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ และหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนแทน

โดยเฉพาะในกรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของจีน เคยมีเหมืองถ่านหินอยู่มากกว่า 270 แห่ง และได้ทยอยปิดตัวลงไปตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมา

จนตอนนี้เหลือเหมืองถ่านหินอยู่ในกรุงปักกิ่งเพียงแห่งเดียวคือ เหมืองถ่านหิน “ต้าไถ” ในเขตเหมินโถวโกว ที่มีกำหนดจะปิดตัวลงภายในปีนี้แล้ว

หม่า ซือฮุ่ย คนงานเหมืองที่มาจากมณฑลเสฉวน ที่มาทำงานอยู่ที่เหมืองต้าไถตั้งแต่ปี ค.ศ.2016 บอกว่า “ถ้าเหมืองถ่านหินต้าไถปิดไป ก็จะไม่เหลือเหมืองถ่านหินในปักกิ่งอีกแล้ว”

ตอนนี้คนงานที่ยังเป็นวัยรุ่นก็พากันรับเงินชดเชยแล้วย้ายไปเมืองอื่นเพื่อหางานทำ แต่ก็ยังมีคนงานอีกหลายร้อยคนที่เหมือนกับนายหม่า ในวัย 50 ปี ที่มีความหวังเพียงน้อยนิดสำหรับการหางานใหม่ เนื่องจากอายุที่มากแล้ว และยังไม่มีสิทธิในการครอบครองที่ดินเพื่อการเกษตรในหมู่บ้านบ้านเกิดของตัวเอง

ตอนทำงานที่เหมือง นายหม่าได้เงินเดือนราว 10,000 หยวน หรือราวๆ 46,000 บาท

แต่ตอนนี้ครอบครัวของนายหม่าต้องประทังชีวิตด้วยเงินเพียง 1,540 หยวนต่อเดือนเท่านั้น โดยเป็นเงินที่ทางบริษัทเหมืองให้มา

“ถ้าคนที่อายุเกิน 45 ไปแล้ว ไม่มีใครรับเข้าทำงานหรอก” นายหม่าบอก และว่า ครอบครัวของตนนั้นไม่มีที่นาทำกินแล้ว ดังนั้น คงไม่สามารถกลับไปอยู่ที่บ้านเกิดได้ ถึงกลับไปก็ไม่มีประโยชน์ ไม่สามารถอยู่รอดได้

ความหวังตอนนี้คือ อยากให้บริษัทเหมืองช่วยหางานที่เหมืองอื่นๆ ให้ทำ หรือจะให้เป็นคนทำความสะอาดก็ได้ จะที่หนิงเซี่ย หรือซานตงก็ได้

นายจาง เป็นอีกหนึ่งชีวิตที่ทำงานให้กับเหมืองต้าไถมานานถึง 30 ปี และเมื่อต้นปีก่อนเขาเพิ่งป่วยเป็นโรคฝุ่นจับปอด ที่เป็นโรคที่เกิดจากการทำงานในเหมืองถ่านหิน

แม้ว่ารัฐบาลจะสัญญาว่าจะมอบเงิน 380,000 หยวน เป็นเงินชดเชยสำหรับคนงานเหมืองที่ล้มป่วย แต่นายจางก็ไม่เคยได้เงินเหล่านั้น

เหมือนกับคนงานเหมืองอีกหลายคนที่ถูกบริษัทเหมืองยักยอกเงินชดเชยที่ควรได้รับจากการล้มป่วยไป

แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ แม้จะยื่นเรื่องฟ้องร้องกันก็ตาม

ที่สุดแล้ว หลังจากเหมืองสุดท้ายในปักกิ่งปิดไป อีกหลายร้อยชีวิต คงมีชีวิตอยู่อย่างยากลำบากอย่างแน่นอน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง