รีเซต

'หมอ' แนะก่อนสงกรานต์ งดเที่ยว-ไปที่แออัด 10 วัน บูสต์วัคซีนโควิด

'หมอ' แนะก่อนสงกรานต์ งดเที่ยว-ไปที่แออัด 10 วัน บูสต์วัคซีนโควิด
มติชน
28 กุมภาพันธ์ 2565 ( 13:29 )
75

เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเขตสุขภาพที่ 5 ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบัน ว่า เชื่อว่าประชาชนยังกลัวการติดเชื้อโควิด-19 ไม่มีใครอยากติดเชื้อ แม้ว่าฝ่ายสาธารณสุขยืนยันด้วยข้อมูลว่า เชื้อโอมิครอนมีความรุนแรงน้อยกว่าเชื้อเดลต้ามาก โดยเมื่อเปรียบเทียบผู้ติดเชื้อเมื่อเดือนสิงหาคม 2564 กับ เดือนกุมภาพันธ์ 2565 ที่ผู้ติดเชื้อค่อนข้างมาก แต่ตัวเลขผู้ที่มีอาการรุนแรงและเสียชีวิตในตอนนี้น้อยกว่ามาก อย่างไรก็ตาม ชัดเจนว่า โรคมีความรุนแรงต่ำ แต่ก็ไม่มีใครอยากติดเชื้อ

 

“ดังนั้น หากถามว่าการที่ภาครัฐโฟกัสตัวเลขผู้ป่วยมีอาการรุนแรง ก็เป็นเรื่องที่ถูกต้องตามหลักการ ขณะเดียวกัน ประชาชนจะต้องดูแล ป้องกันตนเองไม่ให้ติดเชื้อตามหลักการที่เราเรียนรู้มา การสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ไม่ไปในที่แออัด เลี่ยงเข้าพื้นที่มีคนไม่สวมหน้ากากอนามัยจำนวนมาก เช่น ร้านอาหาร ผับบาร์ คาราโอเกะ เป็นต้น” นพ.ธนรักษ์ กล่าวและว่า

 

ตามที่ได้เน้นย้ำว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือ การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยง 608 คือผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีโรคเรื้อรั้ง 7 โรค ซึ่งมีข้อมูลยืนยันแล้วว่า วัคซีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันอาการรุนแรงได้ดีมากกว่า ร้อยละ 90 ทั้งนี้ สถิติผู้ติดเชื้ออยู่ในกลุ่มวัยทำงานสูงที่สุด แต่กลุ่มผู้เสียชีวิตยังอยู่ในกลุ่ม 608 พูดง่ายๆ คือ กลุ่มนี้ป่วยน้อยกว่าแต่เสียชีวิตมากกว่า แสดงว่า โรคยังรุนแรงและโฟกัสในกลุ่มนี้ ฉะนั้น จะต้องเร่งวัคซีนกระตุ้นตามคำแนะนำของภาครัฐ ส่วนความกังวลเรื่องผลข้างเคียงวัคซีน ก็พบว่าความเสี่ยงต่อความรุนแรงโรคมีมากกว่าความเสี่ยงจากวัคซีน ดังนั้น ขอให้ลูกหลานในบ้านพาผู้ใหญ่ไปรับวัคซีน โดยให้ความสำคัญในการป้องกันคนกลุ่มนี้มากๆ การอยู่ในบ้านร่วมกัน ยังคงต้องสวมหน้ากากอนามัย เพราะคนส่วนใหญ่ออกมารับความเสี่ยงนอกบ้านกลับเข้าไปในบ้าน เพื่อปกป้องคนกลุ่มนี้ให้มากที่สุด

 

ผู้สื่อข่าวถามถึงการเตรียมพร้อมก่อนเทศกาลสงกรานต์ ที่ลูกหลานจะกลับบ้านไปหาผู้ใหญ่ในบ้าน นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ที่สำคัญคือ การฉีดวัคซีนกระตุ้นทั้งคนในบ้านและกลุ่มเสี่ยง 608 ในระยะ 3-6 เดือนตามกำหนด เพื่อลดความเสี่ยงติดเชื้อได้และความรุนแรงของโรคได้มากกว่าร้อยละ 90 สำหรับการเตรียมเที่ยวสงกรานต์ให้ปลอดภัยในปีนี้ หากเราต้องกลับไปเยี่ยมคนที่รัก ก่อนเดินทาง 7-10 วัน เราควรลดความเสี่ยงทุกอย่างของเราให้ต่ำที่สุด

 

“โดยที่สำคัญ ต้องทำทุกคน ไม่ใช่ว่าอยู่รวมกัน 10 คน แต่ทำเพียง 1 คน ก็ยังมีความเสี่ยงอยู่เช่นเดิม อย่างที่เน้นย้ำว่า ไม่มีใครปลอดภัยหากทุกคนยังไม่ปลอดภัย ลดการไปเที่ยว กินดื่มก่อนสงกรานต์ ที่ต้องไปเจอผู้ใหญ่ที่รัก 7-10 วัน ซึ่งไม่ได้แปลว่า เราเสี่ยง แต่ลดโอกาสที่จะเอาเชื้อกลับบ้านได้มากที่สุด เช่น เลี่ยงการเที่ยวผับบาร์ คาราโอเกะ ปาร์ตี้ เลี่ยงไปในที่มีคนเยอะๆ พร้อมกับฉีดวัคซีนให้ครบ เพื่อให้ชัวร์ว่า เราเสี่ยงต่ำที่สุด รวมกับขณะที่ไปรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา เว้นระยะห่างให้มากๆเท่าที่จะทำได้” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง