รู้จัก “โนวีชอก” สารพิษทำลายระบบประสาทออกฤทธิ์เร็ว 30 วินาที
วันนี้( 3 ก.ย.63) หลังจากเยอรมนีออกมายืนยันว่า นายอเล็กซีย์ นาวัลนี แกนนำฝ่ายค้านรัสเซีย ถูกวางยาพิษด้วยสารพิษทำลายระบบประสาท “โนวีชอก” เช่นเดียวกับอดีตสายลับรัสเซียในอังกฤษเมื่อปี 2561 วันนี้ทาง TNN 24 จะพาไปรู้จักกับความร้ายกาจของสารพิษชนิดนี้กัน
ชื่อของสารพิษทำลายระบบประสาท “โนวีชอก” ในภาษารัสเซีย หมายความ “ผู้มาใหม่” หรือ “เด็กใหม่” ซึ่งปกติแล้วจะถูกนำไปใช้เป็นอาวุธเคมีเป็นสารพิษกลุ่มที่พัฒนาโดยสหภาพโซเวียตในช่วงทศวรรษที่ 1970-1980 เพื่อใช้งานเป็นอาวุธเคมี “รุ่นที่ 4” โดยสารพิษ “โนวีชอก” มีผลในลักษณะคล้ายกันกับสารพิษทำลายระบบประสาทอื่น ๆ คือมีผลกระทบทางสมอง เช่น ชักกระตุก หมดสติ และมีอาการโคม่า
ตา: รูม่านตาหดเล็กลง
ปอด: หายใจเป็นเสียงหวีดแหลม หายใจไม่ออก มีการหลั่งของเหลวในปอดมาก
หัวใจ: ความดันโลหิตสูงและหัวใจเต้นเร็วในตอนแรก แต่ภายหลังความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจจะลดต่ำลง
ระบบทางเดินอาหาร: คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง
ผิวหนัง: เหงื่อออกมาก
การเสียชีวิต: ผู้ได้รับสารพิษจะเสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจหรือภาวะหัวใจหยุดเต้น (Cardiac arrest) และอวัยวะสำคัญของร่างการหยุดทำงาน
แม้สารพิษทำลายประสาทโนวีชอกส่วนใหญ่จะเป็นของเหลว แต่ก็มีบางชนิดที่อยู่ในรูปของแข็งและสามารถแปรรูปเป็นผงละเอียดเพื่อใช้โปรยหรือแพร่กระจายในอากาศได้ บางประเภทอยู่ในรูปของสารตั้งต้น 2 ชนิดที่มีพิษไม่ร้ายแรงนัก แต่เมื่อผสมกันเข้าก็จะทำปฏิกิริยากลายเป็นสารทำลายประสาทที่มีอันตรายถึงชีวิตในทันที ซึ่งวิธีการนี้จะทำให้คนร้ายพกพาและซุกซ่อนอาวุธเคมีได้โดยสะดวก โดยโนวีชอกถูกออกแบบมาเพื่อเป็นสารพิษมากกว่าอาวุธเคมีอื่นๆบางชนิดออกฤทธิ์อย่างรวดเร็ว เพียง 30 วินาทีถึง 2 นาทีเท่านั้น
ในปี 2561 นายเซอร์เกย์ สคริปพัล อดีตสายลับรัสเซีย และยูเรีย ลูกสาวของเขาที่อาศัยอยู่ในอังกฤษ ล้มป่วยอาการโคม่าในเมืองซอลสบรี หลังจากผู้ต้องสงสัยชาวรัสเซียถูกกล่าวหาว่าป้ายสารพิษทำลายระบบประสาทชนิดนี้ไว้ที่ประตูบ้านของนายสคริปพัล จนทำให้เขาและลูกสาวได้รับสารพิษ
สารพิษตัวหนึ่งในกลุ่มนี้คือโนวีชอก เอ-230 (Novichok-A-230) มีความเป็นพิษรุนแรงยิ่งกว่าก๊าซพิษซารินและสารพิษทำลายประสาทวีเอ็กซ์ (VX nerve agent) ที่ใช้ลอบสังหารพี่ชายต่างมารดาของนายคิม จอง อึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือราว 5-8 เท่า ทั้งยังเป็นสารเคมีที่ซับซ้อนยากต่อการพิสูจน์บ่งชี้หลังการใช้งานว่าเป็นสารชนิดใดกันแน่อีกด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNTHAILAND.comfacebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE