รีเซต

วันที่ 14 พ.ย. #วันเบาหวานโลก

วันที่ 14 พ.ย. #วันเบาหวานโลก
TNN Health
14 พฤศจิกายน 2564 ( 08:27 )
70
วันที่ 14 พ.ย. #วันเบาหวานโลก
ทุกวันที่ 14 พ.ย. ของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็น #วันเบาหวานโลก ซึ่งโรคเบาหวานถูกจัดให้เป็นหนึ่งในโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ที่คุกคามประชากรทั่วโลก 
 
 
สำหรับประเทศไทย ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค รายงานไว้เมื่อพ.ศ.2563 ว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศที่มีอัตราความชุกของโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับประเทศในแถบแอฟริกา แปซิฟิกตะวันตก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยที่น่าเป็นห่วงคือคนไทยเสียชีวิตจากโรคเบาหวานมากถึง 200 รายต่อวัน นอกจากนี้ยังพบว่า 1 ใน 11 คนไทยที่อายุ 15 ปีขึ้นไป ป่วยเป็นโรคเบาหวานประมาณ 5 ล้านคน
 
 
#โรคเบาหวาน เป็นโรคเรื้อรังที่เกิดจากความผิดปกติของร่างกายที่มีการผลิตฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอหรือร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเป็นระยะเวลานาน ส่งผลให้อวัยวะเสื่อมสมรรถภาพ และทำงานล้มเหลว เป็นเหตุให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ตา ไต หลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมอง รวมถึงเป็นแผลง่ายหายยาก ชาปลายมือปลายเท้า
 
 
คำแนะนำในการป้องกันโรคเบาหวาน มีดังนี้ 
1.รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ เลี่ยงรสหวาน มัน เค็ม
2.ไม่สูบบุหรี่และไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
3.มีกิจกรรมทางกายและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
4.ผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ควรตรวจระดับน้ำตาลในเลือดอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
5.ควบคุมน้ำหนักตัวให้เหมาะสม
6.หากมีอาการของโรคเบาหวาน เช่น ปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำ หิวบ่อย กินจุ น้ำหนักลด เป็นแผลง่ายหายยาก หรือชาปลายมือปลายเท้า ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาต่อไป
 
 
นอกจากนี้ ถ้ามีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน ควรดูแลใส่ใจเรื่องการควบคุมอาหาร การรับประทานยา การเข้ารับการตรวจตามนัด และสังเกตอาการป่วยที่อาจผิดปกติ
 รู้จัก ฉลาก หวาน มัน เค็ม (GDA) ตัวช่วยลดความเสี่ยงเบาหวาน 
 
 
สำหรับการบริโภคในแต่ละวัน ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รณรงค์ให้ประชาชนลดการบริโภคอาหารหวาน ส่งเสริมให้อ่านและใช้ประโยชน์จากข้อมูลบนฉลาก หวาน มัน เค็ม (GDA) เพื่อช่วยควบคุมพลังงาน ปริมาณน้ำตาล ไขมัน โซเดียม ที่จะได้รับจากการบริโภค
 
 
ทั้งนี้ บนฉลาก GDA ให้ข้อมูลที่สำคัญ ได้แก่ 
(1) จำนวนครั้งที่แนะนำให้บริโภค (ควรแบ่งรับประทาน)
(2) ปริมาณของพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม ที่จะได้รับเมื่อบริโภคอาหาร ทั้งบรรจุภัณฑ์
(3) ปริมาณของพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียมที่ได้รับ คิดเป็นร้อยละเท่าใดของปริมาณสูงสุดที่แนะนำให้บริโภคได้ต่อวัน การอ่านฉลาก หวาน มัน เค็ม ช่วยให้เราสามารถควบคุม การบริโภค หรือ เลี่ยงอาหาร หวาน มัน เค็ม ได้
 
 
โดย นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย.ให้คำแนะนำผู้บริโภคว่า อยากให้อ่านฉลาก หวาน มัน เค็ม โดยพิจารณาปริมาณน้ำตาลที่จะได้รับจากการรับประทานผลิตภัณฑ์อาหาร และควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค หันมารับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพิ่มการรับประทาน ผัก ผลไม้ที่หวานน้อย เพื่อให้ได้รับสารอาหารครบถ้วนที่ร่างกายต้องการ รวมทั้งออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อห่างไกลจากโรคเบาหวานต่อไป
 
 
อ้างอิง
- สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค : https://ddc.moph.go.th/brc/news.php?news=15591&deptcode=brc
- สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
 

ติดตาม TNN Health ได้ที่นี่ FB https://www.facebook.com/TNNHealth

ข่าวที่เกี่ยวข้อง