รีเซต

ไขข้อข้องใจ แจกเงิน 3,000 ผ่านโครงการ "คนละครึ่ง" ทำไมไม่จ่ายเงินสด?

ไขข้อข้องใจ แจกเงิน 3,000 ผ่านโครงการ "คนละครึ่ง" ทำไมไม่จ่ายเงินสด?
TNN ช่อง16
19 กันยายน 2563 ( 19:58 )
2.8K
ไขข้อข้องใจ แจกเงิน 3,000 ผ่านโครงการ "คนละครึ่ง" ทำไมไม่จ่ายเงินสด?

วันนี้ (19 ก.ย.63) โครงการ "คนละครึ่ง" แจกเงิน 3,000 บาท โดยจะให้วันละ 100 เป็นเวลา 3 เดือนเริ่มตุลาคม-ธันวาคม เพื่อช่วยเหลือประชาชนในการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เริ่มลงทะเบียนรับสิทธิ์ วันที่ 16 ต.ค. จำกัดเพียง 10 ล้านคน  ซึ่งประชาชนหลายคนตั้งคำถามว่า ทำไมไม่แจกเป็นเงินสด หรือ โอนเข้าบัญชี แทนการใช้จ่ายผ่านแอปฯ "เป๋าตัง" เพราะบางคนไม่มีโทรศัพท์ บางคนไม่มีอินเตอร์เน็ตด้วย รวมทั้ง การใช้จ่ายผ่านแอปฯ เป๋าตัง ต้องเติมเงินเข้าระบบด้วย ซึ่งมีขั้นตอนที่ยุ่งยากพอสมควร 

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ให้สัมภาษณ์กับ TNN ช่อง 16 โดยระบุว่า มาตรการดังกล่าวต้องการให้เกิดการเพิ่มกำลังซื้อในส่วนของเครื่องอุปโภค บริโภค ร้านอาหาร ร้านขนาดเล็กในชุมชนต่างๆ ร้านโชว์ห่วย จะไม่มีร้านสะดวกซื้อ เนื่องจากรัฐบาลต้องการให้เม็ดเงินกระจายสู่ร้านค้าผู้ประกอบการขนาดเล็ก

ทั้งนี้ เงื่อนไข "คนละครึ่ง" คือ ผู้ได้รับสิทธิจะต้องจ่าย 50% และรัฐจะช่วยอีก 50% ผ่านแอปพลิเคชั่น "เป๋าตัง" แต่มีข้อแม้ว่าในแต่ละวันจะใช้ได้ไม่เกิน 100 บาทต่อคนต่อวัน ทยอยใช้ทุกวันจนครบ 3,000 บาทต่อคน ตามระยะเวลาโครงการที่จะเริ่มให้ใช้สิทธิตั้งแต่ 23 ต.ค. ถึง 31 ธ.ค.63

หมายความว่า หากผู้ได้รับสิทธิใช้จ่าย 200 บาทในวันนี้ จะจ่ายเพียง 100 บาท เพราะรัฐจะสนับสนุนอีก 100 บาท โดยจะสมทบให้กับร้านค้าในวันถัดไป แต่หากซื้อสินค้าเกินเป็น 300 บาท ผู้มีสิทธิจะต้องจ่าย 200 บาท เพราะรัฐกำหนดเงินช่วยเหลือสมทบเพียง 100 บาท


ส่วนการที่บางคนไม่มีโทรศัพท์ หรือ ไม่สามารถโหลดแอปฯ มาได้นั้น ยอมรับว่าเป็นข้อจำกัด แต่ถ้าอยากให้โครงการนี้ตอบโจทย์ว่าเม็ดเงินลงไปสู่ผู้ประกอบการขนาดเล็กจริงๆ จึงต้องขอใช้ระบบ "เป๋าตัง" และ "ถุงเงิน" เพราะไม่เช่นนั้น จะไม่สามารถกำหนดได้เลย สมมติให้เป็นเงินสด รัฐบาลจะไม่สามารถกำหนดได้เลยว่า การใช้จ่ายจะลงไปที่กลุ่มคนกลุ่มไหน และร้านค้าประเภทไหน ซึ่งการดำเนินการผ่านแอปพลิเคชั่นสามารถตรวจสอบได้ และ กำหนดได้ว่าผู้รับเป็นร้านค้าขนาดเล็กเท่านั้น 

นายลวรณ กล่าวต่อว่า กรณีที่มีคนสนใจร่วมโครงการมากกว่า 10 ล้านคน จะขยายสิทธิ์หรือไม่นั้น เชื่อว่ารัฐบาลจะพร้อมพิจารณาถ้าโครงการนี้จะได้รับความนิยมจากประชาชน ถือเป็นสัญญาณที่ดีในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศ 

อย่างไรก็ตาม หากมีประชาชนเข้าร่วมโครงการทั้ง  2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจน และ 2.ประชาชนทั่วไปสัญชาติไทย ลงทะเบียนที่เว็บไซต์ www.คนละครึ่ง.com จำนวนทั้งสิ้น 24 ล้านคน เม็ดเงินในฝั่งที่รัฐบาลจ่ายสมทบจำนวน 51,000 ล้านบาท ในส่วนของโครงการคนละครึ่ง ประชาชนจะเป็นผู้จ่ายอีก 30,000 ล้าน จะทำให้มีเม็ดเงินลงสู่เศรษฐกิจฐานราก คือ ร้านค้าขนาดเล็กในชุมชน 81,000 ล้านบาท ของช่วงปลายปี 63 ส่วนจีดีพี คาดว่าจะเพิ่มประมาณ 0.25%

เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNTHAILAND.com
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง