รู้จัก! ยาไอเวอร์เม็คติน รักษาโควิด-19 ได้จริงหรือ? หลัง อย. ห้ามซื้อมากินเอง
ช่วง 2-3 วันมานี้หลายคนอาจได้ยินกระแสข่าวและมีการแชร์ข้อมูลออนไลน์เกี่ยวกับ ยาไอเวอร์เม็คติน (Ivermectin) สามารถรักษาโควิด-19 ได้ และอาจเป็นไปได้ที่สร้างความเข้าใจคลาดเคลื่อน กระทั่งวันนี้ 30 มิถุนายน 2564 สำนักงานองค์กรอาหารและยา หรือ อย. ออกโรงห้าม อย่าใช้ ยาไอเวอร์เม็คติน รักษาโควิด เนื่องจากยาดังกล่าว มีการขึ้นทะเบียนตำรับยาสำหรับสัตว์ เป็นยาฆ่าพยาธิในกระเพาะและลำไส้ พยาธิในปอด โรคพยาธิหัวใจ
"ยาไอเวอร์เม็คติน ยังไม่ได้รับการรับรองให้ใช้สำหรับการป้องกัน หรือรักษาโรคติดเชื้อโควิด-19 แต่อย่างใด ขณะนี้มีเพียงการใช้ในขั้นตอนการศึกษาวิจัยทางคลินิก ซึ่งต้องใช้เวลาในการรอผลการศึกษา จึงขอประชาชนอย่าเพิ่งใช้ยาดังกล่าวเพื่อการรักษาโควิด-19 เพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้" อธิบดีกรมการแพทย์ ระบุ
ทำความรู้จัก ยาไอเวอร์เม็คติน (Ivermectin) ยาฆ่าพยาธิ
สำหรับยาไอเวอร์เม็คติน เป็นยาฆ่าพยาธิในกระเพาะและลำไส้ พยาธิในปอด โรคพยาธิหัวใจ ปัจจุบันมีทะเบียนตำรับสำหรับสัตว์ประมาณ 200 ทะเบียน และมีทะเบียนตำรับยาที่ใช้สำหรับมนุษย์เพื่อใช้ในการรักษาการติดเชื้อพยาธิเส้นด้าย อยู่ 2 ทะเบียน ซึ่งทั้ง 2 ทะเบียนจัดเป็นยาอันตราย และอยู่ในบัญชีรายการยากำพร้า ซึ่งเป็นยาที่มีการใช้ค่อนข้างน้อย ดังนั้น การใช้ยาควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรเสมอ
ขณะที่ คำเตือนในการใช้ยาไอเวอร์เมคติน มีดังนี้
- แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยานี้ หากมีประวัติแพ้ยานี้หรือส่วนประกอบของยาชนิดนี้ รวมถึงการแพ้ยาชนิดอื่น อาหาร หรือสารใด ๆ
- แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยาที่กำลังใช้อยู่ทุกชนิด ทั้งยาที่แพทย์สั่ง ยาที่ซื้อใช้ด้วยตนเอง วิตามิน และสมุนไพร เพราะมียาหลายชนิดที่อาจมีปฏิกิริยากับยานี้
- ห้ามเริ่มใช้ยา หยุดยา หรือเปลี่ยนแปลงปริมาณการใช้ยาด้วยตนเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์
ใช้ยาไอเวอร์เม็คติน มีผลข้างเคียง (หากใช้ปริมาณสูง)
- ความดันเลือดต่ำ
- อาการแพ้
- วิงเวียนศรีษะ
- ชักหรือโคม่า ถึงแก่ชีวิต
เตือนอย่าเชื่อ! ยาไอเวอร์เม็คติน (Ivermectin) ยาฆ่าพยาธิ รักษาโควิดได้
จากคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ยาไอเวอร์เม็กติน ไม่พิจารณาให้ใช้สำหรับผู้ป่วยโควิด -19 เนื่องจากมีข้อมูลการศึกษาพบว่าไม่ช่วยลดอัตราการตาย การใช้เครื่องช่วยหายใจ และการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลของผู้ป่วย
องค์การอาหารและยาของสหรัฐ (USFDA) ไม่อนุมัติให้มีการใช้ยานี้ในการป้องกัน หรือการรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในมนุษย์เช่นเดียวกัน
ด้านองค์การยาแห่งสหภาพยุโรป (EMA) ระบุว่า ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลเพียงพอในการสนับสนุนการใช้ยาไอเวอร์เม็คติน สำหรับการป้องกัน หรือการรักษาโควิด-19 ในสหภาพยุโรป แต่ให้ใช้ในการศึกษาทางคลินิกเท่านั้น เนื่องจากมีผลการศึกษาระบุว่ายานี้สามารถป้องกันการเพิ่มจำนวนของไวรัสโควิด-19 ได้ แต่ต้องใช้ในปริมาณที่สูงกว่าปกติ และการใช้ในปริมาณที่สูงกว่าปกตินี้ อาจส่งผลให้เกิดความเป็นพิษที่สูงขึ้นได้ เช่น เกิดความดันเลือดต่ำ อาการแพ้ วิงเวียนศีรษะ ชัก หรือโคม่าถึงแก่ชีวิตได้ EMA จึงไม่ให้ใช้ยานี้ในผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19
ไทยศึกษา ยาไอเวอร์เม็กติน
แม้ว่ายาไอเวอร์เม็กตินนั้นมีกลุ่มกลุ่มประเทศ ได้แก่ แอฟริกา มีการใช้ยาดังกล่าวเนื่องจากไม่มียาฟาวิพิราเวียร์ใช้ จึงทำให้ต้องใช้ยาตัวนี้แทน ทั้งนี้ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ ยังระบุว่า การใช้ยาไอเวอร์เม็กตินนี้ไม่ได้ให้ผลดีในคนไข้ทุกราย บางรายก็มีอาการแย่ลง โดยยาไอเวอร์เม็กติน แม้จะเป็นยาที่ปลอดภัย แต่ส่งผลต่อตับ และคนไข้ไม่ใช่หนูทดลอง จึงไม่ได้สนับสนุนให้ใช้ยานี้จนกว่าจะมีการศึกษาที่ชัดเจน
ขณะที่ การรักษาหลักของไทย ยังใช้ยาฟาวิพิราเวียร์เป็นหลัก และศ.เกียรติคุณ นพ. ปิยะสกล สกลสัตยาทร ประธานที่ปรึกษาโควิด 19 ได้มอบให้ ศ.พญ.ยุพิน ศุพุทธมงคล หัวหน้าสาขาวิชาโรคติดเชื้อและอายุรศาสตร์เขตร้อน ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เร่งศึกษาวิจัยเรื่องแนวทางการใช้ยาไอเวอร์เม็กตินในผู้ป่วยจริง จำนวนมากหลักพันรายให้แล้วเสร็จภายใน 3-4 เดือน
โดยการศึกษาต้องนำยาใหม่ และยาเก่ามาเปรียบเทียบกัน เป็นการใช้ยาไอเวอร์เม็คตินร่วมกับยาฟาวิพิราเวียร์ เทียบกับสูตรยาเดิม หลักการศึกษาเบื้องต้นจะใช้ใน รพ.ศิริราช และรพ.สังกัดกรมแพทย์ในพื้นที่กทม. ส่วนที่รพ.ใด จะใช้ ไม่ว่าจะ รพ.เอกชน หรือ โรงเรียนแพทย์ ถือเป็นดุลยพินิจแพทย์ เพราะการรักษาเป็นการประกอบโรคศิลปะ ทุกครั้งที่มีการใช้ยาตัวนี้ ต้องมีการรายงานกลับมาที่กรมการแพทย์
ด้าน พญ.นฤมล สวรรค์ปัญญาเลิศ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปกติยาไอเวอร์เม็กติน เป็นยาถ่ายพยาธิในสัตว์ และมีข้อจำกัดในการใช้เพียง 2 วันเท่านั้น แต่สำหรับโควิด-19 อาจต้องใช้นานกว่านั้น และในแนวทางการรักษาโควิดไม่ได้แนะนำให้ใช้ เป็นเพียงหมายเหตุไว้เท่านั้น
ทั้งนี้ สรุปได้ว่า ยาไอเวอร์เม็คตินยังไม่ได้รับการรับรองให้ใช้สำหรับการป้องกัน หรือรักษาโรคติดเชื้อโควิด-19 แต่อย่างใด ขณะนี้ มีเพียงการใช้ในขั้นตอนการศึกษาวิจัยทางคลินิก ซึ่งต้องใช้เวลาในการรอผลการศึกษา จึงขอประชาชนอย่าเพิ่งใช้ยาดังกล่าวเพื่อการรักษาโควิด-19 เพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
ข้อมูล : กรุงเทพธุรกิจ, มติชน, สำนักข่าวประชาสัมพันธ์