อบจ.สกลฯ หนุนเกษตรกรเลี้ยงแพะเนื้อแก้จน เล็งพันธุ์นอกผสมพื้นเมือง-ตอบโจทย์สร้างรายได้
นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร ดันนโยบาย “นอนนาแก้จน" เร่งส่งเสริมเกษตรกรเลี้ยงแพะแก้จน เล็งพันธุ์แพะบอร์นอกผสมแพะพื้นเมือง ตอบโจทย์ทำแพะเนื้อสร้างรายได้ดี
วันที่ 28 มกราคม 2565 ที่ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์สกลนคร ฟาร์มประชารัฐ บ้านโนนสวรรค์ ตำบลพังขว้าง อ.เมือง จ.สกลนคร ดร.ชูพงศ์ คำจวง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร ลงพื้นที่เยี่ยมชมฟาร์มแพะคุณภาพสูง พ่อแม่พันธ์แพะสายพันธ์ บอร์ดำ และ บอร์ด่าง
มี พ่อพันธุ์ 2 ตัว - แม่พันธุ์ 10 ตัว สายเลือด 100 ซึ่งได้นำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อนำมาพัฒนาพันธุกรรมแพะของเกษตรกรในจังหวัดสกลนคร ให้มีโครงสร้างที่ใหญ่ขึ้น เลี้ยงง่าย ให้ลูกแฝด ซึ่งจะสามารถสร้างงาน สร้างรายได้ให้ประชาชน
ปัจจุบัน กระแสการเลี้ยงแพะเนื้อและแพะนม จังหวัดสกลนครกำลังตื่นตัว มีประชาชนหันมาเลี้ยงแพะจำนวนมาก แต่แพะที่เกษตรมีในปัจจุบันนี้ส่วนมากจะเป็นแพะพันธุ์พื้นเมืองของไทย มีโครงสร้างเล็ก
หากมีการพัฒนาสายพันธุ์ โดยใช้พ่อพันธุ์เป็นสายพันธุ์แพะบอร์ ไปผสมกับแม่พันธุ์แพะพื้นเมือง จะให้แพะมีโครงสร้างที่ใหญ่ขึ้น สามารถตอบโจทย์เกษตรกรในการทำเป็นแพะเนื้อได้เป็นอย่างดี อีกทั้งแพะสายพันธ์บอร์มีจุดเด่นอีกอย่างก็คือ แพะจะให้ลูกปีละ2ครั้ง ครั้งละ 2-3 ตัว สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรได้เร็ว
ทั้งนี้ ดร.ชูพงศ์ คำจวง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร เจ้าของนโยบาย “นอนนาแก้จน" เป็นนโยบายที่คิดขึ้นจากพื้นฐานชีวิตความเป็นอยู่ของคนชนบท ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศมีทรัพยากรธรรมชาติมากที่สุด แต่คุณภาพชีวิต การศึกษา สุขอนามัย สิ่งอำนวยความสะดวกน้อยกว่าคนในเมือง ส่งเสริมให้ประชาชนหันมาให้ความสำคัญในการทำเกษตรแบบสมัยใหม่ เป็นแนวทางอีกทางหนึ่งที่จะทำให้ชีวิตคนชนบทดีขึ้น
เมื่อเศรษฐกิจชาวบ้านชนบทเข้มแข็งมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น จะทำให้สังคมในเมืองเข้มแข็งเป็นเงาตามตัว การส่งเสริมให้มีถนนไปไร่นาได้อย่างสะดวกสะบาย ให้เกษตรกรมีแหล่งน้ำในการเพาะปลูก มีไฟฟ้าเพื่อการอยู่อาศัย
เกษตรกรจะหันมาทำกินบนที่ดินของตนเอง มีอาชีพ มีรายได้ ลดรายจ่าย มีเงินออม ครอบครัวอยู่พร้อมหน้าอบอุ่น จะทำให้เศรษฐกิจชุมชนเข้มแข็ง มีผลทำให้เศรษฐกิจในเมืองมั่นคงไปด้วย เป็นวงจรที่มั่นคง มีเสถียร ประเทศชาติมั่งคั่ง