รมช.สาธารณสุข ชงศบค. ปิดบางพื้นที่-ปิดทั้งจังหวัดเร่งด่วน คุมโควิดระบาดใหม่
รมช.สาธารณสุข ชงศบค. ปิดบางพื้นที่-ปิดทั้งจังหวัดเร่งด่วน คุมโควิดระบาดใหม่ เผยครั้งนี้สถานการณ์รวดเร็วและรุนแรง หากตัดสินใจช้าลำบากแน่
วันที่ 20 ธ.ค.63 นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข โพสต์ข้อความผ่านบัญชีเฟซบุ๊ก “หมอตี๋ สาธิต ปิตุเตชะ” ว่า วันนี้ได้ประชุมสถานการณ์ฉุกเฉิน กรณีพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวนมาก ทั้งในจังหวัดสมุทรสาคร และพื้นที่ใกล้เคียง โดยกระทรวงสาธารณสุขได้วางแผนรับมือขั้นสูงสุดกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
- ‘เซ็นทรัลมหาชัย’ ประกาศปิดให้บริการ 14 วัน ตั้งแต่วันนี้ถึง 3 ม.ค.64
- ด่วน! สั่งล็อกดาวน์ สมุทรสาคร ผู้ว่าฯแถลงติด โควิด 548 ราย
- ด่วน! ผู้ว่าฯ สมุทรสาคร สั่งล็อกดาวน์ 14 วัน เคอร์ฟิวเริ่มคืนนี้ ตั้งด่านทั่วจังหวัด สกัดโควิด
“หมอตี๋” ระบุว่า เตรียมนำเสนอ ศบค. พิจารณา เพื่อปิดบางพื้นที่ บางจังหวัด หรือปิดทั้งจังหวัด อย่างเร่งด่วนที่สุด พร้อมระบุว่า ครั้งนี้สถานการณ์รวดเร็วและรุนแรง หากตัดสินใจช้าหรือไม่ครอบคลุม เกิดความลำบากอย่างแน่นอน
ด้านนพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และนพ.กิตติ กรรภิรมย์ สาธารณสุขนิเทศก์เขตสุขภาพที่ 5 แถลงข่าวความคืบหน้าผู้ติดเชื้อโควิด 19 จ.สมุทรสาคร
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า การติดเชื้อโควิดที่สมุทรสาคร เป็นการติดเชื้อครั้งใหญ่ที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย วันเดียวพบผู้ติดเชื้อสูงถึงมากกว่า 500 ราย เริ่มต้นจากวันที่ 17 ธ.ค. เป็นผู้ป่วยหญิงไทยอายุ 67 ปี ที่ตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร ไม่มีประวัติไปต่างประเทศ จึงไม่ได้เป็นต้นเชื้อคนแรก สันนิษฐานว่าอาจเกี่ยวข้องกับแรงงานพม่า ซึ่งบริเวณดังกล่าวมีแรงงานพม่าจำนวนมาก เมื่อตรวจคัดกรองเชิงรุกพบมีการติดเชื้อจำนวนมาก โดยเป็นแรงงานพม่า 90% คนไทย 10% ส่วนใหญ่ 90% ไม่มีอาการ ทั้งนี้ การระบาดมีขอบเขตชัดเจน จึงปิดล็อกดาวน์พื้นที่เสี่ยงสูงเพื่อจำกัดการเคลื่อนไหวให้การแพร่ระบาดอยู่ในพื้นที่จำกัด โดยดูแลเรื่องอาหารการกิน ส่วนผู้ที่มาซื้อขายในตลาดกุ้งแล้วออกไปจังหวัดอื่นมีข้อมูลทุกรายในการติดตาม บางจังหวัดพบผู้ป่วยประมาณ 1-2 ราย แต่ควบคุมตรวจจับได้รวดเร็ว ค้นหาผู้สัมผัสเฝ้าระวังอาการได้ หากจะมีคนติดเชื้อจากกลุ่มนี้ก็น่าจะพบได้ประมาณกลุ่มละ 10-20 ราย
"จ.สมุทรสาคร ตัวเลขผู้ติดเชื้ออาจเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีการตรวจคัดกรองเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทยอยรายผลงานต่อไป แต่หากภายใน 1 สัปดาห์ตัวเลขผู้ติดเชื้อเริ่มนิ่ง คาดว่าจะสามารถควบคุมได้ภายใน 2-4 สัปดาห์" นพ.เกียรติภูมิกล่าวและว่า สำหรับมาตรการด้านสาธารณสุข คือ 1. ค้นหากลุ่มเสี่ยงทั้งหมดโดยเร็ว โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าว จ.สมุทรสาคร และชุมชนแรงงานต่างด้าวจังหวัดอื่น เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบเดียวกัน ส่วนประชาชน จ.สมุทรสาคร และคนที่ออกมาจากจ.สมุทรสาครตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. ให้สังเกตอาการตนเอง หากสงสัยเข้าไปรับการตรวจสถานพยาบาลใกล้บ้าน 2.เฝ้าระวังผู้ป่วยทางเดินหายใจและปอดอักเสบทุกราย 3.เตรียมวัสดุอุปกรณ์ให้พร้อมรับการระบาด ทั้งหน้ากาก เจลแอลกอฮอล์ ยา ชุด PPE ซึ่งขณะนี้มีเพียงพอ 4.จัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาทุกจังหวัด 5.กำหนดผู้รับผิดชอบของทุกจังหวัด และตั้งศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านสาธารณสุข (EOC) เพื่อดูแลการระบาด และ 6.ตรวจสอบ ยกระดับการป้องกัน ควบคุมการติดเชื้อในสถานพยาบาลทุกแห่ง
นพ.โอภาสกล่าวว่า จุดตั้งต้นการระบาดอยู่ที่ตลาดกุ้งและมีผู้ป่วยขยายวงใน จ.สมุทรสาคร และจังหวัดอื่น คือ นครปฐม 2 ราย กทม. 2 ราย สมุทรปราการ 3 ราย สุพรรณบุรี ราชบุรี มีการตรวจแต่ยังไม่พบผู้ติดเชื้อ และอาจมีผู้ป่วยในจังหวัดอื่นๆ อีก โดยผู้ป่วยจากกรณีสมุทรสาครรวม 689 ราย จากผู้ป่วยที่มาตรวจใน รพ. 32 ราย อยู่ใน กทม. 2 ราย ซึ่งไปซื้อสินค้าที่ตลาดดังกล่าวมาจำหน่ายต่อคือกุ้งหรือซื้อมาบริโภค และค้นหาในชุมชน 657 ราย ถือว่าการระบาดยังอยู่ในวงแคบ ไม่ได้กระจายมากนัก คือ ตลาดกลางกุ้งและหอพัก ซึ่งขณะนี้ปิดกั้นไม่ให้มีการเข้าออกแล้ว