รีเซต

10 ปีสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง : มองเมษา-พฤษภา 53 ผ่านวาทกรรม “จำไม่ลง”

10 ปีสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง : มองเมษา-พฤษภา 53 ผ่านวาทกรรม “จำไม่ลง”
บีบีซี ไทย
11 พฤษภาคม 2563 ( 17:09 )
615
1

Getty Images
ตำรวจปราบจราจลประจันหน้ากับคนเสื้อแดง เมื่อ 12 เม.ย. 2553

ฉากสุดท้ายในการชุมนุมใหญ่ของประชาชนที่เรียกตัวเองว่าแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อ เม.ย.-พ.ค. 2553 คือ "โศกนาฏกรรมกลางกรุง" ที่แม้แต่จำนวนผู้เสียชีวิตก็ยังไม่แน่ชัด ขึ้นอยู่กับว่าใครคือผู้นับและบันทึก

 

รายงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่แต่งตั้งขึ้นโดยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ระบุว่ามีผู้เสียชีวิต 92 ราย บาดเจ็บกว่า 1,500 ราย ในช่วง 69 วันของการชุมนุม นปช.

 

ทว่ารายงานอีกฉบับจากศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมกรณี เม.ย.-พ.ค. 53 (ศปช.) ชี้ว่ามีผู้สังเวยชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนั้น 94 ราย ในจำนวนนี้มีชายไทยอายุราว 20 ปีที่ยังไม่อาจระบุชื่อ-สกุลได้

 

ขณะที่ผลการไต่สวนการตายในชั้นศาลพบอย่างน้อย 18 รายเสียชีวิตด้วย "กระสุนจากฝั่งเจ้าหน้าที่/ทหาร"

 

 

10 ปีผ่านไป ประวัติศาสตร์หน้านี้ยังไม่ถูกชำระสะสางอย่างจริงจัง ผู้ก่ออาชญากรรมยังลอยนวลพ้นผิด บาดแผลทางกายอาจหายไป แต่บาดแผลทางใจใครหลายคนยังอยู่

 

เช่นเดียวกับการช่วงชิงอำนาจของ 2 ขั้วการเมืองที่ไม่เคยจางหาย แต่ย้ายสนามการต่อสู้ไปอยู่ในกลไกวาทกรรม เพื่อกำหนดความหมาย-ความรู้-ความจริงของเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์

 

บีบีซีไทยชวนมอง เมษา-พฤษภา 53 ผ่าน 7 วาทกรรม ที่หลายคน "จำไม่ลง"

 

"ไพร่-อำมาตย์"

การชุมนุมใหญ่ของ "นปช. แดงทั้งแผ่นดิน" เริ่มต้นขึ้นเมื่อ 12 มี.ค. 2553 ภายใต้ชื่อยุทธการ "12 มีนา 12 นาฬิกา ลั่นกลองศึกเขย่าขวัญอำมาตย์" โดยระดมคนเสื้อแดงจากทั่วทุกสารทิศเข้ากรุงเทพฯ เพื่อทำกิจกรรมเชิง "เอาฤกษ์เอาชัย" ใน 6 จุด ก่อนนัดชุมนุมจริงในอีก 2 วันข้างหน้า

 

เป้าหมายการประกาศ "สงครามครั้งสุดท้าย" ของแกนนำ นปช. คือการโค่นล้มรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และทลายเครือข่าย "อำมาตยาธิปไตย" ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าอยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์ "พลิกขั้วการเมือง" เมื่อปลายปี 2551 และชี้ว่า พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ คือ "หัวหน้าอำมาตย์"

 

"ตราบใดองคมนตรียังเพ่นพ่านอยู่แบบนี้ แล้วเที่ยวมาบงการการบริหารราชการแผ่นดินหรือทำผิดกฎหมายแล้วไม่ถูกดำเนินคดี สถาบันนี้ก็เป็นสถาบันที่ทำลายพระมหากษัตริย์" นายวีระ มุสิกพงศ์ (ชื่อขณะนั้น) ประธาน นปช. กล่าวกับมติชนเมื่อปี 2553

 

Getty Images
นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เคยปราศรัยผ่านระบบวิดีโอลิงก์ไปยังเวทีชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อ 5 เม.ย. 2552 เรียกร้องให้ออกมาแสดงพลังเรียกร้องประชาธิปไตยของประชาชนเพื่อประชาชน ไม่แทรกแซงโดยอำมาตยาธิปไตย

เช่นเดียวกับแกนนำ นปช. อีกคน นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่บอกว่า "การขับไล่รัฐบาลอภิสิทธิ์เป็นเพียงหลักกิโลเมตรที่หนึ่งของการต่อสู้เท่านั้น มันต้องมีการปะทะระหว่างอำนาจของประชาชน กับอำนาจของอำมาตย์ ขุนศึก ขุนนางทั้งหลายในประเทศนี้"

 

"ไพร่-อำมาตย์" กลายเป็นวาทกรรมยอดนิยมในขบวนการคนเสื้อแดงภายหลังรัฐประหารปี 2549 ซึ่งคำว่า "อำมาตย์" และ "อำมาตยาธิปไตย" ใช้สื่อความหมายถึงเครือข่ายบุคคลที่อยู่เบื้องหลังหรือมีอิทธิพลชี้นำส่วนราชการโดยเฉพาะกองทัพให้ก่อรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ส่วนคำว่า "ไพร่" สื่อความหมายถึงประชาชนธรรมดา

 

Getty Images
แกนนำ นปช. เชิญพราหมณ์มาประกอบพิธีเทเลือดบริเวณประตูหน้าทำเนียบรัฐบาล โดยอ้างว่าการเจาะเลือดและเทเลือดเป็นมาตรการต่อสู้โดยสันติอหิงสา เพราะไม่ต้องการให้เกิดการสูญเสียเลือดเนื้อ

วาทกรรม "ไพร่-อำมาตย์" ถูกบัญญัติขึ้นมาอย่างจงใจ ใช้ร่วมกับคำอื่น ๆ เพื่อสะท้อนสิ่งที่ผู้คิดวาทกรรมเชื่อว่าเป็นภาพความบิดเบี้ยวของโครงสร้างและการเลือกปฏิบัติในสังคมไทย อาทิ สองมาตรฐาน, รัฐบาลในค่ายทหาร และความเหลื่อมล้ำ

 

ในระหว่างการชุมนุม นปช. จัดหลายกิจกรรมเพื่อตอกย้ำวาทกรรมชุดนี้ หนึ่งในนั้นคือ "เอาเลือดไพร่ไปล้างอำมาตย์" ด้วยการเจาะเลือดคนเสื้อแดง 10 ซีซี/คนแล้วนำไปเทตามสถานที่สำคัญ ๆ โดยแกนนำ นปช. ให้เหตุผลว่าเป็น "พิธีกรรมสาปแช่งระบอบการปกครองที่กดขี่คนข้างล่าง" และเป็นการ "สละเลือดเพื่อชาติ"

 

"ผังล้มเจ้า"

ไม่เพียง "หัวขบวนไพร่" เท่านั้นที่ประกาศ "สงครามแห่งชนชั้น" แต่ศูนย์อำนวยการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ก็แบ่งแยกประชาชนที่มีความเห็นต่างทางการเมืองด้วยเอกสารแผ่นเดียว

 

"ผังล้มเจ้า" ปรากฏชื่อแกนนำ นปช., นักการเมืองสังกัดพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทย ซึ่งมีชื่ออดีตนายกฯ ถึง 3 คน, กลุ่มทุน, กลุ่มปัญญาชนฝ่ายก้าวหน้า, นักกิจกรรมการเมือง นักเคลื่อนไหวทางสังคม รวมแล้ว 30 คน และยังอ้างถึงสื่อกระแสรองที่โฆษก ศอฉ. เรียกว่า "สื่อสีแดง" จำนวน 8 สื่อ ทั้งหมดนี้ถูกเชื่อมโยงด้วยเส้นที่ลากไขว้ไปมาเพื่อสื่อให้เห็นถึงความเกี่ยวข้องและสนับสนุนซึ่งกันและกัน

 

พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด (ยศขณะนั้น) โฆษก ศอฉ. คือผู้นำเอกสารนี้มาแจกจ่ายสื่อมวลชนเมื่อ 26 เม.ย. 2553 พร้อมบรรยายให้เห็นว่ามีการใช้ข้อมูลอันเป็นเท็จมุ่งโจมตีสถาบันเบื้องสูงอันเป็นที่รักเคารพของคนไทยทุกคน โดยดำเนินการกันเป็นระบบ มีแกนนำหลัก แกนนำรอง จนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นำผังนี้ไปตั้งคดีเอาผิดกับผู้มีชื่อในผัง ก่อนที่โฆษก ศอฉ. จะกลับคำพูดตัวเองเสียใหม่ในเวลาต่อมา

 

"ไม่ได้หมายความว่าผู้ที่มีชื่อในเอกสารเป็นผู้เกี่ยวข้องในฐานะที่อยู่ในขบวนการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่เป็นความเกี่ียวข้องสัมพันธ์ในลักษณะต่าง ๆ ซึ่งให้สังคมพิจารณาและวินิจฉัยเอาเอง ซึ่ึงมีรายละเอียดอยู่ในเอกสารว่าแต่ละคนเกี่ยวข้องกันในฐานะอะไร" พ.อ.สรรเสริญ ระบุกลางศาลเมื่อ 22 มี.ค. 2554 ในคดีที่นายสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในชื่อที่ปรากฏใน "ผังล้มเจ้า" ฟ้องหมิ่นประมาท

 

โฆษก ศอฉ. ยังชี้ว่า สื่อมวลชนเป็นผู้นำเรื่องราวไปขยายผล ขยายความเอาเอง

 

ท้ายที่สุดดีเอสไอมีความเห็นเมื่อ 11 เม.ย. 2555 "สั่งไม่ฟ้อง" คดีผังล้มเจ้า เพราะเห็นว่าไม่มีหลักฐานเพียงพอ เนื่องจาก "ไม่สามารถระบุได้ว่าใครเป็นคนทำผังล้มเจ้า ใครเป็นคนกระทำความผิด และกระทำที่ไหน เวลาใด"

 

กรณี "ผังล้มเจ้า" จึงกลายเป็น "ตลกมรณะ" ในทัศนะ ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เพราะตอนถูกปล่อยออกมาได้ทำหน้าที่สร้างความชอบธรรมให้แก่ ศอฉ. และรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ซึ่งตกอยู่ในสภาพเพลี่ยงพล้ำจากความล้มเหลวในการสลายการชุมนุม นปช. รอบแรกที่ ถ.ราชดำเนิน ในอันที่จะ "ลงมือโฆษณาชวนเชื่อโจมตีให้ร้ายฝ่ายตรงข้าม" ก่อนกลายเป็นเรื่องโอละพ่อในที่สุด

 

"กองกำลังติดอาวุธ-ชายชุดดำ-ผู้ก่อการร้าย"

"ชายชุดดำ" ปรากฏตัวครั้งแรกช่วงหัวค่ำของวันที่ 10 เม.ย. 2553 ก่อนเกิดเหตุนองเลือดที่สี่แยกคอกวัว

รายงานของ ศปช. แสดงภาพถ่ายจากคลิปวิดีโอเห็นชายชุดดำพร้อมอาวุธสงครามเข้าไปบริเวณสี่แยกคอกวัวในเวลา 20.24 น. ส่วนอีกภาพเป็นกลุ่มชายชุดดำยืนอยู่ในฝั่งผู้ชุมนุมและยิงปืนไปทางฝั่งทหาร

 

พยานหลายรายระบุตรงกันว่า ช่วงที่ชายชุดดำปรากฏตัว "ไม่มีผู้ชุมนุมเสียชีวิตอีกเลย" สอดคล้องกับข้อมูลผู้เสียชีวิตที่ถูกยิงบริเวณแยกคอกวัว 9 ราย ถูกยิงช่วง 19.00-20.30 น.

 

ขณะที่รายงานของ คอป. แสดงภาพถ่ายชายชุดดำถือปืนเอเค 47 (อาก้า) บริเวณ ถ.ตะนาว เวลา 20.37 น. และยังมีภาพจากกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (ซีซีทีวี) เห็นรถตู้สีขาวในเวลา 20.19 น. และ 21.01 น. และปรากฏภาพคนชุดดำถือเครื่องยิงลูกระเบิดเอ็ม 79 อยู่ข้างรถตู้ซึ่งจอดอยู่บริเวณที่ชุมนุม ภาพชุดนี้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตผู้อำนวยการ ศอฉ. เคยใช้อภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร ระหว่างวันที่ 15-18 มี.ค. 2554 และยังปรากฏในหนังสือ "คำให้การพระสุเทพ ปภากโร" ด้วย

 

ผู้สื่อข่าวต่างประเทศให้ข้อมูลกับ คอป. ว่า เห็นคนชุดดำบริเวณปากซอยข้างร้านแมคโดนัลด์ที่เชื่อมต่อไปออก ถ.ตะนาว ด้านหลังอาคารสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เวลาประมาณ 17.30 น. ก่อนที่ทหารบน ถ. ตะนาว และ ถ.ดินสอ จะถูกโจมตีด้วยอาวุธสงคราม

 

รายงานของ คอป. บรรยายพฤติกรรมการใช้อาวุธสงครามของชายชุดดำเอาไว้หลายช่วง ทั้งในเหตุรุนแรงที่สี่แยกคอกวัว และหน้า รร.สตรีวิทยา พร้อมสรุปว่า "คนชุดดำปฏิบัติการโจมตีเจ้าหน้าที่ก่อนด้วยอาวุธสงคราม โดยก่อนและขณะโจมตี คนชุดดำพร้อมอาวุธสงครามอยู่ปะปนอยู่กับผู้ชุมนุม โดยผู้ชุมนุมและการ์ด นปช. ไม่ได้ห้ามปรามหรือขัดขวางการปฏิบัติการด้วยอาวุธของคนชุดดำแต่อย่างใด ทั้งยังกลับได้รับการสนับสนุนหรือร่วมมือจากการ์ด นปช. จำนวนหนึ่งด้วย"

 

ผลของปฏิบัติการที่เกิดขึ้น ทำให้มีผู้เสียชีวิต 24 ราย (เฉพาะบริเวณแยกคอกวัว และหน้า รร.สตรีวิทยา) แบ่งเป็น พลเรือน 19 ราย และทหาร 5 ราย ในจำนวนนี้คือ นายฮิโรยูกิ มูราโมโตะ ช่างภาพสำนักข่าวรอยเตอร์ และ พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม (ยศขณะนั้น) รองเสนาธิการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์

 

ประจักษ์พยานหลักฐานที่ปรากฏผ่านภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว ทำให้ "ชายชุดดำ" ถูกเรียกขานด้วยชื่อใหม่ว่า "กองกำลังติดอาวุธ" และ "ผู้ก่อการร้าย"

 

นายอภิสิทธิ์แถลงเมื่อ 12 เม.ย. 2553 ว่า "จากภาพรวมสิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เราเริ่มมองเห็นได้ชัดแล้วว่ามีบุคคลจำนวนหนึ่งซึ่งถือได้ว่าเป็นผู้ก่อการร้าย อาศัยการที่ประชาชนผู้บริสุทธิ์มาชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยและปัญหาความไม่ยุติธรรมนั้น ใช้เป็นเครื่องมือในการก่อความไม่สงบในบ้านเมือง หวังผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่..."

 

หลังจากนั้นแทบทุกความรุนแรงที่เกิดขึ้นในระหว่างการชุมนุมคนเสื้อแดง ก็ถูก ศอฉ. โยนไปว่าเป็นฝีมือของ "ชายชุดดำ" ทั้งสิ้น และยังปรากฏตัวซ้ำ ๆ ในรายงานของ คอป.

 

"กระสุนยาง-กระสุนจริง"

เหตุปะทะที่สี่แยกคอกวัว และการปรากฏตัวของ "ผู้ก่อการร้าย" ได้กลายเป็น "ใบอนุญาต" ให้เจ้าหน้าที่ใช้กระสุนจริง "เพื่อการป้องกันตัวและประชาชนได้ตามความจำเป็นและอย่างเหมาะสมกับสภาพการณ์" ตามคำสั่ง ศอฉ. ฉบับวันที่ 18 เม.ย. 2553

 

"กำหนดให้เจ้าหน้าที่ใช้อาวุธยิงผู้ก่อเหตุเพื่อหยุดยั้งการปฏิบัติได้ แต่หากผู้ก่อเหตุอยู่ปะปนกับผู้ชุมนุมจนอาจทำให้การใช้อาวุธของเจ้าหน้าที่เป็นอันตรายต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ ให้งดเว้นการปฏิบัติ ยกเว้นในกรณีที่หน่วยได้จัดเตรียมพลเเม่นปืนที่มีขีดความสามารถเพียงพอให้ทำการยิงเพื่อหยุดยั้งการก่อเหตุได้" คำสั่ง ศอฉ. ระบุตอนหนึ่ง

 

จากเดิม ศอฉ. กำหนด "กฎการใช้กำลัง" จากเบาไปหาหนัก 7 ขั้นตอน ได้แก่ การแสดงกำลัง, แจ้งเตือนผู้ชุมนุมให้ทราบ, ใช้โล่, ใช้น้ำฉีด/ใช้คลื่นเสียง, ใช้แก๊สน้ำตา, ใช้กระบอง และใช้กระสุนยาง

 

ป้าย "เขตกระสุนจริง" ถูกเจ้าหน้าที่ทหารปักประกาศพร้อมกันอย่างน้อย 3 จุดที่ ถ.ราชปรารภ, ถ.พระราม 4 และ ถ.วิทยุ เมื่อ 15 พ.ค. 2553 ในระหว่างเปิด "ปฏิบัติการกระชับวงล้อม" เพื่อเตือนไม่ให้ผู้ชุมนุมและประชาชนเข้ามาในเขตดังกล่าว

 

ข้อมูลจาก ศปช. ระบุว่า ในช่วงการชุมนุมคนเสื้อแดง มีการเบิกจ่ายกระสุนจริง 597,500 นัด ก่อนส่งคืนให้กรมสรรพาวุธในภายหลัง 479,577 นัด เท่ากับมีการใช้กระสุนจริงไป 117,923 นัด และมีการเบิกกระสุนสำหรับการซุ่มยิง 3,000 นัด ส่งคืน 880 นัด เท่ากับใช้ไป 2,120 นัด

 

ในระหว่างปี 2555-2558 ศาลทยอยออกคำสั่งในการไต่สวนการตายของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 โดยสำนักข่าวประชาไทรวบรวมข้อมูลไว้ว่ามีอยู่ 33 ราย ในจำนวนนี้มี 18 รายที่ศาลระบุว่า "กระสุนมาจากฝั่งเจ้าหน้าที่หรือทหาร" รวมถึงผู้เสียชีวิต 6 รายในวัดปทุมวนารามด้วย ส่วนอีก 15 ราย ศาลระบุว่า "ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้กระทำ"

 

"ปฏิบัติการขอคืนพื้นที่" สู่ "ปฏิบัติการกระชับวงล้อม"

ความพยายามสลายการชุมนุมใหญ่คนเสื้อแดงของ ศอฉ. เกิดขึ้นอย่างน้อย 2 ครั้ง

ครั้งแรก 10 เม.ย. 2553 ถูกเรียกขานว่า "ปฏิบัติการขอคืนพื้นที่" เพื่อเปิดการจราจร ถ.ราชดำเนิน โดยมีเอกสารถูกเผยแพร่ในสื่อมวลชนเป็นการทั่วไป แต่ไม่มีผู้ออกมายืนยันความเป็นเจ้าของ เนื้อหาตอนหนึ่งระบุว่า นายอภิสิทธิ์สั่งการให้ ศอฉ. "ทำการผลักดันกลุ่มผู้ชุมนุมเพื่อขอคืนพื้นที่และพื้นผิวการจราจรบริเวณสะพานผ่านฟ้าและพื้นที่ใกล้เคียง ตั้งแต่ 10 เม.ย. 53 เวลา 13.30 เป็นต้นไป" พร้อมอ้างถึงการจัดกำลังเพื่อปฏิบัติภารกิจกว่า 70 กองร้อย

 

ขณะที่หนังสือ "คำให้การฯ" ของนายสุเทพ ระบุว่าใช้กำลังรวม 54 กองร้อยในการเข้าผลักดันและควบคุมพื้นที่ชุมนุม ประกอบด้วย พล.ร.1 รอ. 21 กองร้อย, พล.ร.2 รอ. 14 กองร้อย และ นปอ. 18 กองร้อย นอกจากนี้ยังให้ นปพ.ทบ. จัดชุดปฏิบัติการพิเศษปฏิบัติภารกิจร่วมกับหน่วยบินเฉพาะกิจ ศอฉ.

 

ภาพที่ปรากฏตามสื่อสารมวลชนต่าง ๆ ตลอดช่วงบ่าย พบว่าสถานการณ์เขม็งเกลียวขึ้นตามลำดับเมื่อดวงอาทิตย์ใกล้ลับขอบฟ้า

  • ทหารประกาศผ่านเครื่องขยายเสียง และใช้เฮลิคอปเตอร์โปรยใบปลิวแจ้งผู้ไม่เกี่ยวข้องออกจากพื้นที่ชุมนุม
  • เจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชนพร้อมโล่และกระบองเคลื่อนเข้าพื้นที่ และนำรถบรรทุกทหารทั้งฮัมวีและยูนิม็อกมาล้อมกรอบเอาไว้
  • เจ้าหน้าที่ฉีดน้ำขับไล่ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ ก่อนยกระดับเป็นการยิงแก๊สน้ำตาทางอากาศใส่ฝูงชน
  • การประจันหน้าระหว่างแนวทหาร กับ นปช. ทำให้เกิดการปะทะ มีไม้ไผ่ ขวด หิน ก้อนอิฐ เขวี้ยงเข้าใส่ในแนวทหาร ลุกลามเป็นการทำร้ายร่างกายและทรัพย์สิน จังหวะนี้เองที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่เริ่มนำปืนลูกซองกระสุนยางมาแทรกแซงอยู่ในรูปขบวน จากนั้นต่างฝ่ายต่างมีผู้ได้รับบาดเจ็บ
  • รถพยาบาล รถกู้ภัย วิ่งกันขวักไขว่เพื่อขนย้ายคนเจ็บไปส่ง รพ. ใกล้เคียง

 

เวลา 17.00 น. โฆษก ศอฉ. แถลงภาพรวมของปฏิบัติการ พร้อมระบุว่า "ไม่ได้กำหนดเวลาไว้ว่าปฏิบัติการขอคืนพื้นที่จะเสร็จภายในเมื่อไร ขณะนี้ทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่วางไว้ แต่อาจใช้เวลานานเพราะผู้ชุมนุมต่อต้าน แม้จะใช้เวลานานก็คุ้ม ถ้ายืดเยื้อถึงค่ำเราก็ต้องทำให้เสร็จ"

 

ผู้อยู่ในเหตุการณ์หลายคนบอกตรงกันว่า หลังเสียงเคารพธงชาติเวลา 18.00 น. จบลง ความรุนแรงก็เริ่มขึ้น โดยเฉพาะเมื่อชายชุดดำปรากฏตัวในพื้นที่ชุมนุม

 

Getty Images
ปฏิบัติการกระชับพื้นที่เมื่อ 19 พ.ค. 2553

ความพยายามสลายการชุมนุม นปช. เกิดขึ้นอีกครั้งในวันที่ 19 พ.ค. 2553 ภายใต้ชื่อเรียกใหม่ว่า "ปฏิบัติการกระชับวงล้อม" เพื่อขอคืนพื้นที่สวนลุมพินีและบริเวณต่อเนื่อง ผอ.ศอฉ. ให้เหตุผลว่าสวนลุมพินีเป็น "พื้นที่หลบซ่อนของกองกำลังติดอาวุธ นปช." และถูกใช้เป็น "ฐานปฏิบัติการในการยิงอาวุธสงครามโดยเฉพาะเอ็ม 79 ใส่พื้นที่โดยรอบ"

 

ปฏิบัติการครั้งนั้นเริ่มต้นในเวลา 03.00-13.11 น. โดย ผอ.ศอฉ. อ้างว่าภารกิจเสร็จสิ้นลงเมื่อทหารยึดแยกสารสินคืนได้ และไม่ได้เข้าดำเนินการใด ๆ กับพื้นที่ราชประสงค์ซึ่งอยู่ห่างออกไป 1 ก.ม.

 

ผลของปฏิบัติการ ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวม 6 ราย ในจำนวนนี้เป็นเจ้าหน้าที่ทหาร 1 ราย และนายฟาบิโอ โปเลงกี ช่างภาพอิสระชาวอิตาลี

 

"เขตอภัยทาน"

ทุกความรุนแรงควรยุติลง เมื่อแกนนำ นปช. ประกาศยุติการชุมนุมก่อนเข้ามอบตัวในเวลา 13.20 น. แต่การณ์หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ เมื่อเกิดเหตุยิงใส่วัดปทุมวนาราม เป็นผลให้มีผู้เสียชีวิต 6 ราย

 

ก่อนหน้านั้นเพียง 2 วัน ศอฉ. เพิ่งประกาศให้วัดแห่งนี้เป็น "เขตอภัยทาน" ตามที่กลุ่มองค์กรสันติวิธีนำโดยนายโคทม อารียา ผอ.ศูนย์ศึกษาและสันติวิธี ม.มหิดล เรียกร้อง เพื่อให้ความคุ้มครองผู้ชุมนุมที่เป็นเด็ก ผู้หญิง และผู้สูงอายุ โดยมีการขึ้นป้ายไว้เสร็จสรรพ

 

เมื่อแกนนำลาจากเวทีราชประสงค์ ผู้ชุมนุมราว 4 พันคนได้เคลื่อนเข้าสู่วัดปทุมฯ ตลอดช่วงบ่าย เพื่อหลบภัยในระหว่างรอเดินทางกลับภูมิลำเนา กระทั่งเวลาราว 17.00 น. พยานหลายคนเริ่มได้ยินเสียงปืนดังขึ้นจากบริเวณรางรถไฟฟ้าบีทีเอส เล็งเป้าไปยัง "เขตอภัยทาน"

 

คอป. ตั้งข้อสังเกตว่า "ผู้ชุมนุมซึ่งเข้าไปหลบอยู่ภายในวัดปทุมฯ อยู่ในบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวว่าเจ้าหน้าที่ทหารจะเข้ามาปราบปรามและเข่นฆ่าผู้ชุมนุม ในขณะที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่ทหารก็มีความหวาดระแวงว่าภายในวัดปทุมฯ เป็นที่ซ่องสุมกองกำลังและอาวุธจำนวนมากของคนชุดดำ"

 

หนึ่งในผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์คือ น.ส.กมลเกด อัคฮาด อาสาพยาบาล ถูกยิงคาเต็นท์พยาบาลภายในวัด รายงานการชันสูตรพลิกศพของสถาบันนิติเวชวิทยา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุสาเหตุการเสียชีวิตว่าเกิดจาก "บาดแผลกระสุนปืนทำลายสมอง" นอกจากนี้ยังมีรอยกระสุนบนร่างอีก 10 แห่ง

 

ขณะที่ผลการไต่สวนการตายของศาลเมื่อ 6 ส.ค. 2556 ชี้ว่า 6 ศพวัดปทุมฯ เสียชีวิตจากการถูกยิงซึ่ง "วิถีกระสุนปืนยิงมาจากเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยอยู่บนรางรถไฟฟ้าบีทีเอส หน้าวัดปทุมฯ และบริเวณ ถ.พระรามที่ 1" และ "ไม่ปรากฏว่ามีชายชุดดำอยู่ในบริเวณดังกล่าว" ส่วนการตรวจยึดอาวุธในวัดปทุมฯ ที่เจ้าพนักงานอ้างถึง "ไม่น่าเชื่อว่ามีการตรวจยึดจริง"

 

ท้ายที่สุด "เขตอภัยทาน" จึงกลายเป็น "ลานอาชญากรรม" ในโมงยามที่การชุมนุม นปช. ยุติลงแล้ว ทิ้งร่องรอยกระสุนปืนถึง 38 รอยไว้ภายในวัด ประตูวัด และพื้นที่โดยรอบ

 

Getty Images
แนวร่วม นปช. ทยอยเดินทางกลับภูมิลำเนาเมื่อ 20 พ.ค. 2553 หลังมาพักคอยที่วัดปทุมฯ

"เผาบ้านเผาเมือง"

อีกฉากส่งท้ายที่ทำให้การประท้วงบนท้องถนนของ นปช. ลงเอยด้วยโศกนาฏกรรมกลางกรุงอย่างสมบูรณ์ หนีไม่พ้น เหตุวางเพลิงห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์

"ผู้ชุมนุมประมาณ 20 คน พร้อมหนังสติ๊ก ระเบิดขวด และระเบิดปิงปอง เริ่มจุดไฟเผาและโยนถังแก๊สเข้าไปประมาณ 10 ถัง จากนั้นเกิดเสียงดังคล้ายระเบิดหลายครั้งเมื่อเวลาประมาณ 15.00 น." รายงาน คอป. เขียนไว้

 

รายงานฉบับนี้ยังให้ข้อมูลว่า ก่อนเกิดเหตุเพลิงไหม้ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ มีเหตุเพลิงไหม้ในจุดที่มีผู้ชุมนุมอยู่อย่างน้อย 7 จุด ตั้งแต่เย็นวันที่ 18 พ.ค. 2553 และหลังแกนนำประกาศยุติการชุมนุมแล้ว ก็มีเพลิงไหม้ไม่น้อยกว่า 30 จุดใน กทม.

 

Getty Images

ภาพควันไฟสีดำกลางกรุง มักถูกนำไปเชื่อมโยงกับคำปราศรัยของแกนนำ นปช. ก่อนหน้า และถูกฉายซ้ำไปมาเพื่อตอกย้ำวาทกรรม "เผาบ้านเผาเมือง"

  • "ถ้าพวกคุณยึดอำนาจ พวกผมเผาทั่วประเทศ เผาไปเลยพี่น้อง ผมรับผิดชอบเอง แล้วใครจะจับใคร จะอะไรมาเอากับผม ถ้าคุณยึดอำนาจ เผา"- คำปราศรัยของนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่เขาสอยดาว จ.จันทบุรี เมื่อ 23 ม.ค. 2553 ซึ่งเจ้าตัวได้ยอมรับกลางศาลเมื่อ 23 มี.ค. 2561 ในระหว่างการไต่สวนคดีก่อการร้ายว่า "พูดจริง" แต่ไม่ใช่ในการชุมนุมใหญ่ของ นปช. ใน กทม. และมีการตัดต่อคลิป
  • "พี่น้องนัดกันคราวหน้า ถ้ารู้ว่าเขาจะปราบปราม ไม่ต้องเตรียมอะไรมาก มาด้วยกัน ขวดแก้วคนละใบ มาเติมน้ามันเอาข้างหน้า บรรจุให้ได้ 75 ซีซี ถึง 1 ลิตร ถ้าเรามา 1 ล้านคนใน กทม. มีน้ำมัน 1 ล้านลิตร รับรองว่า กทม. เป็นทะเลเพลิงอย่างแน่นอน" - คำปราศรัยของนายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง ที่หน้ากองบัญชาการกองทัพบก เมื่อ 29 ม.ค. 2553

 

ถึงขณะนี้มีหลายคดีวางเพลิงที่ถูกตัดสินโดยศาลแล้ว มีทั้ง "ยกฟ้อง" และสั่ง "ลงโทษ" แนวร่วม นปช. ฐานวางเพลิงเผาทรัพย์สินและข้อหาอื่นที่เกี่ยวเนื่อง เพิ่มน้ำหนักให้วาทกรรมของรัฐไทย

 

สถานที่ถูกวางเพลิง

คำพิพากษาศาล

ห้างเซ็นทรัลเวิลด์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาเมื่อ 4 ก.ย. 2557 ยืนตามศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องนายสายชล แพบัว และนายพินิจ จันทร์ณรงค์ โดยให้เหตุผลว่าพยานโจทก์ยังไม่พอฟังว่าจำเลยกระทำผิดจริง

 

ศาลฎีกามีคำสั่งเมื่อ 24 ส.ค. 2560 ไม่รับฎีกาของบริษัทเซ็นทรัลพัฒนา หลังศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น ทำให้ บมจ.เทเวศประกันภัย ไม่ต้องจ่ายสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัย 2 ฉบับ วงเงินรวมกว่า 3,705.9 ล้านบาท

อาคารสำนักงานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ศาลฎีกาพิพากษาเมื่อ 30 เม.ย. 2562 ให้ 6 บริษัทประกันภัยจ่ายสินไหมทดแทนรวม 89 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% เนื่องจากเห็นว่า "ไม่มีน้ำหนักที่จะรับฟังว่าเหตุเพลิงไหม้ตามฟ้องเป็นผลมาจากการก่อความไม่สงบของประชาชนที่ลุกฮือต่อต้านรัฐบาล และเป็นการก่อการร้ายเพื่อหวังผลทางการเมือง" แต่เป็นฝีมือของบุคคลปิดบังอำพรางใบหน้า 10 คน

ศาลากลาง จ.อุบลราชธานี

ศาลฎีกาพิพากษาเมื่อ 15 ธ.ค. 2558 ให้ประหารชีวิตนายพิเชษฐ์ ทาบุตดา หรือดีเจต้อย แกนนำคนเสื้อแดงกลุ่มชักธงรบอุบลราชธานี แต่ลดโทษให้เหลือจำคุกตลอดชีวิต และสั่งจำคุกจำเลยอีก 12 รายตั้งแต่ 1 ปี ถึงตลอดชีวิต (แต่ลดโทษให้เหลือ 33 ปี 4 เดือน)

ศาลากลาง จ.มุกดาหาร

ศาลอุทธรณ์พิพากษาเมื่อ 30 ก.ย. 2558 ให้จำคุกจำเลยชุดแรก 13 คน เป็นเวลา 15 ปี และศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อ 5 ก.ค. 2562 ให้ยกฟ้องจำเลยชุดที่สอง 7 คน

ศาลากลาง จ.ขอนแก่น

ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อ 11 พ.ย. 2558 ให้จำคุกจำเลย 4 คน ตั้งแต่ 3-13 ปี

ศาลากลาง จ.อุดรธานี

พิพากษาเมื่อ ให้จำคุกจำเลย 5 คน (เฉพาะคดีวางเพลิงเผาทรัพย์) ตั้งแต่ 11 ปี 3 เดือน ถึง 22 ปี 6 เดือน

ที่มา : บีบีซีไทยรวบรวมข้อมูลจากสื่อสาธารณะ ณ วันที่ 11 พ.ค. 2563

 

หมายเหตุรายงานนี้อ้างอิงข้อมูลจาก : 1) รายงานของศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมกรณี เม.ย.-พ.ค. 53 (ศปช.) เผยแพร่ครั้งแรก ก.ค. 2555 2) รายงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) เผยแพร่ครั้งแรก ก.ย. 2555 3) หนังสือ "กลการเมือง เกมอำนาจ ยุคไพร่ผงาด อำมาตย์ซ่อนเล็บ" สำนักพิมพ์มติชน, มี.ค. 2555 4) หนังสือ "คำให้การ พระสุเทพ ปภากโร กรณีการก่อเหตุร้ายในการชุมนุม นปช. เมื่อปี 2553" เผยแพร่ครั้งแรก 2558 ซึ่งเนื้อหาหลักตรงกับเอกสารชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อ ป.ป.ช. กรณีปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง