รีเซต

'สันติ' เด้งรับนายกฯ เร่งปราบบุหรี่เถื่อน ปฏิเสธเก็บภาษีบุหรี่ไฟฟ้า ชี้การวิจัยยังไม่รับรอง

'สันติ' เด้งรับนายกฯ เร่งปราบบุหรี่เถื่อน ปฏิเสธเก็บภาษีบุหรี่ไฟฟ้า ชี้การวิจัยยังไม่รับรอง
มติชน
18 ตุลาคม 2564 ( 08:53 )
65

“สันติ”​ เด้งรับนายกฯ เร่งรัดปราบบุหรี่เถื่อน ย้ำจัดเก็บภาษีบุหรี่ไฟฟ้า ยังไม่ถึงเวลาที่เหมาะสม เพราะไม่มีศูนย์วิจัยใดรับรอง

 

นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า จากที่พล.อ.ประยุทธ์​ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้สั่งการให้เข้มงวดตรวจขันการปราบปราบจับกุมบุหรี่เถือนหรือบุหรี่หนีภาษี หลังจากที่ปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่ มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยสัปดาห์นี้จะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามลักลอบการนำเข้าบุหรี่เถื่อนมาหารือ เพื่อป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้าบุหรี่ รวมถึงหาวิธีการดำเนินการป้องกันต่อไปด้วย

 

นายสันติ กล่าวว่า ส่วนเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า ที่มีข้อเสนอแนะให้จัดเก็บภาษีให้ถูกต้องนั้น สำหรับประเทศไทย ขณะนี้ยังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม ที่จะจัดเก็บภาษีบุหรี่ไฟฟ้า หรือกำหนดเป็นสินค้าที่ถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจากยังมีผลวิจัยหลายสำนักระบุว่า บุหรี่ไฟฟ้ายังมีอันตรายต่อผู้บริโภค และยังไม่มีหน่วยงานใดรับรอง และต่างประเทศ​ก็ยังไม่ยอมรับ ฉะนั้นหน่วยงานปราบปรามก็ต้องทำงานอย่างเข้มงวดกวดขัน ในการปราบปรามจับกุมบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมาย

 

“บุหรี่ไฟฟ้า ยังไม่มีผลวิจัยที่ไหนรับรองว่าไม่เป็นอันตราย เพราะยังมีสารบางชนิดที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และหลายๆประเทศยังไม่ยอมรับ ดังนั้นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ อย่างไรก็ตามในระหว่างที่ยังไม่ได้แก้ไขกฎหมาย หรือดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องจับกุมการจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า เพราะถือว่าผิดกฎหมายชัดเจน”นายสันติ กล่าว

 

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ขณะนี้บุหรี่ไฟฟ้า ถือเป็นที่นิยมของคนสูบบุหรี่ แต่เป็นการบริโภคแบบผิดกฎหมาย เนื่งอจากกฎหมายไทย ห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าโดดเด็ดขาด ตาม ประกาศกระทรวงพาณิชย์ พ.ศ. 2557 ภายใต้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ)การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522 ซึ่งมีโทษ จำคุกไม่เกิน 10 ปีหรือปรับเป็นเงิน 5 เท่าของสินค้าที่นำเข้า หรือทั้งจำทั้งปรับพร้อมถูกริบสินค้า และพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 244 ที่บัญญัติว่า “ผู้ใดนำเข้าของที่ผ่านหรือกำลังผ่านพิธีการทางศุลกากรเข้าในราชอาณาจักร หรือส่งของดังกล่าวออกไปนอกราชอาณาจักร หรือนำของเข้าเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลำเลียงโดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดหรือข้อห้ามอันเกี่ยวกับของนั้น ซึ่งในที่นี้คือ ประกาศกระทรวงพาณิชย์ที่ห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า โดยกฎหมายศุลกากร มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และศาลอาจริบของนั้นก็ได้ ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่ก็ตาม

 

ทั้งนี้ปัจจุบันมีการลักลอบนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้ามาขายผ่านออนไลน์กันอย่าางโจ้งแจ้ง ขณะที่เจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถจับกุมได้ ทำให้ตลาดบุหรี่ไฟฟ้ามีอัตราการขยายตัวอย่างรวดเร็วจากอัตราการสูบ จากหลักแสน เพิ่มเป็นหลักล้าน โดยข้อมูลจากศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ระบุว่า เมื่อปี 2560 มีการสูบบุหรี่ไฟฟ้า 1.2 ล้านคน และเพิ่มเป็น 3.6 ล้านคน ในปี 2561 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่ายอดการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในปีนี้จะทะลุ 5 ล้านคน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง