ธุรกิจ "ลงทุนหุ้นนอกตลาด" ในเอเชียทรุดหนัก ร้อยละ 44


“เบน แอนด์ คอมพานี” บริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดการจากสหรัฐฯ ระบุว่า ธุรกิจลงทุนในหุ้นนอกตลาด หรือไพรเวต อีควิตี้ (Private Equity) ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกทรุดลงอย่างมากในปีที่แล้ว เนื่องจากนักลงทุนมีความต้องการเสี่ยงลดลง ท่ามกลางแรงกดดันเรื่องเงินเฟ้อและภูมิรัฐศาสตร์
โดยมูลค่าการทำข้อตกลงหุ้นนอกตลาดทั้งหมดในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เมื่อปีที่แล้ว ลดลงร้อยละ 44 อยู่ที่ 1.98 แสนล้านดอลลาร์ เทียบกับ 3.54 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2564 นอกจากนี้ เกือบร้อยละ 70 ของบริษัทจัดการกองทุนที่ร่วมตอบแบบสอบถามของเบน แอนด์ คอมพานี คาดการณ์ว่า แนวโน้มเชิงลบดังกล่าวจะยังดำเนินไปจนถึงปี 2567
รายงานสถานการณ์ไพรเวต อีควิตี้ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ชี้ว่า เศรษฐกิจมหภาคที่มีความไม่แน่นอน ประกอบกับต้นทุนที่สูงขึ้น และผลประกอบการบริษัทที่ย่ำแย่ลง ได้บั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุน
รายงานระบุด้วยว่า นักลงทุนตระหนักถึงเศรษฐกิจที่ชะลอตัว เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น และความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้น ทำให้ต้องใช้เวลาในการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การลงทุน ซึ่งสิ่งที่เคยได้ผลดีในอดีตอาจไม่ใช่แนวทางที่เหมาะสมสำหรับปี 2566 และปีต่อ ๆ ไป
สำหรับมูลค่าข้อตกลงหุ้นนอกตลาดในจีนแผ่นดินใหญ่ลดลงร้อยละ 53 เนื่องจากนักลงทุนเผชิญกับนโยบายปลอดโควิด ซึ่งนำไปสู่การลงทุนที่ลดลงในภูมิภาค โดยจีนและอินเดียมีมูลค่าข้อตกลงลดลงรวมกัน 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว
ขณะที่อินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยียังคงเป็นอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนมากสุดในเอเชีย-แปซิฟิกเมื่อปีที่แล้ว แต่ก็ลดลงจากปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2560 โดยมูลค่าข้อตกลงในอุตสาหกรรมนี้ลดลงอยู่ที่ร้อยละ 33 ในปีที่แล้ว จากร้อยละ 41 ในปีก่อนหน้า
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจมหภาคจะบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุน แต่จำนวนที่ข้อตกลงเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) กลับเพิ่มขึ้น
ที่มาข้อมูล : TNN ONLINE
ที่มาภาพ : TNN