รีเซต

กสิกรไทยขยับจีดีพีปีนี้หดตัวน้อยลงเหลือ 0.2% หลังคลายล็อกดาวน์-เปิดประเทศ มองปีหน้าโต 3.7%

กสิกรไทยขยับจีดีพีปีนี้หดตัวน้อยลงเหลือ 0.2% หลังคลายล็อกดาวน์-เปิดประเทศ มองปีหน้าโต 3.7%
ข่าวสด
27 ตุลาคม 2564 ( 15:11 )
52

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยขยับจีดีพีไทยปีนี้หดตัวน้อยลงเหลือ 0.2% หลังคลายล็อกดาวน์และเปิดประเทศส่งผลบวก มองปีหน้าขยายตัว 3.7%

 

กสิกรไทยชี้จีดีพีติดลบ0.2% - น.ส.ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองเศรษฐกิจไทย ปี 2564 ดีขึ้นกว่าเดิม หลังคลายล็อกดาวน์เมื่อเดือนก.ย. และมาตรการเปิดประเทศวันที่ 1 พ.ย.นี้ ซึ่งเร็วกว่าที่มองไว้เดิม หลังการ กระจายวัคซีนที่เร่งตัวขึ้นกว่าที่ประเมินไว้ในเดือนส.ค. 2564 นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังมีแรงส่ง จากผลการเบิกจ่ายภาครัฐที่ออกมาดีกว่าคาดด้วย

 

ดังนั้นจึงทบทวนประมาณการการขยายตัวเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ปี 2564 โดยปรับเพิ่มคาดการณ์ขึ้นจากหดตัว 0.5% เป็นหดตัวที่ 0.2% โดยไตรมาสที่ 4 ของปีนี้คาดว่าจีดีพีจะฟื้นตัว ประมาณการขยายตัวที่ 3.6% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3 ติดลบ 3% ที่คาดว่าจะต่ำสุดของปีนี้ แต่ยังมีความเสี่ยงที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศจะกลับมาหลังเปิดประเทศยังเป็นปัจจัยที่ทำให้การปรับประมาณการเศรษฐกิจในปี 2564 เป็นไปอย่างจำกัด

 

“ผลจากการคลายล็อกดาวน์และการเปิดประเทศที่เร็วขึ้นนี้ ทำให้ส่งสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 1.5 แสนคน มาเป็น 1.8 แสนคน แต่ยังมีผลกระทบจากน้ำท่วม และภาระการครองชีพที่สูงขึ้นจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นอย่างมาก”

 

ส่วนปี 2565 มองว่า เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวที่ 3.7% จากความครอบคลุมของประชากรที่จะได้รับวัคซีนเกินกว่า 70% ซึ่งจะช่วยลดความจำเป็นที่จะต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ลง และการดำเนินธุรกิจไม่หยุดชะงัก นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยหนุนจากการส่งออก การใช้จ่ายครัวเรือนที่ฟื้นตัวจากฐานที่ต่ำ และการกลับมาบริโภคหลังจากอั้นไว้ในช่วงล็อกดาวน์ สำหรับภาคการท่องเที่ยวยังมีความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของโควิด-19 ที่ต้องจับตา และรอดูหลังจากเปิดประเทศแล้ว

 

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงจะอยู่ที่ราคาพลังงานสูงและเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังไม่ได้เข้าสู่ภาวะ Stagflation โดยมองเงินเฟ้อในปี 2565 ที่ 1.6% บนเงื่อนไขที่ราคาน้ำมันโลกไม่ได้ยืนอยู่ในระดับสูงมากกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เป็นระยะเวลายาวต่อเนื่อง แต่หากประเมินในภาพรวมของจีดีพีในปี 2565 จะไม่ติดลบ แม้จะมีการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ จากการกลายพันธุ์ของไวรัส หรือสายพันธุ์ใหม่ ยังมองว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 1-2%

 

ด้านน.ส.เกวลิน หวังพิชญสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ กล่าวถึงผลกระทบต่อราคาน้ำมันสูง ว่า ในปีหน้ายังต้องติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันต่อ จากในปี 2564 กรณีที่ราคาน้ำมันดีเซลในระยะที่เหลือของปีนี้ อยู่ในช่วง 25.0-29.2 บาทต่อลิตร จะมีผลให้ต้นทุนการผลิตของภาคธุรกิจ เพิ่มขึ้นประมาณ 0.55-0.73% และต้นทุนขนส่งเพิ่มขึ้นประมาณ 0.33-0.44% หรือรวมกันธุรกิจจะมีต้นทุนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นราว 1% แต่ท่ามกลางภาวะที่ราคาน้ำมันชนิดอื่นๆ ปรับขึ้นแรงกว่าน้ำมันดีเซลที่ยังมีกลไกการดูแลราคาจากภาครัฐ รวมถึงการที่ต้นทุนอื่นๆ โน้มเพิ่มขึ้นในภาวะที่ยอดขายยังไม่กลับมา ก็ย่อมจะเพิ่มโจทย์การฟื้นตัวให้กับภาคธุรกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง