รีเซต

นครศรีธรรมราชเปลี่ยนเมืองด้วย “Smart City” เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน

นครศรีธรรมราชเปลี่ยนเมืองด้วย “Smart City” เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน
TNN ช่อง16
18 พฤษภาคม 2566 ( 12:36 )
1.7K
นครศรีธรรมราชเปลี่ยนเมืองด้วย “Smart City” เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน

เทศบาลนนครนครศรีธรรมราช ผลักดันระบบสมาร์ต ซิตี้ (Smart City) ด้วยการพัฒนาบริการออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชันไลน์ โอเอ (LINE OA) ด้วยความร่วมมือจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือดีป้า (DEPA) เพื่อพัฒนาการแก้ปัญหาท้องถิ่นในเขตเทศบาลเชิงรุก พร้อมสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยในฐานะการเป็นแหล่งดูงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจากต่างประเทศ


การพัฒนาท้องถิ่นนครศรีธรรมราชด้วย Smart City

เทศบาลนครนครศรีธรรมราช มองว่าหนึ่งในปัญหาสำคัญของการพัฒนาท้องถิ่นอยู่ที่ความยุ่งยากในการติดต่อราชการ โดยเฉพาะการร้องเรียนแก้ปัญหาที่ประชาชนต้องใช้เวลารอคอยผลการทำงานติดตามถึง 15 วันทำการ และเพื่อแก้ปัญหานี้ ทางเทศบาลนครฯ จึงได้ผลักดันระบบร้องทุกข์ออนไลน์ ผ่านช่องทางของไลน์ โอเอ (LINE OA) “@Nakhoncity”


เป้าหมายสำคัญของการใช้ไลน์ โอเอ (LINE OA) ในการแก้ปัญหาคือการเพิ่มการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนด้วยแพลตฟอร์มที่ประชาชนทุกคนรู้จักและใช้งานง่าย มีหลักการพื้นฐานคือการสร้างระบบร้องเรียนผ่านไลน์ พร้อมใช้ระบบแจ้งเตือนเพื่อแจ้งกลับไปยังผู้ร้องเรียนเมื่อปัญหาได้รับการแก้ไขหรือมีการเปลี่ยนแปลง 

 

ระบบ Smart City แก้ปัญหาและสาธารณภัยในนครศรีธรรมราช

“@Nakorncity” จะประกอบไปด้วยคู่มือประชาชน, ข้อมูลนำเที่ยว, ระบบจองคิวเข้ารับบริการของเทศบาลนครฯ, ระบบเข้าดูกล้องวงจรปิดของเทศบาล, และระบบร้องทุกข์ ซึ่งได้รับการจัดหมวดหมู่คำร้องทั้งหมด 24 หมวด เช่น ไฟฟ้า, ประปา, และทางเท้า ซึ่งปัญหาเหล่านี้ทางเทศบาลเคลมว่าจะได้รับการแก้ไขปัญหาภายใน 48 ชั่วโมง นับตั้งแต่ได้รับคำร้องเรียน


ทางเทศบาลนครฯ ให้ข้อมูลว่าระบบไลน์ โอเอได้ประหยัดงบประมาณไปกว่า 10 ล้านบาท จากค่าเอกสาร ค่าโทรศัพท์ และค่าจ้างลูกจ้างในการมาทำงานเอกสารเพื่อรับเรื่องร้องเรียน ในส่วนของประชาชนในเขตเทศบาลนครฯ ก็สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้ 410 บาท ในการร้องเรียนแต่ละครั้ง


ในขณะเดียวกัน ไลน์ “@Nakhoncity” ยังมีจุดเด่นในเรื่องการให้ข้อมูลสำหรับประชาชน ซึ่งหนึ่งในฟีเชอร์ที่เป็นประโยชน์ก็คือระบบเข้าดูกล้องวงจรปิดของเทศบาล เพื่อดูระดับน้ำคลองท่าใหญ่กว่า 530,000 ครั้ง ในปี 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งมีส่วนสำคัญในการระวังอุทกภัยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ลดปัญหาทรัพย์สินเสียหายจากขนย้ายทรัพย์สินหนีน้ำท่วมไม่ทัน 


ระบบดังกล่าวได้รับการตอบรับจากภาคประชาชนในระดับที่เป็นรูปธรรม พร้อมทั้งกลายเป็นแหล่งศึกษาดูงานจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและส่วนบริหารต่าง ๆ ในต่างประเทศ อาทิ งานนิทรรศการและประชุมสุดยอดสมาร์ตซิตี้ประจำปี 2023 ที่ไต้หวัน (Smart City Summit & Expo 2023), งานประชุมสุดยอดผู้นำระดับโลกและระดับภูมิภาคของยูซีแอลจี (UCLG Congress World Summit Of Local Regional Leaders 2022 - UCLG เป็นองค์กรส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับสากลที่มีหลายเขตจากทั่วโลกเข้าร่วม รวมถึงกทม.) ที่เมืองแดจองในเกาหลีใต้


ความท้าทายของ Smart City ที่นครศรีธรรมราช

อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญในการยกระดับสมาร์ต ซิตี้ อยู่ที่การมีส่วนร่วมของประชาชน ในระยะเริ่มแรกคือประชาชนไม่เชื่อว่าบริการใหม่นี้จะมีประสิทธิภาพมากนัก แต่ในปัจจุบันมีผู้เข้ามาใช้บริการและเพิ่มเพื่อน @Nakhoncity กว่า 44,000 คน หรือกว่าร้อยละ 44 ของจำนวนประชากรในเขตเทศบาลนครฯ ซึ่งยังคงต้องเพิ่มสัดส่วนการเข้าถึงต่อไป


นอกจากบริการผ่านไลน์ โอเอ แล้ว ทางเทศบาลนครฯ ยังได้ผลักดันเทคโนโลยีเข้าไปในส่วนการศึกษาและสาธารณสุขในเขตเทศบาลด้วยเช่นกัน ผ่านโครงการเมตาเวิร์ส (Metaverse) เพื่อการศึกษาในโรงเรียนที่เทศบาลรับผิดชอบ รวมถึงโครงการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ของโรงพยาบาลเทศบาลนครนครศรธีรรมราชอีกด้วย



ที่มาของข้อมูลและรูปภาพ DEPAเทศบาลนครนครศรีธรรมราช

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง