รีเซต

ศบค.เผยกลางเม.ย.แพกซ์โลวิดถึงไทย ช่วยผู้ติดเชื้อไม่ต้องแอดมิต 88%

ศบค.เผยกลางเม.ย.แพกซ์โลวิดถึงไทย ช่วยผู้ติดเชื้อไม่ต้องแอดมิต 88%
มติชน
20 มีนาคม 2565 ( 16:35 )
52

เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2565 เพจเฟซบุ๊กศูนย์บริหารสถานการณ์โรคโควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยถึงแผนการจัดซื้อยาสำหรับนำมารักษาผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 ในระยะถัดไปหลังจากเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีการนำเข้ายาโมลนูพิราเวียร์ จำนวน 2 ล้านเม็ด หรือ 50,000 คอร์สการรักษา เตรียมกระจายลงไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 เน้นจ่ายยาให้กลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคเรื้อรังเป็นอันดับต้นๆ โดย ศบค.ระบุว่า กระทรวงสาธารณาสุข (สธ.) เตรียมนำเข้ายาแพกซ์โลวิด (Paxlovid) ซึ่งเป็นยาอีก 1 ตัว ที่จะนำมาใช้สำหรับรักษาผู้ป่วยโควิด-19 โดยตรง ภายในกลางเดือนเมษายนนี้ โดยยาดังกล่าวช่วยลดความเสี่ยงการนอนโรงพยาบาล (รพ.) ได้ประมาณร้อยละ 88

 

 

ทั้งนี้ เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ได้ให้สัมภาษณ์ว่า สำหรับการจัดซื้อยาแพกซ์โลวิดนั้น สธ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการลงนามจัดซื้อภายในสัปดาห์นี้ แต่ยังไม่ระบุวันที่ชัดเจน เบื้องต้นจัดซื้อจำนวน 50,000 คอร์ส

 

ขณะที่ นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการเเพทย์ กล่าวถึงยาแพกซ์โลวิดที่กำลังดำเนินการจัดหาเข้ามาใช้ในประเทศไทย โดยเป็นยารักษาโรคโควิด-19 ตัวที่ 4 ว่า มีกลไกการออกฤทธิ์ที่เอนไซม์ทำให้เชื้อลดจำนวนลง ไม่สามารถเกิดผลกับโรคได้ ประสิทธิภาพช่วยลดความเสี่ยงการนอน รพ.ลงร้อยละ 88 กรณีให้ยาภายใน 5 วันหลังมีอาการ แต่มีข้อห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์และหญิงที่ให้นมบุตร

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับยาตัวที่ 1 คือ ฟาวิพิราเวียร์ มีการใช้มา 2 ปี กลไลการออกฤทธิ์ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของ RNA ไวรัส ทำให้เชื้อไวรัสเปลี่ยนแปลงไป ข้อมูลล่าสุดพบว่า ผู้ป่วยที่ได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ มีอาการดีขึ้น เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับยา โดยเฉพาะใน 14 วัน สัดส่วนอาการดีขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 86.9 ขณะที่ ยาตัวที่ 2 คือ เรมดิซิเวียร์ (Remdisivir) กลไกออกฤทธิ์ตำแหน่งเดียวกับฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งช่วงแรกองค์การอนามัยโลกยังไม่ได้รับรอง กระทั่งมีการใช้ระยะหนึ่ง และองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA) ได้ให้การรับรองใช้ยาตัวนี้สำหรับการรักษาในภาวะฉุกเฉิน โดยให้ทางหลอดเลือดดำ ซึ่งมีประโยชน์กับผู้ที่รับประทานยาไม่ได้ มีปัญหาการดูดซึม และใช้ได้ในหญิงตั้งครรภ์ โดยเมื่อศึกษาวิจัย พบว่าผู้ป่วยมีอาการทุเลาลง นอน รพ.ลดลงเหลือ 10 วัน เมื่อเทียบกับกลุ่มที่รับยาหลอกต้องนอน รพ.นานถึง 15 วัน

 

ส่วนยาตัวที่ 3 คือ โมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) กลไกการออกฤทธิ์จุดเดียวกัน และลดความเสี่ยงจะเกิดอาการรุนแรง ขนาดยารับประทานสำหรับผู้ใหญ่ 800 มิลลิกรัม (มก.) คือ แคปซูลขนาด 200 มก. จำนวน 4 แคปซูล โดยให้รับประทานทุก 12 ชั่วโมง เป็นระยะเวลา 5 วัน รวม 40 แคปซูลต่อคน ซึ่งยาตัวนี้ต้องให้ภายใน 5 วันหลังได้รับการวินิจฉัยว่าเริ่มมีอาการป่วย และ ยาตัวที่ 4 คือ แพกซ์โลวิด (Paxlovid) กลไกการออกฤทธิ์แตกต่างกัน จะออกที่เอนไซม์ ทำให้เชื้อลดจำนวนลง ไม่สามารถเกิดผลกับโรคได้ โดยยาตัวนี้ประกอบด้วยยา 2 ชนิด คือ Nirmatrelvir และ Ritonnavir ทำให้ลดความเสี่ยงร้อยละ 88 กรณีให้ภายใน 5 วันหลังมีอาการ ที่สำคัญยาตัวนี้พบว่ามีประสิทธิภาพสูงสุด

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง