รีเซต

แพ็กซ์โลวิด 1.5 ล้านเม็ด ถึงไทยพรุ่งนี้! อนุทิน ติดตามแผนกระจายยาลงพื้นที่รักษาโควิด

แพ็กซ์โลวิด 1.5 ล้านเม็ด ถึงไทยพรุ่งนี้! อนุทิน ติดตามแผนกระจายยาลงพื้นที่รักษาโควิด
มติชน
10 เมษายน 2565 ( 14:07 )
67

กรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2565 อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) วงเงิน 8,458.38 ล้านบาท เพื่อใช้จ่ายเป็นค่าตอบแทนการเสี่ยงภัยของเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงาน ค่าตอบแทนบุคลากรนอกเหนือภารกิจปกติ สำหรับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 นอกสถานพยาบาล ค่ารักษาผู้ป่วยไร้สิทธิการรักษา และจัดซื้อยาแพ็กซ์โลวิด (Paxlovid) เพื่อนำมาใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 นั้น

 

วันนี้ (10 เมษายน 2565) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ยาแพ็กซ์โลวิด 50,000 คอร์สการรักษา หรือ จำนวน 1.5 ล้านเม็ด ล็อตแรกจะถึงประเทศไทยในวันที่ 11 เมษายนนี้ โดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะเป็นประธานในพิธีรับมอบและเป็นสักขีพยานในการส่งมอบยาแพ็กซ์โลวิดดังกล่าวลงพื้นที่ โดยก่อนหน้านี้ กรมการแพทย์ ระบุว่า ได้หารือร่วมกับบริษัทไฟเซอร์ เพื่อกระจายยาลงไปในแต่ละพื้นที่ก่อนเทศกาลสงกรานต์ และการส่งมอบ 5 หมื่นคอร์สฯ แบ่งเป็น 2 ชิพเม้นท์ภายในเดือนเมษายน 2565

 

สำหรับยาแพ็กซ์โลวิดล็อตนี้ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ได้ทำสัญญาจัดซื้อกับ บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2565 จำนวน 50,000 คอร์สฯ ตั้งเป้าเพื่อนำไปใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอาการรุนแรง

 

ทั้งนี้ มีผลการศึกษายาแพ็กซ์โลวิด พบว่า ช่วยลดความเสี่ยงการป่วยหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาล (รพ.) และเสียชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยจากข้อมูลจากการศึกษาวิจัย 1,379 คน ลดความเสี่ยงการนอน รพ. หรือเสียชีวิตลงได้ร้อยละ 88 เมื่อผู้ป่วยได้รับยาภายใน 5 วันนับตั้งแต่เริ่มมีอาการ กลุ่มที่ให้ยาแพ็กซ์โลวิด นอน รพ. ร้อยละ 0.77 และไม่มีผู้เสียชีวิต ขณะที่กลุ่มได้รับยาหลอก มีผู้ป่วยนอน รพ. ร้อยละ 6.31 มีผู้เสียชีวิตในกลุ่มที่ได้ยาหลอก 13 คน

อย่างไรก็ตาม กรมการแพทย์ ยืนยันแนวทางการจ่ายยาแพ็กซ์โลวิดในผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์จะคล้ายกับยาโมลนูพิราเวียร์ เป็นไปตามแนวทางรักษาผู้ป่วยที่กรมการแพทย์ประกาศ ณ วันที่ 21 มีนาคม 2565 คือ จ่ายยาในผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่ต้องมีโรคร่วม พร้อมมีประวัติการฉีดวัคซีนไม่ครบหรือยังไม่ได้รับเลยแม้แต่เข็มเดียว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง