รีเซต

‘โกลเบล็ก’ คาดสงครามรัสเซีย-ยูเครน เสี่ยงทำหุ้นไทยผันผวน ให้กรอบดัชนี 1,675-1,710 จุด

‘โกลเบล็ก’ คาดสงครามรัสเซีย-ยูเครน เสี่ยงทำหุ้นไทยผันผวน ให้กรอบดัชนี 1,675-1,710 จุด
มติชน
17 กุมภาพันธ์ 2565 ( 06:48 )
51
‘โกลเบล็ก’ คาดสงครามรัสเซีย-ยูเครน เสี่ยงทำหุ้นไทยผันผวน ให้กรอบดัชนี 1,675-1,710 จุด

นางสาววิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดหุ้นไทย ยังมีความเสี่ยงในหลายปัจจัย ทำให้ดัชนีมีโอกาสแกว่งตัวผันผวนในลักษณะไซด์เวย์ขึ้น โดยแรงกดดันหลักๆ ยังเป็นความกังวลสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่มีกระแสข่าวว่ารัสเซียใกล้จะเปิดศึกโจมตียูเครนแล้ว หลังจากที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐ ได้ออกมาเตือนว่ารัสเซียอาจเริ่มบุกโจมตียูเครน ก่อนที่จีนจะปิดฉากกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวในวันที่ 20 กุมภาพันธ์นี้ ซึ่งอาจนำไปสู่การคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันและก๊าซของรัสเซีย ส่งผลกระทบต่ออุปทานน้ำมันในตลาดโลก และผู้นำสหรัฐเรียกร้องให้ชาวอเมริกันรีบเดินทางออกจากยูเครนเร็วที่สุด โดยให้กรอบการเคลื่อนไหวของดัชนีหุ้นไทยที่ระดับ 1,675-1,710 จุด

 

นางสาววิลาสินี กล่าวว่า รวมถึงกรณีที่สหรัฐได้รายงานตัวเลขเงินเฟ้อพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี ซึ่งถือเป็นตัวเร่งให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) พิจารณาขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรงกว่าเดิม สะท้อนได้จากเครื่องมือชี้วัด Fed Watch Tool ที่บ่งชี้ว่านักลงทุนให้น้ำหนักมากถึง 88% ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระดับ 0.50% ในเดือนมีนาคม จากเดิมที่เคยให้น้ำหนักเพียง 14% และนักลงทุนทั่วไปให้น้ำหนักกว่า 95% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อย 1.00% ภายในเดือนมิถุนายนนี้ รวมถึงการที่ธนาคารกลางหลายประเทศทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อสกัดเงินเฟ้อโลก ล่าสุดธนาคารกลางรัสเซียได้ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1% สู่ระดับ 9.50% สูงสุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2560 สอดคล้องกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า เฟ้อได้พุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 6 ปีที่ระดับ 8.1% สูงกว่าเป้าหมายของธนาคารกลางที่ระดับ 4%

 

“ปัจจัยในประเทศยังมีความเสี่ยง เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 เห็นจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ปรับตัวเร่งขึ้นต่อเนื่อง และพบว่าผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ไม่ฉีดวัคซีน แม้มีข่าวดีอยู่บ้างจากสถิติการฉีดวัคซีนที่มีความคืบหน้าขึ้น โดยปัจจัยที่ต้องจับตาอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่เป็นตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในต่างประเทศ อาทิ อียูรายงานตัวเลขจีดีพีงวดไตรมาส 4/2564 สหรัฐรายงานดัชนีภาคการผลิตเดือนกุมภาพันธ์ และดัชนีราคาผู้ผลิต (พีพีไอ) เดือนมกราคม ที่ผ่านมา” นางสาววิลาสินี กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง