รีเซต

Space Perspective ทดสอบปล่อยและลงจอดแคปซูลท่องอวกาศสำเร็จ

Space Perspective ทดสอบปล่อยและลงจอดแคปซูลท่องอวกาศสำเร็จ
TNN ช่อง16
26 กันยายน 2567 ( 14:01 )
35

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอวกาศเข้าใกล้ความสำเร็จไปอีกขั้น เมื่อ สเปซ เพอร์สเปกทีพ (Space Perspective) บริษัทท่องเที่ยวอวกาศสัญชาติอเมริกัน ประกาศทดสอบปล่อยและลงจอดแคปซูลท่องอวกาศ สเปซชิป เนปจูน (Neptune) โดยสามารถลงจอดกลางทะเลแบบไร้ลูกเรือได้สำเร็จ 


แคปซูลตัวนี้ ออกแบบโดยเน้นเรื่องความยั่งยืนเป็นหลัก โดยข้อมูลบนเว็บไซต์ของบริษัทระบุว่า ตัวแคปซูลจะใช้เทคโนโลยีการลอยตัวสูงขึ้นจากพื้นโลกด้วยบอลลูนอวกาศ ซึ่งขับเคลื่อนด้วยก๊าซไฮโดรเจนแบบหมุนเวียน ปราศจากการใช้จรวดและระบบขับเคลื่อนอื่น ๆ ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก 


แคปซูลจะลอยขึ้นไปที่ระดับความสูงราว 30 กิโลเมตรเหนือผืนดิน ซึ่งถึงแม้จะยังไม่ถึงเส้นแบ่งพรมแดนอวกาศ หรือ เส้นคาร์แมน (Karman Line) ที่ระดับความสูง 100 กิโลเมตร แต่ด้วยความสูงดังกล่าว ก็เพียงพอที่จะทำให้นักท่องเที่ยว มองเห็นความโค้งของโลกและความมืดมิดของอวกาศได้


แต่ละเที่ยวบินจะใช้เวลาในการเดินทาง 2 ชั่วโมง เพื่อขึ้นสู่ระดับความสูง และจะใช้เวลาลอยนิ่ง ๆ เพื่อชมบรรยากาศอีกประมาณ 2 ชั่วโมง และใช้เวลาในการค่อย ๆ ปล่อยก๊าซออกจากบอลลูน เพื่อให้แคปซูลร่อนลงจอดอีก 2 ชั่วโมง รวมแล้วใช้เวลาทริปนี้ทั้งสิ้นราว 6 ชั่วโมง


ซึ่งนอกจากความสำเร็จในการทดสอบเที่ยวบินขึ้นและลงจอดของแคปซูลแล้ว บริษัทยังประกาศความคืบหน้าของการก่อสร้าง มารีน สเปซพอร์ต วอยเอเจอร์ (Marine Spaceport Voyager) ซึ่งเป็นเรือที่จะใช้ในการปล่อยแคปซูล และลากแคปซูลกลับมาหลังจากร่อนลงจอดในมหาสมุทร


สำหรับแผนการต่อไป บริษัทกำลังเตรียมเที่ยวบินทดสอบพร้อมลูกเรือ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ตามด้วยเที่ยวบินเชิงพาณิชย์เที่ยวแรกในปี 2025 ส่วนใครที่สนใจ ตอนนี้บริษัทประกาศราคาค่าตั๋วออกมาเรียบร้อยแล้ว อยู่ที่คนละ 125,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 4 ล้านบาท 


ข้อมูลจาก newatlas

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง