รีเซต

อิหร่านสร้างระเบิดนิวเคลียร์ 1 ลูกได้ภายในเวลา 12 วัน

อิหร่านสร้างระเบิดนิวเคลียร์ 1 ลูกได้ภายในเวลา 12 วัน
TNN ช่อง16
1 มีนาคม 2566 ( 18:23 )
115



IAEA พบอิหร่านเสริมสมรรถนะยูเรเนียม 83.7%


สำนักข่าว AP เปิดเผยรายงานของทีมผู้สังเกตการณ์แห่งสหประชาชาติ ตรวจพบ “อนุภาค” ยูเรเนียมซึ่งถูกเสริมสมรรถนะ จนมีความบริสุทธิ์สูงถึง 83.7%  หรือเกือบเทียบเท่ากับยูเรเนียมที่ใช้ในการผลิตอาวุธนิวเคลียร์ที่ 90% โดยพบบริเวณฐานนิวเคลียร์ใต้ดิน Fordo 


อย่างไรก็ตาม รายงานของ IAEA นี้ กล่าวถึงการพัฒนา “อนุภาค” (particles) เท่านั้น  แต่ไม่ได้มีการเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียมในคลังทั้งหมดเกินกว่า 60%  ซึ่งระดับดังกล่าวเป็นระดับที่อิหร่านเคยประกาศไว้ก่อนหน้านี้ 


รายงานดังกล่าวจากทางทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ หรือ IAEA อาจทำให้ความตึงเครียดระหว่างอิหร่านและชาติตะวันตกในประเด็นโครงการนิวเคลียร์สูงขึ้นอีก หลังจากที่ต้องเผชิญกับการประท้วงอย่างหนักในประเทศในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ตลอดจนความโกรธขึ้งของชาติตะวันตก กรณีที่อิหร่านส่งโดรนให้รัสเซีย


อย่างไรก็ตาม อิหร่านได้ให้ข้อมูลกับทาง IAEA ว่า อนุภาคยูเรเนียมที่ถูกเสริมสมรรถนะสูง 83.7% นั้น มันเป็นความผันผวนที่ไม่ได้ตั้งใจ ที่อาจเกิดขึ้นในช่วงการเปลี่ยนผ่าน  และทั้ง IAEA และอิหร่าน กำลังอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อหาความกระจ่างในเรื่องนี้ 


IAEA รายงานว่า ต่อไปนี้จะเพิ่มความถี่และความเข้มข้นในการตรวจสอบเรื่องนิวเคลียร์ของอิหร่าน ที่ฐานนิวเคลียร์ดังกล่าว หลังจากที่ตรวจพบ 




อิหร่านสามารถสร้างระเบิดนิวเคลียร์ 1 ลูกได้ใน 12 วัน


เว็บข่าวเอเชียวัน รายงานในวันนี้ (1 มีนาคม) ดร. คอลลิน คาห์ล ปลัดกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ฝ่ายนโยบาย เปิดเผยต่อรัฐสภาสหรัฐฯ เมื่อวานนี้ (28 กุมภาพันธ์) ว่า อิหร่านสามารถสร้างวัสดุฟิสไซล์ได้มากพอ สำหรับสร้างระเบิดนิวเคลียร์ 1 ลูกได้ภายใน 12 วัน 


นับเป็นการประเมินที่ระบุระยะเวลาอย่างชัดเจนที่สุดของสหรัฐฯ และเป็นระยะเวลาลดลงอย่างมากจากการประเมินครั้งก่อนที่สหรัฐฯ เคยประเมินไว้ว่า ต้องใช้เวลานาน 1 ปี อิหร่านจึงจะทำเช่นนั้นได้ โดยสหรัฐฯ เคยประเมินไว้ในช่วงที่ข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านปี 2015 ยังมีผลบังคับใช้


คำกล่าวของปลัดกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ดังกล่าว เป็นการตอบคำถามในสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เมื่อวานนี้ หลังจากได้รับคำถามกดดันจากสส. พรรครีพับลิกันว่า เหตุใดรัฐบาลประธานาธิบดี โจ ไบเดน จึงพยายามจะฟื้นข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านปี 2015 ที่มีชื่อเรียกว่า แผนปฏิบัติการร่วมรอบด้าน หรือ JCPOA


โดยคาห์ล ซึ่งนับเป็นเบอร์ 3 ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ได้ตอบคำถามดังกล่าวว่า เป็นเพราะอิหร่านมีความก้าวหน้าด้านนิวเคลียร์อย่างมาก นับตั้งแต่รัฐบาลสหรัฐฯ ชุดที่แล้ว ได้ถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์ดังกล่าวไปในปี 2018 โดยในช่วงนั้น สหรัฐฯ ได้ประเมินไว้ว่า อิหร่านต้องใช้เวลาประมาณ 12 เดือน จึงจะสามารถสร้างระเบิดนิวเคลียร์ 1 ลูกที่ใช้วัสดุฟิสไซล์ได้สำเร็จ แต่มาถึงขณะนี้ อิหร่านสามารถจะทำเช่นนั้นได้ ภายในเวลาเพียง 12 วันเท่านั้น




สหรัฐฯ หวังฟื้นข้อตกลงนิวเคลียร์


สำหรับวัสดุฟิสไซล์ (fissile material) หมายถึงวัสดุที่สามารถรักษาปฏิกิริยาลูกโซ่นิวเคลียร์ฟิชชั่นอย่างต่อเนื่องได้และใช้เป็นเชื้อเพลิงนิวเคลียร์


เมื่อปี 2018 รัฐบาลสหรัฐฯ ชุดก่อนของอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ได้นำสหรัฐฯ ถอนตัวออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านปี 2015 ทำให้อิหร่านหวนกลับไปฟื้นงานด้านนิวเคลียร์ที่ถูกห้ามไว้ในข้อตกลงดังกล่าว จนทำให้ทั้งสหรัฐฯ เอง ยุโรป และอิสราเอล หวั่นกลัวว่า อิหร่านจะสามารถสร้างระเบิดนิวเคลียร์ได้สำเร็จ


พอมาถึงรัฐบาลประธานาธิบดีไบเดนในปัจจุบัน ได้พยายามจะฟื้นข้อตกลงดังกล่าวมาตลอด 2 ปีที่ผ่านมา แต่ก็ล้มเหลวมาตลอด

————

แปล-เรียบเรียง: เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์ และ ภัทร จินตนะกุล 

ภาพ: Reuters


ข้อมูลอ้างอิง: 

12



ข่าวที่เกี่ยวข้อง