รีเซต

บิ๊กป้อม โวผลงานแก้ค้ามนุษย์ไทยก้าวหน้า สมควรได้ขึ้นเทียร์ 2 ในรายงานทิปรีพอร์ต 65

บิ๊กป้อม โวผลงานแก้ค้ามนุษย์ไทยก้าวหน้า สมควรได้ขึ้นเทียร์ 2 ในรายงานทิปรีพอร์ต 65
มติชน
11 พฤษภาคม 2565 ( 13:31 )
53
บิ๊กป้อม โวผลงานแก้ค้ามนุษย์ไทยก้าวหน้า สมควรได้ขึ้นเทียร์ 2 ในรายงานทิปรีพอร์ต 65

เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม ที่ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในการเป็นประธานเปิดการประชุมชี้แจงแผนปฏิบัติการว่าด้วยกลไกการส่งต่อระดับชาติ การบริหารจัดการคดีและการช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ พ.ศ. 2565 และแถลงผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของไทย จัดโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ซึ่งมี นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.พม. นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ตลอดจนผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ว่า ผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของรัฐบาลในปี 2564 – มีนาคม 2565 รัฐบาลได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ตามข้อเสนอแนะสำคัญ 15 ข้อในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ของสหรัฐอเมริกา

พล.อ.ประวิตร กล่าวอีกว่า โดยมีผลความก้าวหน้าที่เป็นรูปธรรม ได้แก่ ด้านดำเนินคดีและบังคับใช้กฎหมาย อาทิ พัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านการสืบสวนและสอบสวนคดีค้ามนุษย์ นำแนวทางกลไกการส่งต่อระดับชาติ (NRM) มาใช้ในการคัดกรองเบื้องต้น และคัดแยกของทีมสหวิชาชีพ การให้บริการที่เพียงพอแก่บุคคลที่สันนิษฐานว่าเป็นผู้เสียหาย,

ด้านคุ้มครองช่วยเหลือ อาทิ จัดตั้งศูนย์คัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ณ สถาบันการสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อคุ้มครองชั่วคราวสำหรับผู้เสียหายหรือบุคคลที่มีเหตุอันควรเชื่อว่าเป็นผู้เสียหายจากการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ ลดระยะเวลาโดยเฉลี่ยในการคุ้มครองผู้เสียหายจาก 158 วัน ในปี 2563 เป็น 143 วัน ในปี 2564 เนื่องจากประสิทธิภาพของกระบวนการดำเนินคดีที่รวดเร็ว ให้อิสระผู้เสียหายในการเดินทางเข้า-ออกสถานคุ้มครองฯ และใช้เครื่องมือสื่อสาร พัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่สถานคุ้มครองทุกแห่งให้ใช้แนวทางการเขียนรายงานบาดแผลทางจิตใจ (Victim Impact Statement: VIS)

ด้านป้องกัน อาทิ ออกกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเลพ.ศ. 2565 โดยกำหนดให้นายจ้างต้องจัดทำสัญญาจ้างเป็นภาษาไทยและภาษาที่ลูกจ้างซึ่งเป็นคนต่างด้าวเข้าใจได้ ยกระดับศูนย์บัญชาการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงานให้มีสถานะเป็นหน่วยงานที่สามารถขับเคลื่อนการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงานได้อย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ เป็นต้น

นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ริเริ่มโครงการสำคัญเพิ่มเติม เพื่อยกระดับมาตรฐานการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์อย่างยั่งยืน อาทิ ออกมาตรการเชิงรุกด้านการป้องกันเด็กจากการค้ามนุษย์ อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานในช่วงสถานการณ์โควิด – 19 ที่มีการประกาศมาตรการล็อคดาวน์ ส่งผลให้อาชญากรรมต่างๆ ลดลงทุกประเภทในช่วงปี 2563 และ 9 เดือนแรกของปี 2564 และเมื่อรัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการในช่วงตุลาคม – ธันวาคม 2564 สามารถสืบสวนจับกุมคดีค้ามนุษย์ ได้ถึง 188 คดี ซึ่งสูงกว่าปี 2563 โดยเฉพาะคดีทางสื่อออนไลน์ และได้ปรับรูปแบบการทำงานเป็นแบบออนไลน์ ได้แก่ การคัดแยกผู้เสียหาย การประชุมค่าสินไหมทดแทน การพิจารณาคดีของศาล เป็นต้น

“จากผลการดำเนินงานดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงความพยายามอย่างชัดเจนของรัฐบาล ในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์อย่างยั่งยืน ดังนั้น ประเทศไทยสมควรได้รับการพิจารณาจัดอันดับดีขึ้น เป็นเทียร์ 2 ในปี 2565” พล.อ.ประวิตรกล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง