เจ้าหญิงลาติฟาแห่งดูไบ ขออังกฤษรื้อคดี "พี่สาว" ถูกอุ้มกลับ "ยูเออี" เมื่อ 20 ปีก่อน
เจ้าหญิงลาติฟาแห่งดูไบ - วันที่ 25 ก.พ. เดลีเมล รายงานว่า เจ้าหญิงลาติฟา มูฮัมเหม็ด อัล มักทูม พระธิดาใน ชีค โมฮัมเหม็ด บิน ราชิด อัล มัคทูม เจ้าผู้ครองนครดูไบ ทรงส่งจดหมายลับที่ทรงอักษรด้วยลายพระหัตถ์จากที่ควบคุมพระองค์ในดูไบ
เพื่อขอร้องให้ตำรวจอังกฤษรื้อการสอบสวนคดี เจ้าหญิงแชมซา พระชันษา 38 ปี พระเชษฐภคินี (พี่สาว) ที่ถูกลักพาตัวไปที่เมืองเคมบริดจ์ของอังกฤษ ตามพระบัญชาของพระบิดาเมื่อปี 2543
จดหมายของเจ้าหญิงรั่วไหลมาถึงสำนักข่าวบีบีซีระบุว่าทรงร้องขอความช่วยเหลือเพื่ออิสรภาพของของเจ้าหญิงแชมซาซึ่งทรงมีความผูกพันอย่างแน่นแฟ้นกับอังกฤษและทรงรักอังกฤษ
เจ้าหญิงลาติฟาทรงเปิดเผยว่าเจ้าหญิงแชมซาทรงถูกกักตัวโดยไม่ได้ติดต่อสื่อสารกับใคร ไม่รู้ว่าเมื่อใดจะได้รับการปล่อยตัว เพราะยังไม่มีการตั้งข้อหาหรือสอบคดีใดๆ ทั้งสิ้น
ด้านตำรวจเคมบริดจ์เชอร์ยืนยันว่าได้รับจดหมายของเจ้าหญิงลาติฟาและกำลังหาทางฟื้นการสอบสวน แต่ยอมรับว่าเป็นเรื่องซับซ้อนและจริงจังมาก จึงเปิดเผยรายละเอียดต่อสาธารณชนไม่ได้
เจ้าหญิงลาติฟาทรงลักลอบส่งจดหมาย หลังจาก สมเด็จพระราชินีนูร์แห่งจอร์แดน ทรงสอบถามรัฐบาลสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ถึงเจ้าหญิงแชมซาที่หายตัวไปโดยทรงสอบถามในฐานะที่ทรงเป็นคณะกรรมาธิการนานาชาติว่าด้วยบุคคลสูญหายและยังทรงเป็นพระญาติกับเจ้าหญิงอีกด้วย
ย้อนกลับไปขณะเกิดเหตุเมื่อกลางเดือน ก.ค. 2543 เจ้าหญิงแชมซา ทรงมีพระชนมายุ 19 ปี ทรงกริ้วพระบิดาที่ไม่ทรงอนุญาตให้เข้าเรียนมหาวิทยาลัยจึงหลบหนีเจ้าหน้าที่รักษาพระองค์ที่พระบิดาส่งมาดูแลความปลอดภัยและทรงขับรถหนีออกจากที่พักในเมืองเซอร์เรย์ของอังกฤษ
วันถัดมา เจ้าหน้าที่พบรถของพระองค์ถูกจอดทิ้งไว้และพบเพียงโทรศัพท์มือถือของเจ้าหญิง
เจ้าหญิงแชมซาประทับที่โรงแรมเล็กๆ แห่งหนึ่งทางตอนใต้ของกรุงลอนดอนประมาณ 2-3 สัปดาห์ ก่อนที่จะถูกคนของพระบิดาจับตัวได้ที่บาร์แห่งหนึ่งในเมืองเคมบริดจ์เพราะสืบเสาะเบาะแสความเคลื่อนไหวของพระองค์จากการดักฟังโทรศัพท์ของพระสหายคนหนึ่งของพระองค์
ต่อมา เจ้าหญิงทรงเขียนจดหมายว่าพระบิดามีพระบัญชาให้จับตัวพระองค์โดยให้สะกดรอยจากคนใกล้ชิดของพระองค์และส่งชายชาวอาหรับ 4 คนมาจับตัวพระองค์ ทั้ง 4 คนมีปืนและข่มขู่ระหว่างขับรถนำตัวพระองค์ไปที่ตำหนักในนิวมาร์เก็ต
พระองค์ถูกฉีดยาสลบและถูกบังคับให้เสวยยาอีกกำมือ เช้าวันต่อมา เฮลิคอปเตอร์ก็มารับพระองค์เพื่อขึ้นเครื่องบินส่วนพระองค์ของพระบิดากลับมาดูไบ
เรื่องนี้ไม่เคยเป็นข่าวให้สาธารณชนรับรู้ จนกระทั่งพระสหายคนหนึ่งของเจ้าหญิงแชมซาโทรศัพท์แจ้งตำรวจเคมบริดจ์เชอร์เมื่อเดือน มี.ค. 2544 ตำรวจจึงส่งคดีต่อไปยัง เดวิด เบ็ค หัวหน้าฝ่ายสืบสวนของเคมบริดจ์ในเวลานั้นและมีการสัมภาษณ์พระสหายหลายคน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของชีคอีกหลายคน
คดีนี้ไม่มีความคืบหน้าเพราะขาดหลักฐานที่เพียงพอที่จะดำเนินการต่อไป ส่วนเจ้าหญิงลาติฟาทรงหายตัวไปหลังจากเจ้าหญิงแชมซาหายตัวไปได้ 18 ปี เจ้าหญิงทั้งสองพระองค์ทรงมีพระมารดาพระองค์เดียวกัน คือ เจ้าหญิงฮูเรีย อาเหม็ด ลามารา จากแอลจีเรีย
เจ้าหญิงลาติฟาทรงพยายามหลบหนีจากนครดูไบเมื่อเดือน ก.พ. 2561 หลังจากแอบอัดคลิปวิดีโอเปิดโปงความสัมพันธ์ร้าวฉานกับพระบิดาว่าเคยถูกพระบิดาคุมขังนาน 3 ปีเพราะพยายามหลบหนีเมื่อปี 2545
แผนหลบหนีครั้งล่าสุด พระองค์จะขอลี้ภัยในสหรัฐอเมริกา โดยวางแผนหลบหนีทางเรือด้วยความช่วยเหลือจากอดีตสายลับชาวฝรั่งเศสโดยทรงเจ็ตสกีแล้วขึ้นเรือยอชต์ที่ลอยลำรออยู่กลางทะเล
หลังจากล่องทะเลอินเดียได้ 8 วัน หน่วยคอมมานโดอินเดียบุกขึ้นเรือพร้อมขว้างระเบิดและแก๊สน้ำตาใส่บนเรือ พระองค์ตรัสว่า “กำลังอยู่ในน่านน้ำสากล จะจับพระองค์ไม่ได้” แต่ไม่เป็นผลเพราะพระองค์ถูกวางยาสลบและเมื่อฟื้นขึ้นมาก็ถึงนครดูไบแล้ว
พระองค์ทรงเปิดใจในคลิปวิดีโอว่าทรงเป็นเชลยและวิลลากลายเป็นคุก หน้าต่างถูกปิดหมด ไม่เห็นแสงอาทิตย์ ไม่เคยสูดอากาศบริสุทธิ์ โดยมีตำรวจ 5 นายอยู่นอกบ้าน ส่วนอีก 2 นายอยู่ในบ้าน
เจ้าหญิงยังทรงเปิดเผยว่าพระบิดาทรงสั่งให้ยาเสพติดและทรมานพระองค์ รวมทั้งไม่อนุญาตให้พระองคับรถ ไม่มีหนังสือเดินทางและถูกติดตามจากเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย
แต่ระหว่างที่ถูกกักขังในวิลลา มีคนลอบเอาโทรศัพท์มือถือเข้าไปให้ พระองค์จึงใช้อัดคลิปวิดีโอหลายคลิปซึ่งบันทึกไว้เมื่อปี 2562 โดยแอบอัดคลิปในห้องน้ำ บางครั้ง เจ้าหญิงติดต่อกับพระสหายสนิท ทีน่า เยาฮีไอเนน ครูสอนฟิตเนสชาวฟินแลนด์และเป็นหนึ่งในทีมคิดแผนหลบหนีทางเรือ
ทีน่ากล่าวกับบีบีซีว่าเจ้าหญิงดูซีดมาก คงไม่เคยสัมผัสถูกแสงอาทิตย์มานานหลายเดือนและตามปกติแล้ว พระองค์ทำได้แค่ออกนอกห้องนอนไปห้องครัวแล้วก็เดินกลับเข้าห้องนอนเท่านั้น
สำหรับความคืบหน้าด้านคดี เมื่อปีที่แล้ว ศาลสูงลอนดอนพบว่าชีคโมฮัมเหม็ดทรงสั่งให้ลักพาตัวและบังคับพาตัวเจ้าหญิงลาติฟากลับมาดูไบทั้ง 2 ครั้ง เมื่อปี 2545 และ 2561
ส่วนคณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการของสหประชาชาติเรียกร้องให้เปิดการสอบสวนคดีเจ้าหญิงลาติฟาที่ถูกลักพาตัวซึ่งพระองค์ทรงหวังว่าคลิปวิดีโอจะช่วยให้โลกภายนอกรับรู้ว่าพระองค์ทรงถูกกักขัง สูญสิ้นอิสรภาพโดยไม่ยินยอม