รีเซต

APEC 2022 พร้อมจัดงานแสดงต้อนรับผู้นำเอเปค ถ่ายทอดความเป็นไทย

APEC 2022 พร้อมจัดงานแสดงต้อนรับผู้นำเอเปค ถ่ายทอดความเป็นไทย
TNN ช่อง16
17 พฤศจิกายน 2565 ( 15:27 )
78
APEC 2022 พร้อมจัดงานแสดงต้อนรับผู้นำเอเปค ถ่ายทอดความเป็นไทย

กระทรวงวัฒนธรรม พร้อมนำเสนอ Soft Power ผ่านการร้อยเรียงวัฒนธรรมไทย ถ่ายทอดในรูปแบบการแสดงประเพณีดั้งเดิม และการแสดงร่วมสมัย ในงานเลี้ยงรับรองผู้นำเขตเศรษฐกิจ APEC 2022 ผ่านการแสดงแสง สี เสียง อันเกี่ยวเนื่องกับ "สายน้ำ" 

ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นเชื่อมโยงทุกเขตเศรษฐกิจเข้าด้วยกันสู่ความสมดุล อาทิ ลอยกระทง ลอยกระทงสาย และไหลเรือไฟ พร้อมการแสดงโขน การแสดงหนังใหญ่ การแสดงหุ่นละครเล็ก การแสดงพื้นบ้าน งานฝีมือ สาธิตทำขนมไทย และเรื่องของการละเล่นต่างๆ ของไทย ณ หอประชุมกองทัพเรือ

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) กล่าวว่า ตามที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค 2022 ระหว่างวันที่ 14 – 19 พฤศจิกายน 2565 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และหอประชุมกองทัพเรือ โดยรัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ดำเนินกิจกรรมการแสดงสำหรับการจัดงานเลี้ยงรับรองการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2565 ณ หอประชุมกองทัพเรือ นั้น 

กระทรวงวัฒนธรรมได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ อาทิ วงดุริยางค์จาก 4 เหล่าทัพ กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมถึงหน่วยงานภายในสังกัดวธ. ไม่ว่าจะเป็น สำนักการสังคีต กรมศิลปากร และสถาบันบัณฑิตพัฒศิลป์ จัดการแสดงภายใต้แนวคิดหลักของการจัดงาน APEC Thailand 2022 คือ “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล Open Connect Balance” ร้อยเรียงเรื่องราวอันงดงาม ถ่ายทอดเป็นผลงานการแสดงทางศิลปวัฒนธรรมที่งดงามประกอบฉาก แสง สี เสียง

OPEN TO ALL OPPORTUNITIES เป็นการบรรเลงบทเพลงโดยวงดุริยางค์ 4 เหล่าทัพ พร้อมวงดนตรีไทยร่วมสมัยกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ประกอบกับการขับร้องเพลงโดยศิลปินระดับแนวหน้าของไทย ได้แก่ เบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์ , ต๊งเหน่ง รัดเกล้า อามระดิษ , วิน วศิน พรพงศา , ปุ้ย ดวงพร พงศ์ผาสุก และกิต กิตตินันท์ ชินสําราญ ร่วมขับร้องบทเพลงพระราชนิพนธ์ บทเพลงไทย เพลงสากล และเพลงร่วมสมัย 

CONNECT IN ALL DIMENSIONS การแสดงแฟชั่นโชว์ผ้าไหมไทยร่วมสมัยจากดีไซน์เนอร์เขตเศรษฐกิจเอเปคทั้ง 21 เขต 

BALANCE IN ALL ASPE CTS ประกอบด้วย การร้อยเรียงศิลปวัฒนธรรมถ่ายทอดในรูปแบบการแสดงประเพณีดั้งเดิม และการแสดงร่วมสมัย ภายใต้แนวคิดหลักของการประชุม “Open. Connect. Balance.” และตราสัญลักษณ์ สำหรับการประชุม “ชะลอม” 

ผ่านการแสดงจากภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ ภาคกลาง ประกอบกับ “ประเพณีลอยกระทง” ของประเทศไทยอันเกี่ยวเนื่องกับการแสดงความเดารพบูชา “สายน้ำ” เป็นจุดเริ่มต้นที่เชื่อมโยงทุกเขตเศรษฐกิจเข้าด้วยกันสู่ความสมดุล

การแสดงทางศิลปวัฒนธรรมแสดงถึงคุณค่าความงดงามจากท้องถิ่นสู่ระดับนานาชาติ อาทิ 

การแสดงภาคเหนือ การฟ้อนร่ม การแสดงกิงกะหร่า เต้นโต 

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หน้ากากผีตาโขน บ่าวขาลาย ถือหางนกยูง ฟ้อนภูไท เซิ้ง ถือบั้งไฟ เชิดพญานาค สะท้อนถึงความสนุกสนานรื่นเริง 

ภาคใต้ โนรา ซึ่งได้รับการยกย่องเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ จาก UNESCO หนังตะลุง ตารีบุหงา 

ภาคกลาง จะมีการแสดงโขน เป็นศิลปะการแสดงชั้นสูงของไทยที่มีความสง่างาม อลังการและอ่อนช้อย 

ปิดท้ายค่ำคืนด้วยบรรยากาศเทศกาลลอยกระทง สัมผัสประสบการณ์การลอยกระทง รับชมการจัดแสดงประเพณีที่เกี่ยวเนื่องกับสายน้ำของไทย ไม่ว่าจะเป็น ลอยกระทง ลอยกระทงสาย และไหลเรือไฟ ในแม่น้ำเจ้าพระยาแม่น้ำสายสำคัญของไทย

ถือเป็นโอกาสสำคัญที่ไทยจะแสดงให้ผู้นำเขตเศรษฐกิจได้เห็นถึงความงดงามของศิลปวัฒนธรรมและสถานที่อันสวยงามของประเทศไทย ผ่านงาน Soft Power ให้เกิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ สร้างชื่อเสียงและภาพลักษณ์ที่ดีของไทยในระดับเวทีโลก



ภาพจาก กระทรวงวัฒนธรรม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง