รีเซต

เตือนพิษ "ด้วงก้นกระดก" ทำผิวหนังอักเสบ พบมากในฤดูฝน

เตือนพิษ "ด้วงก้นกระดก" ทำผิวหนังอักเสบ พบมากในฤดูฝน
TNN Health
11 ตุลาคม 2564 ( 16:28 )
380

แพทย์ผิวหนัง แนะนำวิธีรักษาและป้องกันพิษจาก “ด้วงก้นกระดก” อย่างถูกวิธี เตือนอย่าตบหรือตีตัวแมลงโดยตรง ทำลายเซลล์เนื้อเยื่อผิวหนังได้


ด้วงก้นกระดก มีชื่อเรียกอื่นๆ เช่น แมลงก้นกระดก ด้วงกรด หรือแมลงเฟรชชี มีตัวเต็มวัยสีดำสลับส้ม ยาว 5-7 มิลลิเมตร หัวสีดำ อกแบนยาว ท้องมีปล้องสีส้มอมน้ำตาลและสีดำ ชอบเล่นไฟนีออน แต่ไม่ชอบไฟจากหลอดไฟใส้ พบมากในช่วงฤดูฝน บินได้เร็วและว่องไว เวลาวิ่งจะยกปลายท้องกระดกตั้งขึ้นคล้ายแมงป่อง จึงได้ชื่อว่า “ด้วงก้นกระดก” ในท้องของแมลงจะมีสารพิษ ชื่อ “พีเดอริน” มีฤทธิ์เป็นกรดอ่อน สามารถทำลายเซลล์เนื้อเยื่อผิวหนังได้ โดยตัวเมียจะมีปริมาณสารพิษมากกว่าตัวผู้


พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ อธิบายว่า อาการของผิวหนังอักเสบจากด้วงก้นกระดก ที่เกิดจากการสัมผัสสาร “พีเดอริน” ไม่ได้เกิดจากการกัด แต่เกิดจากการที่แมลงมาเกาะตามร่างกาย และเผลอปัดหรือบี้ ทำให้แมลงท้องแตกและสัมผัสกับสารพิษนั้น อาการจะมากหรือน้อยขึ้นกับปริมาณที่สัมผัส อาการจะไม่เกิดทันที แต่จะมีอาการหลังสัมผัส 8-12 ชั่วโมง


พบมากในบริเวณนอกร่มผ้า ลักษณะผื่นเป็นผื่นแดงหรือเป็นรอยไหม้ รูปร่างมักเป็นทางยาว ผื่นมีขอบชัดเจน ทิศทางหลากหลายตามรอยการปัด อาการคันมีมากแต่จะมีอาการแสบร้อน และมีตุ่มหนองขนาดเล็กเกิดขึ้นตามมา บริเวณใบหน้าและรอบดวงตาหรือผิวอ่อนๆ จะมีอาการรุนแรงมากกว่าที่อื่น ส่วนฝ่ามือมักจะเป็นที่สัมผัสสารพิษแห่งแรก กลับไม่ค่อยมีอาการเนื่องจากบริเวณนี้มีผิวหนากว่าผิวส่วนอื่น


ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง ให้คำแนะนำว่า เมื่อสัมผัสกับแมลงและสารพิษพีเดอริน ให้ล้างน้ำออกด้วยน้ำสะอาด ฟอกสบู่ ห้ามเกาเพราะจะทำให้ติดเชื้อซ้ำ ที่สำคัญเมื่อสัมผัสกับตัวแมลงมาเกาะตามร่างกาย อย่าตบหรือตีตัวแมลงโดยตรง แต่ให้เป่าหรืออาจใช้เทปกาวใสมาแปะตัวแมลงออกไป หากโดนสารพิษแล้วอาการไม่ดีขึ้นให้รีบไปพบแพทย์ทันที

—————

ที่มา: สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง