รีเซต

บล.เมย์แบงก์ เผยมุมมองกองทุน ในประเทศ-ตปท.ต่อหุ้น Bank

บล.เมย์แบงก์ เผยมุมมองกองทุน ในประเทศ-ตปท.ต่อหุ้น Bank
ทันหุ้น
11 พฤศจิกายน 2567 ( 18:31 )
2

#ทันหุ้น - บล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) มุมมองต่อหุ้นกลุ่มธนาคารไทย ไร้ปัจจัยบวกระยะสั้น ระบุในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ฝ่ายวิจัยได้ประชุมกับกองทุนในประเทศและต่างประเทศมากกว่า 15 ครั้ง ซึ่งนักลงทุนส่วนใหญ่มีมุมมองเป็นกลางและลดน้ำหนักการลงทุนในธนาคารไทย 

 

ทั้งนี้ เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังคงอ่อนแอ นักลงทุนเห็นด้วยกับฝ่ายวิจัยว่ากำไรไตรมาส 4/67 มีแนวโน้มจะลดลงจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ที่ลดลงและค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น นักลงทุนบางส่วนกังวลเรื่องคุณภาพสินทรัพย์ที่อ่อนแอและคาดการณ์การก่อตัวของหนี้เสีย (NPL) ที่สูงในกลุ่มธุรกิจขนาดเล็ก-ขนาดกลาง (SME) และกลุ่มลูกค้ารายย่อย นักลงทุนเชื่อว่ามาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ใหม่อาจช่วยลด NPL ของกลุ่มธนาคารได้เล็กน้อย แต่พวกเขาต้องการเห็นมาตรการที่ช่วยเพิ่มรายได้ของครัวเรือนมากกว่า 

 

ไม่มีปัจจัยกระตุ้น ยกเว้นเงินปันผลที่สูง

 

หัวข้อคำถามและคำตอบส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับการเติบโตของสินเชื่อ คุณภาพสินทรัพย์ และการบริหารจัดการเงินทุน ในแง่ของปัจจัยพื้นฐาน ธนาคารกำลังเผชิญแรงกดดันหลายด้านจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและหนี้ครัวเรือนที่สูง ฝ่ายวิจัยคาดว่าการเติบโตของสินเชื่อจะยังคงอ่อนแอ เนื่องจากธนาคารยังคงระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่ม SME และรายย่อย นอกจากนี้ ฝ่ายวิจัยเห็นว่าภาคการท่องเที่ยว (ซึ่งต้องการการลงทุนด้านเงินทุนน้อยกว่า) เป็นกลุ่มที่นำการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ในขณะที่กิจกรรมภาคการผลิตยังคงอ่อนแอ นักลงทุนมองว่าการเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) จากการบริหารจัดการเงินทุนเป็นปัจจัยกระตุ้นเชิงบวกเพียงอย่างเดียวสำหรับกลุ่มธนาคารไทย 

 

มุมมองบวกเล็กน้อย มาตรการผ่อนปรนหนี้

 

ธนาคารมีแผนที่จะอนุญาตให้ลูกหนี้จ่ายค่างวดรายเดือนเพียง 50% และเลื่อนการคิดดอกเบี้ย 3 ปี สำหรับหนี้ที่ค้างชำระตั้งแต่ 1-12 เดือน คาดว่าจะเริ่มใช้ในเดือนมกราคม 2568 กลุ่มเป้าหมายคือบุคคลที่มีสินเชื่อบ้านไม่เกิน 3 ล้านบาท สินเชื่อรถยนต์ไม่เกิน 700,000 บาท และสินเชื่อ SME ขนาดเล็กไม่เกิน 3 ล้านบาท ฝ่ายวิจัยมีมุมมองบวกกับมาตรการนี้เนื่องจากธนาคารสามารถลดการตั้งสำรองและรับดอกเบี้ยคืนจากกองทุน FIDF ได้ ทั้งนี้ เชื่อว่า SCB, TTB, KKP และ CREDIT จะเป็นธนาคารที่ได้รับประโยชน์จากมาตรการนี้ เนื่องจากมีสัดส่วนลูกหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือสูง  

 

KKP- KTB ยังคงเป็นหุ้นเด่นของฝ่ายวิจัย

 

KKP เป็นหุ้นเด่นในกลุ่มธนาคารขนาดกลางและเล็กของฝ่ายวิจัย โดยมีอัตราการเติบโตของกำไรต่อหุ้น (EPS) ในปี 68 สูงสุดที่ 24% ด้วยปัจจัยจาก (1) ผลขาดทุนจากการขายที่ลดลง (2) ต้นทุนทางการเงินที่ลดลง (3) การฟื้นตัวของรายได้ค่าธรรมเนียม และ (4) แผนการบริหารจัดการเงินทุนที่แข็งแกร่ง ทั้งนี้ คาดว่า KKP จะยังคงซื้อหุ้นคืนต่อไปเนื่องจากการหดตัวของสินเชื่อและ valuation ในปี 68 ที่ไม่แพง ขณะที่ในบรรดาธนาคารใหญ่  เลือก KTB เนื่องจากพอร์ตสินเชื่อที่มีความเสี่ยงต่ำ แนวโน้มกำไรเติบโตชัดเจน และแนวโน้ม ROE ที่ดีขึ้นจากอัตราการจ่ายเงินปันผลที่เพิ่มขึ้น

 

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง