รีเซต

ยุโรปเตรียมปล่อยดาวเทียมคู่สุดล้ำ ! เป้าหมายสำรวจโคโรน่าของดวงอาทิตย์

ยุโรปเตรียมปล่อยดาวเทียมคู่สุดล้ำ ! เป้าหมายสำรวจโคโรน่าของดวงอาทิตย์
TNN ช่อง16
9 มีนาคม 2567 ( 13:39 )
38
ยุโรปเตรียมปล่อยดาวเทียมคู่สุดล้ำ ! เป้าหมายสำรวจโคโรน่าของดวงอาทิตย์

องค์การอวกาศยุโรป (European Space Agency : ESA) เตรียมเปิดตัวภารกิจ โพรบา-3 (Proba-3) ซึ่งประกอบด้วยดาวเทียม 2 ดวง คือ ดาวเทียมโคโรน่ากราฟ และดาวเทียมออคคัลเตอร์ เป้าหมายเพื่อเดินทางไปสำรวจโคโรน่าของดวงอาทิตย์ 


โคโรน่าเป็นส่วนชั้นนอกสุดของดวงอาทิตย์ ปกติแล้วจะมองแทบไม่เห็น ทำให้ยากต่อการศึกษา เพราะมันถูกแสงสว่างอันเข้มข้นมากของดวงอาทิตย์บดบังอยู่ ซึ่งดาวเทียมทั้ง 2 ดวงนี้ถูกออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหานี้ คือ ดาวเทียมออคคัลเตอร์จะถูกจัดเรียงคู่ขนานเพื่อให้สร้างเงาบนดาวเทียมโคโรน่ากราฟ โดยลอยอยู่ห่างกันประมาณ 150 เมตร เหตุผลที่ต้องจัดเรียงดาวเทียมทั้ง 2 ดวงในลักษณะนี้นั่นก็เพราะบนดาวเทียมโคโรน่ากราฟมีเครื่องมือถ่ายภาพที่ออกแบบมาเพื่อสังเกตโคโรน่าของดวงอาทิตย์ แต่หากมันเจอแสงสว่างที่เข้มข้นมาก ๆ ของดวงอาทิตย์ ก็จะเกิดแสงสะท้อนจนทำให้ไม่สามารถจับภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ การที่มีเงาจากดาวเทียมออคคัลเตอร์บดบังแสงสว่างบางส่วนของดวงอาทิตย์และลดแสงสะท้อน และทำให้สังเกตเห็นโคโรน่าของดวงอาทิตย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 


นอกจากนี้ โพรบา-3 ยังถือว่าเป็นความก้าวหน้าด้านวิศวกรรม คือ กล้องถ่ายภาพและแผงโซลาร์เซลล์บนดาวเทียมโคโรนากราฟอยู่ห่างกันประมาณ 1 เมตร ทั้งนี้หากจะให้กล้องสามารถทำงานได้ดีต้องอยู่ในที่มืด ในขณะที่แผงโซลาร์เซลล์กลับต้องรับแสงสว่างได้เพียงพอ ดังนั้นระยะห่าง 1 เมตรถือว่าใกล้กันมาก แสดงให้เห็นว่าทีมงานมีความก้าวหน้าในการออกแบบให้ระบบการทำงานเป็นไปอย่างแม่นยำมาก แม้ว่าติดตั้งให้กล้องและแผงโซลาร์เซลล์อยู่ใกล้กัน แต่มันก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อกัน

การทำงานของภารกิจ Proba-3 ประกอบด้วยดาวเทียม 2 ดวงคือ ดาวเทียมโคโรน่ากราฟ และดาวเทียมออคคัลเตอร์

 


ดาวเทียมทั้ง 2 ดวงนี้จะทำงานควบคู่กันไปโดยจะโคจรรอบโลกเป็นรูปวงรี ตั้งแต่ระดับความสูง 600 - 60,000 กิโลเมตรเหนือพื้นโลก ทั้งนี้รัสเซลล์ โฮวาร์ด (Russell Howard) นักดาราศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ และเป็นนักวิทยาศาสตร์ในภารกิจนี้ ชี้ว่ากล้องในดาวเทียมทั้ง 2 ดวงไม่ได้ถือว่าคมชัดที่สุดเท่าที่เคยมีมา แต่โพรบา-3 มีรูปแบบการทำงานที่เป็นเอกลักษณ์ระหว่างดาวเทียมทั้ง 2 ดวง ดังนั้นแม้จะโคจรอยู่ห่างไกลจากดวงอาทิตย์ประมาณ 150 ล้านกิโลเมตร แต่ก็สามารถเก็บข้อมูลของโคโรน่าดวงอาทิตย์ในมุมกว้างได้อย่างเพียงพอต่อการทำความเข้าใจพลวัตและพฤติกรรมของมัน


นักวิทยาศาสตร์ต้องการศึกษาโคโรน่าของดวงอาทิตย์ เพื่อทำความเข้าใจดวงอาทิตย์ให้มากขึ้น รวมถึงบริเวณโคโรน่านี้ยังเป็นจุดที่ปล่อยมวลโคโรน่า (Coronal mass ejections หรือ CMEs) ซึ่งมันคือการปะทุครั้งใหญ่ของอนุภาค มีประจุที่กระตุ้นให้เกิดพายุสุริยะ ดังนั้นภารกิจนี้อาจให้ข้อมูลเชิงลึกที่มีคุณค่าเกี่ยวกับปรากฏการณ์สภาพอากาศในอวกาศ


ภารกิจโพรบา-3 มีศักยภาพในการปฏิวัติความเข้าใจของเราเกี่ยวกับพลศาสตร์ของแสงอาทิตย์ ซึ่งมีส่วนทำให้เกิดความก้าวหน้าในด้านฟิสิกส์แสงอาทิตย์และสภาพอากาศในอวกาศมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันแผนการของภารกิจนี้อยู่ในขั้นตอนรวมระบบขั้นสุดท้ายที่โรงงานของบริษัทด้านอวกาศอย่างเรดไวร์ (Redwire) ใกล้เมืองแอนต์เวิร์ป (Antwerp) ในประเทศเบลเยียม และตั้งเป้าปล่อยตัวเดือนกันยายน 2024 ด้วยยานส่งดาวเทียมโพลาร์ (Polar Satellite Launch Vehicle : PSLV) ในประเทศอินเดีย


ที่มาข้อมูล InterestingEngineering, ESA

ที่มารูปภาพ ESA

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง