รีเซต

สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์รับรักษาผู้ป่วยโรคภูมิคุ้มกันตัวเองทำลายสมอง

สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์รับรักษาผู้ป่วยโรคภูมิคุ้มกันตัวเองทำลายสมอง
PakornR
19 กันยายน 2563 ( 19:41 )
918
สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์รับรักษาผู้ป่วยโรคภูมิคุ้มกันตัวเองทำลายสมอง

กรมการแพทย์ โดยสถาบันประสาทวิทยา รับผู้ป่วยโรคภูมิคุ้มกันตัวเองทำลายสมองรักษาและดูแลอย่างใกล้ชิด เผยโรค Anti NMDA นี้ พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และช่วงอายุ 6-15 ปี

 

 

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า จากที่มีการส่งต่อในสื่อสังคมออนไลน์ขอความช่วยเหลือผู้ป่วยรายหนึ่งวัน 15 ปี ที่ป่วยด้วยโรค Anti NMDA หรือโรคภูมิคุ้มกันตัวเองทำลายสารสื่อประสาทในสมอง ล่าสุดได้รับรายงานจากผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา ว่าได้ประสานงานกับโรงพยาบาลต้นสังกัด เพื่อรับผู้ป่วยรายดังกล่าวเข้ามารักษาที่สถาบันประสาทวิทยาแล้ว อย่างไรก็ตามโรงพยาบาลเดิมที่ผู้ป่วยรักษาตัวอยู่นั้น แพทย์ได้ทำการดูแลรักษาอย่างดี และมีแพทย์เฉพาะทางระบบประสาทอยู่  แต่เพื่อความสบายใจของญาติผู้ป่วย สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ จึงขอรับรักษาผู้ป่วยและจะติดตามอาการของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดต่อไป  

 

 

นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา เปิดเผยว่า สถาบันประสาทวิทยา มีความยินดีที่จะรับรักษาผู้ป่วยรายดังกล่าว ที่พบว่าป่วยด้วยโรค Anti NMDA หรือโรคภูมิคุ้มกันตัวเองทำลายสารสื่อประสาทในสมอง เป็นโรคที่เกิดจากภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติ เข้าทำลายตัวรับสารสื่อประสาทที่มีชื่อว่า N-methyl-D-aspartate ซึ่งตัวรับสารสื่อประสาทนี้ มีหน้าที่ในการสั่งงานหรือใช้ในการตัดสินใจ การเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ และความจำ และสมองส่วนที่ควบคุมด้านอารมณ์และพฤติกรรม เป็นโรคสมองอักเสบที่เกิดจากภูมิคุ้มกันที่พบบ่อยที่สุด ในประเทศไทยเคยมีการเก็บข้อมูลในช่วงปี 2557-2559 โดยสถาบันประสาทวิทยาและโรงพยาบาลในสังกัดมหาวิทยาลัยและกระทรวงสาธารณสุข พบประมาณ 70 รายต่อปี โดยประมาณ 75% พบในช่วงอายุน้อยกว่า 20 ปี โดยช่วงอายุที่พบบ่อยที่สุดคือ 6-15 ปี พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ผู้ป่วยจะมีอาการต่าง ๆ เช่น มีพฤติกรรมก้าวร้าว เห็นภาพหลอน หรือมีอาการกรีดร้อง เมื่ออาการเป็นมากขึ้นอาจจะมีอาการชัก หรือมีการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ มีอาการเคี้ยวปาก มือบิดเกร็งไปมา บางรายที่มีอาการเคี้ยวปากจนกัดลิ้นหรือริมฝีปากตัวเอง แต่ก็ไม่สามารถควบคุมให้หยุดได้ หลังจากนั้นจะมีสัญญาณชีพที่ผิดปกติ เกิดจากระบบประสาทอัตโนมัติถูกทำลาย หัวใจอาจเต้นเร็วหรือผิดจังหวะ หรือเต้นช้ามากจนความดันโลหิตตก และอาจเสียชีวิตได้ถ้าไม่ได้รับการรักษา หากรักษาช้าสมองถูกทำลายไปมาก

 

สำหรับการรักษา จะเริ่มให้การรักษาด้วยยาสเตียรอยด์ขนาดสูงร่วมกับการทำเปลี่ยนถ่ายเลือด หรือให้ร่วมกับ immunoglobulin (IVIG) หลังจากนั้นอาจจำเป็นต้องได้ยากดภูมิคุ้มกันต่อเนื่องอีก 1-2 ปีเพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำ  สำหรับการเลือกใช้ระหว่าง plasma exchange หรือ IVIG นั้นขึ้นกับตัวคนไข้ เช่น ในผู้ป่วยเด็กการให้ IVIG อาจจะสามารถให้ได้สะดวกกว่าการเปลี่ยนถ่ายเลือด หากรักษาได้เร็วภายใน 2 สัปดาห์หลังมีอาการ มากกว่า 65% จะตอบสนองต่อการรักษาเป็นอย่างดี สามารถกลับไปใช้ชีวิต เรียนหนังสือ หรือทำงานได้ตามปกติ ภายใน 12 เดือน โดยในช่วงแรก ๆ ผู้ป่วยอาจจะยังมีพฤติกรรมที่ผิดปกติอยู่บ้าง แต่อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้น  ประมาณ 40% ของผู้ป่วยโดยเฉพาะในผู้หญิงจะพบร่วมกับเนื้องอกที่รังไข่ (ovarian teratoma) ซึ่งผู้ป่วยควรได้รับการตรวจจากสูตินารีแพทย์ทุกรายเพื่อหาเนื้องอกดังกล่าว สำหรับในผู้ชายจะพบเนื้องอกที่อัณฑะได้แต่น้อยกว่า ก็มีความจำเป็นต้องมีการตรวจเพิ่มเติมเช่นกัน ผู้ป่วยมีโอกาสกลับเป็นซ้ำได้ประมาณ 20-25% ในรายที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาสเตียรอยด์ร่วมกับการทำเปลี่ยนถ่ายเลือดหรือให้ IVIG อาจต้องให้ยาที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นซึ่ง ได้แก่ cyclophosphamide หรือ rituximab ซึ่งปัจจุบันการให้ยา rituximab เป็นที่แพร่หลายในต่างประเทศ เป็นยาที่มีประสิทธิภาพดีและค่อนข้างปลอดภัย

 

*******************************************

 

 

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง