รีเซต

ไขข้อสงสัย ‘ทางลักผ่าน’ จุดตัดทางรถไฟ ปมอุบัติเหตุ เกิดขึ้นได้อย่างไร

ไขข้อสงสัย ‘ทางลักผ่าน’ จุดตัดทางรถไฟ ปมอุบัติเหตุ เกิดขึ้นได้อย่างไร
TrueID
12 ตุลาคม 2563 ( 17:44 )
371

จากกรณีรถไฟชนรถบัส คณะทำบุญทอดกฐิน โดยเบื้องต้นส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 18 ราย และผู้บาดเจ็บอีกกว่า 30 ราย เหตุเกิดใกล้สถานีรถไฟคลองแขวงกลั่น ต.บางเตย อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นจุดตัดทางลักผ่าน เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 11 ต.ค.ที่ผ่านมา

 

และมีประเด็นที่มีการหยิบหยก พูดถึงเรื่องจุดตัดเครื่องกั้นทาง จำนวนจุดตัดทางรถไฟ ซึ่งรวมถึงจุดตัดทางรถไฟ ที่เป็นทางลักผ่าน สำหรับจุดตัดทางรถไฟที่พบเห็นในปัจจุบันนั้น จะแบ่งได้เป็น 4 ประเภท คือ จุดตัดทางรถไฟแบบต่างระดับ จุดตัดทางรถไฟแบบมีเครื่องกั้น จุดตัดทางรถไฟแบบควบคุมด้วยเครื่องหมายจราจร และจุดตัดทางรถไฟที่เป็นทางลักผ่าน

 

สำหรับคำว่า  ทางลักผ่าน (Illegal Crossing) ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้อธิบายเรื่องดังกล่าวอย่างน่าสนใจว่า  ทางลักผ่าน  คือ ทางตัดผ่านทางรถไฟที่เป็นทางเข้า-ออกประจำของเอกชนหรือผู้อยู่อาศัยบริเวณนั้น ๆ ผู้ทำทางตัดผ่านอาจจะเป็นประชาชนหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล

 

แต่ไม่ได้มีการขออนุญาตทำทางตัดผ่านจากการรถไฟแห่งประเทศไทยหรือไม่ได้รับอนุญาตจากการรถไฟแห่งประเทศไทย” จึงเป็นทางตัดผ่านที่ไม่มีการควบคุมด้านความปลอดภัย

 

ซึ่งในปัจจุบันนี้พบว่ามีจำนวนมากและยากต่อ การควบคุมให้อยู่ในมาตรฐานความปลอดภัยเมื่อพิจารณาค่าเฉลี่ยของการเกิดอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดทางรถไฟ พบว่า อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นประมาณร้อยละ 87 เป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบริเวณจุดตัดทางรถไฟที่ไม่มีเครื่องกั้น ได้แก่จุดตัดทางรถไฟประเภททางลักผ่าน และจุดตัดทางรถไฟที่ควบคุมด้วยเครื่องหมายจราจรเพียงอย่างเดียว

 

หากแต่สิ่งเดียวที่การรถไฟฯ มีขอบเขตในการป้องกันได้คือการติดตั้งป้ายเตือน และป้ายหยุด ก่อนข้ามทางรถไฟ แต่สิ่งป้องกันเหล่านั้นก็ป้องกันได้ไม่เต็ม 100% จากพฤติกรรมการใช้รถใช้ถนนของผู้ขับขี่ยวดยาน ซึ่งนอกจากจะเกิดอุบัติเหตุแล้ว รถไฟยังไม่สามารถทำความเร็วได้เสถียร ทำให้รถไฟล่าช้ากว่ากำหนดเวลา

 

(เพราะการคิดกำหนดเวลารถไฟ จะมีการกำหนดความเร็ว และใช้สูตรคณิตศาสตร์ในการคำนวน หากความเร็วไม่เสถียร จะส่งผลให้รถไฟวิ่งผิดจากเวลาที่คำนวนไว้)

 

ขอบคุณภาพจาก ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย

 

แล้วใครเป็นผู้ที่มีหน้าที่ทำเครื่องกั้นในจุดตัด????

ผู้มีหน้าที่ในการทำทางผ่านจุดตัดทางรถไฟ ความรับผิดชอบในค่าใช้จ่าย และการขออนุญาตก่อสร้างจุดตัดทางรถไฟ ความรับผิดในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ และการบังคับใช้กฎหมายทั้งก่อนและหลังเกิดอุบัติเหตุ

 

1. ผู้มีหน้าที่ในการทำทางผ่านจุดตัดทางรถไฟ ความรับผิดชอบในค่าใช้จ่าย และการขออนุญาตก่อสร้างจุดตัดทางรถไฟ

 

ในประเด็นแรกนี้มีปัญหาว่า เมื่อเกิดจุดตัดทางรถไฟขึ้นแล้ว บุคคลใดหรือหน่วยงานใดมีหน้าที่ลงทุนก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการขุดอุโมงค์ลอดทางรถไฟ การทำทางต่างระดับข้ามผ่านทางรถไฟ การทำเครื่องกั้น การติดตั้งสัญญาณแสงและสัญญาณเสียง ตลอดจนการดูแลขอบและไหล่ทางของทางรถไฟมิให้มีสิ่งปลูกสร้าง ต้นไม้ หรือหญ้าขึ้นสูงอันจะทำให้บดบังการมองเห็นการเคลื่อนตัวของรถไฟที่แล่นมายังจุดตัดทางรถไฟ

 

คำตอบในเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นผู้ทำทางรถไฟตัดผ่านถนนหรือที่ดินของบุคคลอื่น หรือในทางตรงกันข้ามบุคคลอื่นทำถนนตัดผ่าน ทางรถไฟที่มีอยู่แล้ว ในกรณีแรก หากการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นผู้ทำทางรถไฟตัดผ่านถนนหรือที่ดินของบุคคล
อื่น พระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟแลทางหลวง พระพุทธศักราช ๒๔๖๔ กำหนดว่า ….

 

การรถไฟแห่งประเทศไทยมีอำนาจทำทางผ่านเสมอระดับหรือลอดใต้หรือข้ามที่ดิน ถนน ทางรถราง แม่น้ำหรือลำคลอง และเมื่อทางรถไฟผ่านข้ามถนนสำคัญเสมอระดับ การรถไฟแห่งประเทศไทยต้อง วางรางคู่กำกับเพื่อให้มีช่องพอครีบล้อรถผ่านไปมาได้ กับให้ทำประตู หรือขึงโซ่ หรือทำราวกั้นขวางถนน หรือทางนั้น ๆ ตามที่เห็นสมควร

 

ทำให้เข้าใจได้ว่า เมื่อการรถไฟแห่งประเทศไทยมีหน้าที่จัดทำเรื่องดังกล่าว ความรับผิดชอบในเรื่องค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในการจัดทำจุดตัดทางรถไฟ ย่อมตกเป็นภาระแก่การรถไฟแห่งประเทศไทย

 

ในกรณีที่ 2 หากบุคคลอื่นเป็นผู้ทำถนนตัดผ่านทางรถไฟที่มีอยู่แล้ว

ซึ่งข้อเท็จจริงส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นมักเป็นกรณีที่หน่วยงานราชการ บริหารส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ทำถนนผ่านทางรถไฟเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในบริเวณนั้น แต่การทำช่นนั้นทำให้เกิดจุดตัดทางรถไฟ ที่ไม่ได้รับอนุญาตและเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก

 

 

ฉะนั้น ผู้ใช้รถใช้ถนนก็ควรระลึกถึงพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522

มาตรา 62 ในทางเดินรถตอนใดที่มีทางรถไฟผ่าน ถ้าปรากฏว่า

(1) มีเครื่องหมายหรือสัญญาณระวังรถไฟแสดงว่ารถไฟกำลังจะผ่าน
(2) มีสิ่งปิดกั้นหรือมีเจ้าหน้าที่ให้สัญญาณแสดงว่ารถไฟกำลังจะผ่าน
(3) มีเสียงสัญญาณของรถไฟหรือรถไฟกำลังแล่นผ่านเข้ามาใกล้อาจเกิดอันตราย ในเมื่อจะขับรถผ่านไปผู้ขับขี่ต้องลดความเร็วของรถและหยุดรถให้ห่างจากทางรถไฟไม่น้อยกว่าห้าเมตร เมื่อรถไฟผ่านไปแล้วและมีเครื่องหมายหรือสัญญาณให้รถผ่านได้ ผู้ขับขี่จึงจะขับรถผ่านไปได้

 

มาตรา 63 ในทางเดินรถตอนใดที่มีทางรถไฟผ่านไม่ว่าจะมีเครื่องหมายระวังรถไฟหรือไม่ ถ้าทางรถไฟนั้นไม่มีสัญญาณระวังรถไฟหรือสิ่งปิดกั้น ผู้ขับขี่ต้องลดความเร็วของรถและหยุดรถห่างจากทางรถไฟในระยะไม่น้อยกว่าห้าเมตร เมื่อเห็นว่าปลอดภัยแล้วจึงจะขับรถผ่านไปได้

 

Ref. พระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟแลทางหลวง พระพุทธศักราช ๒๔๖๔ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม, รายงานฉบับสมบูรณ์ : โครงการศึกษาจัดทำแผนแก้ไขอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดทางรถไฟกับถนนสำหรับรถไฟทางไกล, ๒๕๓๓

 

ข้อมูล : มติชน 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง