รีเซต

วันสุนทรภู่ 2566 เปิดผลงาน กวีเอกของโลก ผู้ได้รับการยกย่องจากยูเนสโก

วันสุนทรภู่ 2566 เปิดผลงาน กวีเอกของโลก ผู้ได้รับการยกย่องจากยูเนสโก
TNN ช่อง16
13 มิถุนายน 2566 ( 10:12 )
276
วันสุนทรภู่ 2566 เปิดผลงาน กวีเอกของโลก ผู้ได้รับการยกย่องจากยูเนสโก

วันสุนทรภู่ 2566 เปิดผลงานของ "สุนทรภู่" กวีเอกโลก ผู้ได้รับยกย่องจากยูเนสโก เจ้าของผลงานวรรณคดีชิ้นเยี่ยม พระอภัยมณี

วันสุนทรภู่ ตรงกับวันที่ 26 มิถุนายนของทุกปี พระสุนทรโวหาร นามเดิม ภู่ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า สุนทรภู่ (พ.ศ. 2329-2398) กวีไทยที่มีชื่อเสียงใน รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มีผลงานที่มีชื่อเสียงหลายเรื่องได้แก่ พระอภัยมณี นิราศพระบาท นิราศภูเขาทอง ได้รับยกย่องจากองค์การยูเนสโกเป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านงานวรรณกรรม เมื่อ พ.ศ. 2529


สุนทรภู่ เกิดในรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อวันจันทร์ เดือน 8 ขึ้น 1 ค่ำ ปีมะเมีย จุลศักราช 1148 เวลาเช้า 2 โมง (ตรงกับวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2329) ณ บริเวณด้านเหนือของพระราชวังหลัง (ซึ่งเป็นบริเวณสถานีรถไฟบางกอกน้อยปัจจุบันนี้) ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. 2398 รวมอายุได้ 69 ปี



ภาพจาก ผู้สื่อข่าวระยอง

 



ผลงาน สุนทรภู่ มีอะไรบ้าง


ผลงานประเภทนิราศ


- นิราศเมืองแกลง (พ.ศ. 2349) - แต่งเมื่อหลังพ้นโทษจากคุก และเดินทางไปหาพ่อที่เมืองแกลง
- นิราศพระบาท (พ.ศ. 2350) - แต่งหลังจากกลับจากเมืองแกลง และต้องตามเสด็จพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ไปนมัสการรอยพระพุทธบาทที่จังหวัดสระบุรีในวันมาฆบูชา
- นิราศภูเขาทอง (ประมาณ พ.ศ. 2371) - แต่งโดยสมมุติว่า เณรหนูพัด เป็นผู้แต่งไปนมัสการพระเจดีย์ภูเขาทองที่จังหวัดอยุธยา
- นิราศสุพรรณ (ประมาณ พ.ศ. 2374) - แต่งเมื่อครั้งยังบวชอยู่ และไปค้นหายาอายุวัฒนะที่จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นผลงานเรื่องเดียวของสุนทรภู่ที่แต่งเป็นโคลง
- นิราศวัดเจ้าฟ้า (ประมาณ พ.ศ. 2375) - แต่งเมื่อครั้งยังบวชอยู่ และไปค้นหายาอายุวัฒนะตามลายแทงที่วัดเจ้าฟ้าอากาศ (ไม่ปรากฏว่าที่จริงคือวัดใด) ที่จังหวัดอยุธยา
- นิราศอิเหนา (ไม่ปรากฏ, คาดว่าเป็นสมัยรัชกาลที่ 3) แต่งเป็นเนื้อเรื่องอิเหนารำพันถึงนางบุษบา
- รำพันพิลาป (พ.ศ. 2385) - แต่งเมื่อครั้งจำพรรษาอยู่ที่วัดเทพธิดาราม แล้วเกิดฝันร้ายว่าชะตาขาด จึงบันทึกความฝันพร้อมรำพันความอาภัพของตัวไว้เป็น "รำพันพิลาป" จากนั้นจึงลาสิกขา
- นิราศพระประธม (พ.ศ. 2385) - เชื่อว่าแต่งเมื่อหลังจากลาสิกขาและเข้ารับราชการในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ไปนมัสการพระประธมเจดีย์ (หรือพระปฐมเจดีย์) ที่เมืองนครชัยศรี
- นิราศเมืองเพชร (พ.ศ. 2388) - แต่งเมื่อเข้ารับราชการในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เชื่อว่าไปธุระราชการอย่างใดอย่างหนึ่ง นิราศเรื่องนี้มีฉบับค้นพบเนื้อหาเพิ่มเติมซึ่ง อ.ล้อม เพ็งแก้ว เชื่อว่า บรรพบุรุษฝ่ายมารดาของสุนทรภู่เป็นชาวเมืองเพชร

ประเภทนิทาน

เรื่องโคบุตร, เรื่องพระอภัยมณี, เรื่องพระไชยสุริยา, เรื่องลักษณวงศ์, เรื่องสิงหไกรภพ


ภาพจาก ผู้สื่อข่าวระยอง

 



ประเภทสุภาษิต

- สวัสดิรักษา คาดว่าประพันธ์ในสมัยรัชกาลที่ 2 ขณะเป็นพระอาจารย์ถวายอักษรแด่เจ้าฟ้าอาภรณ์
- สุภาษิตสอนหญิง เป็นหนึ่งในผลงานซึ่งยังเป็นที่เคลือบแคลงว่า สุนทรภู่เป็นผู้ประพันธ์จริงหรือไม่
- เพลงยาวถวายโอวาท คาดว่าประพันธ์ในสมัยรัชกาลที่ 3 ขณะเป็นพระอาจารย์ถวายอักษรแด่เจ้าฟ้ากลางและเจ้าฟ้าปิ๋ว

ประเภทบทละคร


- เรื่องอภัยณุรา ซึ่งเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 เพื่อถวายพระองค์เจ้าดวงประภา พระธิดาในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

ประเภทบทเสภา

- เรื่องขุนช้างขุนแผน (ตอนกำเนิดพลายงาม)
- เรื่องพระราชพงศาวดาร

ประเภทบทเห่กล่อม


แต่งขึ้นสำหรับใช้ขับกล่อมหม่อมเจ้าในพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ กับพระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เท่าที่พบมี 4 เรื่องคือ เห่จับระบำ, เห่เรื่องพระอภัยมณี, เห่เรื่องโคบุตร และเห่เรื่องกากี





ภาพจาก ผู้สื่อข่าวระยอง

 



ภาพจาก ผู้สื่อข่าวระยอง

 






ที่มา TNN Online รวบรวม /  เทศบาลเมืองม่วงงาม

ภาพจาก พิธภัณฑ์ในประเทศไทย / ผู้สื่อข่าวระยอง / TNN ช่อง 16

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง