รีเซต

หวั่นแรงงานภาคผลิต 6.1 ล้านราย เสี่ยงตกงานจากวิกฤตโควิด

หวั่นแรงงานภาคผลิต 6.1 ล้านราย เสี่ยงตกงานจากวิกฤตโควิด
มติชน
12 เมษายน 2563 ( 22:15 )
157

แรงงานภาคผลิต 6.1 ล้านราย เสี่ยงตกงาน เกษตรกร 12 ล้านราย อ่วมภัยแล้ง วอน 1.9 ล้านล.อุ้มเอสเอ็มอีจริง

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย กล่าวว่า ขณะนี้จะต้องติดตามแนวโน้มภาคการผลิตของไทยอย่างใกล้ชิด เพราะเริ่มเข้าสู่ภาวะอ่อนแอ โดยพบว่าเดือนกุมภาพันธ์ 2563 คลัสเตอร์อุตสาหกรรมหลัก 14 คลัสเตอร์ มีมูลค่าส่งออกติดลบต่อเนื่องนับจากสิ้นปีที่ผ่านมา อาทิ ยานยนต์และชิ้นส่วน คอมพิวเตอร์ ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก เครื่องนุ่งห่ม เหล็ก เครื่องสำอาง หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกยังคงยืดเยื้ออีก 1-2 เดือนข้างหน้า คาดว่าจะส่งผลกระทบให้กิจการใน 14 คลัสเตอร์ โดยเฉพาะกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอี อาจต้องปิดตัวลง ไม่อาจรักษาอัตรากำลังการจ้างงานได้

“ภาคการผลิตเฉลี่ยมีแรงงานประมาณ 6.1 ล้านคน ส่วนนี้ต้องพยายามประคอง เบื้องต้นอาจปิดกิจการและลดคนงานไปบ้างแต่ยังไม่มาก แต่หากโควิด-19 ในไทยและทั่วโลกยืดเยื้อจะเห็นผลกระทบเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันพบว่ามีแรงงานตกงานแล้วในคลัสเตอร์ท่องเที่ยวและภาคการบริการ ค้าปลีกห้างร้านต่างๆ มีตัวเลขระดับ 7 ล้านกว่าคน ”นายธนิตกล่าว

นายธนิต กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีแรงงานในภาคการเกษตรอีก 9 ล้านครัวเรือนหรือราว 12 ล้านคนที่อาจจะได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้งที่รุนแรงในปี 2563 ต้องติดตามใกล้ชิด เพราะในอดีตภาคการเกษตรของไทยเป็นส่วนสำคัญในการรองรับเด็กจบใหม่ และคนว่างงานจากภาคอื่นๆ ให้ไปทำงานเมื่อภาคอื่นเกิดปัญหา แต่ปีนี้ภาคเกษตรของไทยอ่อนแอเช่นกันจากปัญหาภัยแล้ง และได้รับผลกระทบจากการส่งออกที่ติดลบ สินค้าเกษตรที่เกี่ยวพันกับการส่งออก อาทิ ข้าว ปาล์ม มันสำปะหลัง

นายธนิต กล่าวว่า อย่างไรก็ตามรัฐบาลได้กำหนดมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบโควิด-19 ระยะ 3 ผ่าน 3 มาตรการวงเงิน 1.9 ล้านล้านบาทคิดเป็นสัดส่วนราว 10% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี)ที่นับว่าใกล้เคียงกับประเทศที่พัฒนาแล้วและครอบคลุมหลายสาขา แต่ในส่วนของภาคธุรกิจนั้นแม้รัฐจะมีมาตรการสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยที่ต่ำแต่หากในทางปฏิบัติยังคงยึดแนวทางปกติที่สถาบันการเงินยังคงเน้นความสามารถในการทำรายได้ เน้นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ธุรกิจที่เดือดร้อนจริงก็ไม่อาจเข้าถึงแหล่งเงินทุนดังกล่าวได้ เนื่องจากธนาคารยังคงเกรงปัญหาหนี้สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) ดังนั้นเป็นไปได้หรือไม่ที่รัฐจะมีการตั้งกองทุนขึ้นมาบริหารหนี้เสียดังกล่าว

“หากรัฐยังคงใช้วิธีปล่อยกู้แบบปกติก็เชื่อว่าเงินจะเข้าไม่ถึงธุรกิจที่เขาเดือดร้อนจริงๆได้ รัฐต้องปรับใหม่ให้เป็นการกู้แบบพิเศษ ให้บรรษัทประกันสินเชื่อขนาดย่อม(บสย.)ค้ำประกัน 40-50% ของวงเงินกู้ และหากมีปัญหาเอ็นพีแอล รัฐจะเข้ามาบริหารเหมือนกับที่เกิดวิกฤตปี 2540 แต่เน้นธุรกิจที่เดือดร้อนจริงๆเพื่อประคองให้อยู่รอดและรักษาแรงงาน “นายธนิตกล่าว

นายธนิต กล่าวว่า ทั้งนี้ผลกระทบโควิด-19 มีความรุนแรงมากกว่าวิกฤตปี 2540 ที่ทุกฝ่ายต้องเตรียมพร้อมรองรับมือเพราะผลกระทบนั้นเกิดขึ้นกับทุกภาคส่วนของระบบเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามแม้ว่าขณะนี้จีนจะมีสถานการณ์ที่ดีขึ้นมากแต่ภาพรวมการผลิตเองยังไม่ได้ฟื้นตัว 100% ขณะที่ยุโรป และสหรัฐฯ สถานการณ์ยังคงหนักอยู่ ดังนั้นภาพการส่งออกของไทยปี 2563 ยังคงติดลบ คาดว่าน่าจะติดลบ 8-10% ขึ้นอยู่กับว่าสถานการณ์จะยืดเยื้อไปมากน้อยเพียงใด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง