'กรมอนามัย' ชี้ PM2.5 ทำลายเยื่อโพรงจมูก ติดโควิดง่ายขึ้น! แนะสำรองหน้ากากอนามัย
ข่าววันนี้ 9 ธันวาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย แถลงถึงการเฝ้าระวังฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 ในประเทศไทย ว่า แม้ว่าการระบาดของโรคโควิด-19 ขณะนี้จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่เมื่อเข้าสู่เดือนธันวาคมของทุกปี ฝุ่น PM 2.5 เป็นอีกปัญหาที่เวียนมาตามฤดูกาล สธ.จึงต้องเน้นย้ำการป้องกันตนเอง เพื่อรับมือกับสถานการณ์ทั้งโควิด-19 และ ฝุ่น PM 2.5 ที่มาพร้อมๆ กัน จากผลสำรวจอนามัยโพล ประเด็นความกังวลต่อสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ช่วงเดือนธันวาคม พบว่า ส่วนใหญ่ของผู้ตอบแบบสำรวจมีความกังวลต่อโควิด-19 เล็กน้อยถึงปานกลาง โดยเรื่องที่กังวลมากที่สุด คือ การระบาดสายพันธุ์ใหม่โอไมครอน ร้อยละ 47 รองลงมาคือ กังวลการเปิดเมืองและการผ่อนคลายมาตรการอาจทำให้เกิดการระบาด ร้อยละ 10.5 และประชาชนการ์ดตก เช่น สวมหน้ากากไว้ใต้คาง ไม่เว้นระยะห่าง ไม่ล้างมือ เป็นต้น ร้อยละ 9.7
นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในประเทศไทย ตั้งแต่ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า ฝุ่น PM2.5 ในบางพื้นที่ของภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล เริ่มสูงขึ้นเกินเกณฑ์มาตรฐาน
“สำหรับวันนี้ มีจำนวน 5 พื้นที่ที่มีปริมาณ PM2.5 เกินมาตรฐาน ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรสาคร สมุทรปราการ พิจิตร และพิษณุโลก ส่วนการคาดการณ์ พบว่า ฝุ่นจะเริ่มสูงขึ้นอีกครั้งในช่วงปลายเดือนธันวาคม เนื่องจากสภาพอากาศนิ่ง ลมสงบ ทำให้ฝุ่นสะสมเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ภาพแนวโน้มฝุ่น PM 2.5 ตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม จะมีแรงลมจากฝั่งทะเลจีนใต้ ให้สถานการณ์ฝุ่นดีขึ้น ในภาคเหนือตอนบน-ตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน รวมถึง กรุงเทพฯ และปริมณฑล” นพ.สุวรรณชัย กล่าว
อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยสำรวจความวิตกกังวลหรือกลัวว่าฝุ่น PM2.5 จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ พบว่า ผู้ตอบมีความกังวลหรือกลัวว่าฝุ่น PM2.5 จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพเกือบ ร้อยละ 80 โดยเหตุผลที่กังวลมากที่สุด คือ กังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อสุขเด็กในระยะยาว รองลงมาคือ ทำให้โรคประจำตัวรุนแรงมากขึ้น และกังวลจะทำให้โควิด-19 ระบาดมากขึ้น โดยช่องทางสื่อสารที่ทำให้ทราบว่าช่วงใดมีปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ พบว่า กว่าร้อยละ 70 ทราบช่องทางในการรับรู้ โดยวิธีจากการสังเกต ติดตามเฟซบุ๊กหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ ข่าวสารทาง วิทยุ เสียงตามสาย หอกระจายข่าว อย่างไรก็ตาม การรับรู้สาเหตุการเกิดฝุ่น พบว่า กว่าร้อยละ 90 ทราบว่ามีสาเหตุจากที่ใด โดยผู้ที่ตอบว่ารู้ รู้ว่าส่วนใหญ่เกิดจากการจราจร โรงงานอุตสาหกรรม การเผาขยะ และการเผาพื้นที่ทางการเกษตร
“ทั้งนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างสถานการณ์ PM2.5 และการแพร่ระบาดของโควิด-19 พบว่า ในคนปกติ ฝุ่นจะทำให้เยื่อบุทางเดินหายใจอักเสบ เมื่อได้รับเชื้อโควิด-19 จะทำให้มีโอกาสติดเชื้อมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน ในกรณีผู้ป่วยโรคโควิด-19 หรือผู้ป่วยที่หายจากโรคโควิด-19 แล้ว เมื่อฝุ่น PM2.5 สูงขึ้น ในบางคน อาจมีอาการระคายคอ ไอมีเสมหะง่าย มีน้ำมูกง่ายขึ้นได้” นพ.สุวรรณชัย กล่าว
นอกจากนี้ นพ.สุวรรณชัย กล่าวถึงข้อแนะนำประชาชนถึงวิธีดูแลสุขภาพตนเองในสถานการณ์โควิด-19 และฝุ่น PM2.5 ว่า 1.ติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศก่อนออกจากบ้านผ่านแอพพลิเคชั่น Air4Thai 2.สำรองหน้ากากป้องกันฝุ่น เช่น หน้ากากอนามัย หรือหน้ากาก N95 3.ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำสะอาดให้มากๆ 4.กินอาหารครบ 5 หมู่ และเน้นผัก ผลไม้ ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ 5.ซ่อมแซมที่พัก ปิดช่องหรือรูตามขอบประตู หน้าต่าง เพื่อป้องกันฝุ่น PM2.5 จากภายนอกเข้ามา 6.ทำความสะอาดจุดที่สะสมฝุ่นภายในบ้าน เช่น กวาดถูบ้าน/ห้อง ล้างแอร์ ล้างพัดลม 7.วันที่ฝุ่นเกินค่ามาตรฐาน เลี่ยงทำกิจกรรมกลางแจ้ง 8.ผู้ที่มีโรคประจำตัว เตรียมยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ 9.สังเกตอาการผิดปกติ เช่น ไอบ่อย หายใจไม่ออก เจ็บหน้าอก ใจสั่น หรือเวียนศีรษะ ให้รีบไปพบแพทย์ และ 10.ช่วยกันลดฝุ่น เช่น งดการเผาในที่โล่ง ลดการใช้รถที่ปล่อยควันดำ ร่วมปลูกต้นไม้ เพื่อช่วยดักฝุ่นละออง
“ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามสถานการณ์ PM2.5 และการดูแลป้องกันตนเองผ่าน Line OA ที่ชื่อว่า One4U และ Website 4Health ได้ กรมอนามัย เน้นย้ำให้ทุกคน ให้ความสำคัญกับการสวมหน้ากาก เพื่อป้องกันทั้งโรคโควิด-19 และสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 เพื่อช่วยลดความเสี่ยงหรืออาการป่วยที่รุนแรง โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ทั้งเด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว” นพ.สุวรรณชัย กล่าว