รีเซต

พาณิชย์ผุดมิสเตอร์-มิสผลไม้ ดูแล 9 ชนิด ทั้ง ทุเรียน-มังคุด-เงาะ-ลำไย-ลิ้นจี่-มะม่วง

พาณิชย์ผุดมิสเตอร์-มิสผลไม้ ดูแล 9 ชนิด ทั้ง ทุเรียน-มังคุด-เงาะ-ลำไย-ลิ้นจี่-มะม่วง
ข่าวสด
18 เมษายน 2563 ( 19:55 )
37
พาณิชย์ผุดมิสเตอร์-มิสผลไม้ ดูแล 9 ชนิด ทั้ง ทุเรียน-มังคุด-เงาะ-ลำไย-ลิ้นจี่-มะม่วง

 

นางลลิดา จิวะนันทประวัติ รองโฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ มอบหมายให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ที่มีอยู่ 6 คน ทำหน้าที่เป็นมิสเตอร์ และมิสผลไม้ ดูแลและรับผิดชอบผลไม้จำนวน 9 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ ลำไย ลิ้นจี่ มะม่วง (ส่งออก) ลองกอง สับปะรด และมะพร้าว (ที่ใช้ทำกะทิ) โดยแบ่งการดูแลตามพื้นที่การตรวจราชการที่รับผิดชอบ เช่น หากท่านใดดูแลภาคตะวันออก ก็ให้ดูแลทุเรียน มังคุด หรือตรวจราชการพื้นที่ภาคเหนือก็ให้ดูแลลำไย ลิ้นจี่ เป็นต้น

สำหรับหน้าที่ของมิสเตอร์ และมิสผลไม้ จะเป็นผู้รับผิดชอบและดูแลผลไม้แต่ละชนิดตามที่ได้รับมอบหมาย ทั้งการติดตามสถานการณ์ผลผลิตที่จะออกสู่ตลาด การประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่าย ทั้งในประเทศและส่งออก และการเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหา กรณีที่มีปัญหาเกิดขึ้น เช่น กรณี ที่เกิดขึ้นกับมะม่วง ที่ไม่สามารถส่งออกได้ ก็ต้องเข้าไปช่วยประสานแก้ไขปัญหา ให้สามารถส่งออกได้ เป็นต้น

“หน้าที่ของแต่ละท่าน จะรับผิดชอบผลไม้แต่ละชนิดแบบครบวงจร ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ไปจนถึงปลายทาง โดยทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในระดับพื้นที่ คือ เกษตรกร ผู้ประกอบการรับซื้อผลไม้ ไปจนถึงผู้แปรรูป ผู้ส่งออก และต้องประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อแก้ไขปัญหา กรณีที่มีปัญหาเกิดขึ้น ซึ่งจะทำให้สามารถดูแลราคาผลไม้ให้เกษตรกรขายได้คุ้มกับต้นทุน และมีรายได้เพิ่มขึ้น”นางลลิดากล่าว

นางลลิดา กล่าวว่า นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานผลักดันผลไม้เข้าสู่ตลาดช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้มีการประชุมและสั่งการไปยังพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อให้เตรียมความพร้อมรับมือกับผลผลิตผลไม้ที่กำลังออกสู่ตลาดตั้งแต่ช่วงเดือนเม.ย. 2563 เป็นต้นไปแล้ว โดยได้ขอให้ลงพื้นที่สำรวจปริมาณผลผลิตจะออกเมื่อไร ปริมาณมากน้อยแค่ไหน สถานการณ์ด้านราคาเป็นยังไง การรับซื้อ การกระจายผลไม้เป็นยังไง โดยให้ทำงานใกล้ชิดกับมิสเตอร์ และมิสผลไม้ เพราะหากมีปัญหาหรืออุปสรรคเกิดขึ้น ก็จะได้เร่งแก้ไขได้อย่างทันท่วงที

นอกจากนี้ ให้เตรียมความพร้อมในการเร่งระบายผลไม้ออกจากแหล่งผลิต ทั้งการกระจายผ่านช่องทางต่างๆ เช่น ตลาด ห้างสรรพสินค้า ผู้แปรรูป และส่งออก เป็นการล่วงหน้า และให้ช่วยผลักดันให้เกษตรกรขายผลไม้ผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ ที่มีแพลตฟอร์มอยู่แล้ว เช่น ไปรษณีย์ไทย ลาซาด้า ช้อปปี้ จตุจักรมอลล์ เป็นต้น โดยต้องเข้าไปให้ความช่วยเหลือเกษตรกร ให้สามารถนำผลไม้เข้าไปจำหน่ายได้ ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการระบายผลไม้ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง