รีเซต

สื่อสารเพื่อเท่าทัน เลือกตั้ง 66 ด้วย "Big Sign ภาษามือคำศัพท์ทางการเมือง" ไทยพีบีเอสสร้างสรรค์

สื่อสารเพื่อเท่าทัน เลือกตั้ง 66 ด้วย "Big Sign ภาษามือคำศัพท์ทางการเมือง" ไทยพีบีเอสสร้างสรรค์
TeaC
11 พฤษภาคม 2566 ( 15:42 )
75
สื่อสารเพื่อเท่าทัน เลือกตั้ง 66 ด้วย "Big Sign ภาษามือคำศัพท์ทางการเมือง" ไทยพีบีเอสสร้างสรรค์

สื่อสารเพื่อเท่าทันและเท่าเทียม เลือกตั้ง 66 ด้วย "Big Sign ภาษามือคำศัพท์ทางการเมือง" ไทยพีบีเอสสร้างสรรค์เนื้อหาเพื่อคนหูหนวก 

 

เลือกตั้ง 66


บทบาทของสื่อสาธารณะของไทยพีบีเอสภายใต้ “ความมุ่งมั่นเป็นสถาบันสื่อสาธารณะ ที่สร้างสรรค์สังคมคุณภาพและคุณธรรม” ดำเนินการตามพันธกิจด้วยการผลิตรายการ ให้บริการข่าวสาร ความรู้ สาระบันเทิง ที่มีคุณภาพและมาตรฐาน ตามข้อบังคับด้านจริยธรรมขององค์กร เพื่อเผยแพร่ผ่านสื่อทุกแขนง โดยยึดถือผลประโยชน์สาธารณะและความคุ้มค่าเป็นสำคัญ “การเลือกตั้งทั่วไป 2566” เป็นช่วงเวลาที่คนไทยทุกคนจะต้องใช้สิทธิของตนเองอย่างมีคุณภาพเพื่อเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามแนวทางประชาธิปไตยที่ทุกคนมีเสียงเท่าเทียมกัน การสื่อสารเพื่อให้รู้เท่าทันข้อมูลข่าวสารการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นหนึ่งในพันธกิจของไทยพีบีเอสที่ต้องการส่งเสริมให้ทุกคนได้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง หนึ่งในบริการพิเศษที่ไทยพีบีเอสให้บริการมาอย่างต่อเนื่อง คือ “บริการภาษามือใหญ่เต็มจอ” หรือ Big Sign เป็นการสื่อสารผ่านบ่ามภาษามือจากสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย การเลือกตั้งครั้งนี้ จึงเกิดความร่วมมือในการผลิต “ภาษามือคำศัพท์ทางการเมือง” เพื่อให้เป็นชุดความรู้เกี่ยวกับคำศัพท์ทางการเมืองใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้ง 66 ครั้งนี้ ส่งตรงถึงกลุ่มคนหูหนวกรวมทั้งสร้างความเข้าใจร่วมกันของบุคคลทั่วไปอีกด้วย   

 

 

กว่าจะเป็นภาษามือคำศัพท์ทางการเมือง

 

จากข้อสังเกตที่เกิดขึ้นว่า เมื่อมีพรรคการเมืองใหม่ ๆ นักการเมืองชื่อใหม่ ๆ ตลอดจนคำศัพท์หรือภาษาที่ใช้ในการเลือกตั้ง66 เกิดขึ้นในการเลือกตั้งรอบนี้ ไม่เพียงที่คนทั่วไปจะต้องเริ่มทำความเข้าใจกลุ่มคนหูหนวกที่ใช้ “ภาษามือ” เป็นเครื่องมือในการสื่อสาร จึงต้องการคำอธิบายเพื่อขยายความในคำศัพท์นั้น ๆ รวมไปถึง “ล่ามภาษามือ” ที่ต้องทำหน้าที่สื่อสารผ่านช่องทางต่าง ๆ ย่อมต้องการแนวปฏิบัติในการใช้ภาษามือในรูปแบบเดียวกัน การร่วมกันสร้างภาษามือในคำศัพท์ทางการเมืองใหม่ ๆ จึงเกิดขึ้นร่วมกันโดย “สมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย” และ “องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย” หรือ ส.ส.ท. (ไทยพีบีเอส) ได้ประชุมร่วมกันเพื่อกำหนดท่าทางสำหรับการใช้สื่อสารในรูปแบบภาษามือ ให้ใช้เหมือนกันและตีความออกมาในความหมายที่เข้าใจตรงกัน

 

การเลือกตั้ง 66 ครั้งนี้ มีคำศัพท์ทางการเมืองใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นมา บางคำเป็นคำทั่วไปที่ถูกนำมาใช้ทางการเมืองซึ่งตีความหรือมีความหมายที่มีนัยยะแตกต่างไปจากการใช้ในบริบทปกติ อาทิ “งูเห่า” ความหมายโดยทั่วไปคงหมายถึงสัตว์เลื้อยคลานมีพิษ แต่เมื่อถูกนำมาใช้ทางการเมืองส่งผลต่อความหมายที่เปลี่ยนไป หรือคำว่า “แลนด์สไลด์” ไมได้หมายถึงดินถล่มตามสถานการณ์ภัยพิบัติ เนื่องจากเมื่อนำมาใช้ทางการเมืองจะสื่อความหมายไปในเชิงการชนะแบบถล่มทลาย การอธิบายด้วยภาษามือเพื่อให้คนหูหนวกเข้าใจความหมายทางการเมืองจึงมีความจำเป็นเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง อีกทั้งชื่อของนักการเมืองใหม่ ๆ การมีภาษามือที่ใช้แบบเดียวกัน เมื่อนำไปสื่อสารผ่านช่องทางต่าง ๆ ล่ามภาษามือจะสามารถยึดเป็นแนวทางเพื่อสื่อสารไปยังคนหูหนวกได้เหมือนกัน

 

สร้างมาตรฐานร่วมกันเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง

 

ขณะเดียวกัน นายวิทยุต บุนนาค นายกสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การเลือกตั้งทั่วไปในปี 2566 ทางสมาคมฯ ร่วมกับ ไทยพีบีเอส ให้ความสำคัญที่จะร่วมกันสร้างสรรค์คำศัพท์ภาษามือทางการเมืองใหม่ ๆ เพื่อสื่อสารให้กลุ่มคนหูหนวก, ล่ามภาษามือ รวมทั้งบุคคลทั่วไปที่สนใจภาษามือ ได้มีโอกาสได้เห็นและได้นำภาษามือที่ถูกต้องไปใช้ในแนวทางเดียวกัน โดยการทำงานและการกำหนดภาษามือแต่ละคำศัพท์นั้น ทางสมาคมฯได้จัดประชุมคณะกรรมการเพื่อกำหนดท่าทางการใช้ภาษาเพื่ออธิบายคำศัพท์ทางการเมืองใหม่ ๆ ร่วมกันอิงตามมาตรฐานการปฏิบัติหน้าที่ภาษา เพื่อสร้างเป็นมาตรฐานการสื่อสารผ่านภาษามืออย่างถูกต้องสมบูรณ์และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ร่วมกัน ในโอกาสนี้ต้องขอบคุณไทยพีบีเอสและ VIPA แพลตฟอร์ม OTT สัญชาติไทยที่ให้บริการ Big Sign ภาษามือใหญ่เต็มจอมาอย่างต่อเนื่องทั้งในเนื้อหารายการสารคดีหรือละครหลากหลายเรื่อง ซึ่งได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและความเท่าเทียมของคนหูหนวกในการติดตามข่าวสารเลือกตั้ง 2566 ในครั้งนี้ด้วย

 

 

 

ไทยพีบีเอส มุ่งพัฒนา Big Sign เพื่อเข้าถึงอย่างเท่าเทียม

 

ด้าน นางสาวกนกพร ประสิทธิ์ผล ผู้อำนวยการสำนักสื่อดิจิทัล องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ ไทยพีบีเอส เปิดเผยว่า ไทยพีบีเอสในฐานะสื่อสาธารณะ เป็นผู้ผลิตเนื้อหาคุณภาพส่งตรงถึงผู้รับสารทุกกลุ่มในสังคม รวมทั้งการสร้างความตระหนักของการสื่อสารผ่านภาษามือซึ่งเป็นการลดความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงเนื้อหา การทำงานร่วมกับล่ามภาษามือจากสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทยเพื่อสร้างมาตรฐานภาษามือคำศัพท์ทางการเมืองที่ถูกต้องนั้น นับเป็นพันธกิจหลักในการเปิดพื้นที่สื่อกลางแห่งการเรียนรู้ เพื่อส่งต่อข้อมูล ข่าวสาร สารประโยชน์ ให้กับกลุ่มคนหูหนวกได้เข้าถึงอย่างเท่าเทียม ไม่พลาดในทุกประเด็นการ

 

“บริการพิเศษ Big Sign ภาษามือใหญ่เต็มจอ เพื่อคนหูหนวก เป็นความมุ่งมั่นและตั้งใจของไทยพีบีเอสที่จะพัฒนาบริการนี้ให้สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่มีการกำหนดให้สื่อต้องดำเนินการ ไทยพีบีเอสไม่ได้มองเพียงแค่การทำให้ครอบคลุมตามเกณฑ์ที่กำหนด แต่เราต้องการให้คนทุกกลุ่มเกิดความรู้ ความเข้าใจที่เท่าทัน เท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ สามารถมีข้อมูลความรู้เพื่อการตัดสินใจผ่านการใช้สิทธิในการเลือกตั้ง66 ได้อย่างมีคุณภาพ ไม่เพียงการให้บริการภาษามือใหญ่เต็มจอเพื่อให้สามารถเลือกรับชมได้พร้อมกันกับคนทั่วไปเท่านั้น  ไทยพีบีเอส ยังพัฒนาบริการที่จะนำเสนอข่าวสารและความรู้ในการเลือกตั้ง 66 ผ่านบริการอ่านข่าวเลือกตั้งจากเสียงผู้ประกาศ AI รวมถึงในรูปแบบของ Podcast สำหรับคนตาบอดอีกด้วย” ผู้อำนวยการสำนักสื่อดิจิทัล กล่าวย้ำถึงบทบาทของไทยพีบีเอส เพื่อสื่อสารให้คนทุกกลุ่มมีความรู้ความเข้าใจอย่างเท่าเทียมกัน

 

สำหรับช่องทางการติดตามรับชมข้อมูลข่าวสารและเนื้อหาในการเลือกตั้ง66 ครั้งนี้ สามารถติดตามได้ทาง ไทยพีบีเอส ช่องหมายเลข 3 และทุกช่องทางออนไลน์ และในช่วงการเลือกตั้งครั้งนี้ผู้สนใจข่าวสารการเลือกตั้ง และต้องการติดตามข้อมูลการเลือกตั้ง ตลอดจนการรายงานผลคะแนนการเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค.2566 นี้ยังสามารถติดตามผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้ ดังนี้ 

 

  • เว็บไซต์เลือกตั้ง www.thaipbs.or.th/Election66
  • ช่องทางโซเชียลมีเดีย Thai PBS : Facebook, YouTube, Instagram, TikTok, และ LINE @ThaiPBS  
    .

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง