รีเซต

ภาคธุรกิจชี้อุ้มท่องเที่ยว ฝนตกไม่ทั่วฟ้า รายย่อยเข้าไม่ถึง แนะรัฐเพิ่มแรงจูงใจช่วยประคองธุรกิจ

ภาคธุรกิจชี้อุ้มท่องเที่ยว ฝนตกไม่ทั่วฟ้า รายย่อยเข้าไม่ถึง แนะรัฐเพิ่มแรงจูงใจช่วยประคองธุรกิจ
มติชน
7 กันยายน 2563 ( 15:04 )
56
ภาคธุรกิจชี้อุ้มท่องเที่ยว ฝนตกไม่ทั่วฟ้า รายย่อยเข้าไม่ถึง แนะรัฐเพิ่มแรงจูงใจช่วยประคองธุรกิจ

แม้ไทยจะคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ได้ แต่ดูเหมือนว่าทั่วโลกยังไม่บรรเทาเบาบางลง ดังนั้น การเดินทางท่องเที่ยวระหว่างกันจึงยังทำได้ยาก ประเทศไทยจึงต้องหันมาส่งเสริมไทยเที่ยวไทยแทน

 

“มติชน” จึงสัมภาษณ์พิเศษ ศุภฤกษ์ ศูรางกูร นายกสมาคมการค้าธุรกิจที่พักบูติกไทย เกี่ยวกับมาตรการท่องเที่ยวที่มีอยู่ในขณะนี้ว่าเพียงพอ ครอบคลุมแล้วหรือยัง

 

“ศุภฤกษ์” บอกว่า ขณะนี้รัฐบาลยังไม่อนุญาตให้มีการเดินทางระหว่างประเทศ ทำให้ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่มีเข้ามา ทุกอย่างยังเป็นศูนย์ ในส่วนของการท่องเที่ยวในประเทศ พบว่าเริ่มมีนักท่องเที่ยวในประเทศออกเดินทางเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ยังไม่มากเท่าที่ควรแม้รัฐบาลจะมีมาตรการออกมากระตุ้นเที่ยวในประเทศออกมา

 

⦁เพราะเหตุใดคนจองเที่ยวปันสุขใช้สิทธิจองห้องน้อย
อย่างโครงการเที่ยวปันสุข ซึ่งประกอบด้วยแพคเกจเราเที่ยวด้วยกัน และแพคเกจกำลังใจ โดยในส่วนของแพคเกจเราเที่ยวด้วยกัน ระยะเริ่มต้นให้สิทธิสนับสนุนโรงแรมที่พักจำนวน 5,000,000 ห้อง 1 สิทธิสามารถจองห้องพักได้ 5 ห้อง และช่วยส่วนต่างตั๋วเครื่องบินในอัตรา 40% ไม่เกิน 1,000 บาท ต่อมาเพิ่มจำนวนห้องพักเป็น 10,000,000 ห้อง 1 สิทธิสามารถจองห้องพักได้ 10 ห้อง และช่วยส่วนต่างตั๋วเครื่องบินในอัตรา 40% ไม่เกิน 2,000 บาท ซึ่งจากข้อมูลของภาครัฐ พบว่าจำนวนประชาชนที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการมีค่อนข้างมาก แต่คนที่ทำการจองห้องพักและชำระค่าห้องพักแล้วเสร็จมีจำนวนไม่มากนัก ล่าสุดยังไม่ถึง 1,000,000 ห้อง สิทธิจึงยังเหลือค่อนข้างมาก สาเหตุที่ทำให้สิทธิจองห้องพักยังเหลือจำนวนมาก มาจากการที่โรงแรมที่ได้อานิสงส์ในมาตรการนี้ส่วนใหญ่เป็นโรงแรมในพื้นที่ใกล้กรุงเทพฯ สามารถขับรถถึงที่หมายได้ภายใน 1-3 ชั่วโมง และขณะนี้คนส่วนใหญ่เริ่มกลับมาทำงานมากขึ้น วันธรรมดาจึงไม่สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ ส่วนมากนิยมและสะดวกเดินทางเที่ยวแค่เสาร์ถึงอาทิตย์เท่านั้น รวมถึงมีความกังวลเรื่องปัญหาเศรษฐกิจ ที่ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อ และไม่มั่นใจในเรื่องรายได้ของตนเอง ว่าจะอยู่คงที่หรือถูกลดลงมากน้อยเท่าใด จึงมองว่าหากสามารถประหยัดอะไรได้ ก็ประหยัดไว้ดีกว่า

 

นอกจากนี้ มองว่า การที่แพคเกจเราเที่ยวด้วยกัน ยังได้รับความนิยมน้อย เป็นเพราะโรงแรมส่วนใหญ่ที่เข้าสู่ระบบยังไม่ตอบโจทย์และน่าสนใจมากพอ โดยประเทศไทยมีโรงแรมประมาณ 10,000 แห่ง แบ่งเป็นโรงแรมที่เข้าร่วมโครงการกว่า 6,000 แห่ง ซึ่งเป็นโรงแรมที่มีขนาดใหญ่และอยู่ในเครือเดียวกัน ขณะที่คนไทยส่วนใหญ่นิยมเข้าพักในโรงแรมที่มีแนวคิด มีจุดเด่นที่ดึงดูดใจ และมีความแปลกใหม่ โดยโรงแรมเหล่านี้จะเป็นโรงแรมขนาดเล็ก และยังไม่มีใบอนุญาตในการประกอบกิจการ ซึ่งมีอยู่กว่า 100,000 แห่ง ส่วนใหญ่จะมีราคาไม่แพง และมีแนวคิดที่ถูกใจคนไทย ทำให้นักท่องเที่ยวที่สามารถจ่ายในราคาที่พอใจ และได้โรงแรมที่พักที่พอใจแล้ว ก็เลือกที่จะใช้บริการโรงแรมขนาดเล็ก แทนการใช้สิทธิผ่านเราเที่ยวด้วยกัน เพราะในเราเที่ยวด้วยกัน ไม่มีโรงแรมที่ตอบโจทย์แบบนี้ อาทิ การเข้าพักแพริมน้ำ ที่มีจุดเด่นใกล้ชิดธรรมชาติ มีความสวยงาม และมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบ ซึ่งแพริมน้ำเหล่านี้ ไม่สามารถจดทะเบียนได้แบบถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจากตามเงื่อนไขของการขอใบอนุญาต สิ่งก่อสร้างที่จะใช้จดทะเบียนจะต้องไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ แต่แพริมน้ำสามารถเคลื่อนที่ได้ อาทิ เต็นท์ที่พักเขาใหญ่ มีการสร้างแบบปักหลัก ยึดเป็นพื้นที่เฉพาะ ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับความนิยมจากคนไทย เพราะมีความแปลกใหม่ แตกต่างจากที่มีอยู่เดิม เป็นการหาประสบการณ์และเรื่องราวที่แตกต่างออกไป แต่ที่พักในรูปแบบนี้ไม่อยู่ในระบบเราเที่ยวด้วยกัน เพราะไม่ได้มีการจดทะเบียน ทำให้โครงการกระตุ้นท่องเที่ยวของภาครัฐ ยังไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของนักท่องเที่ยวได้อย่างแท้จริง จึงสะท้อนออกมาอย่างที่เห็นว่า มีโครงการกระตุ้นท่องเที่ยวแล้วกว่า 2 เดือน แต่จำนวนผู้เข้าร่วมโครงการยังอยู่ในหลักแสนเท่านั้น

 

⦁ต้องแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างไร
การแก้ไขวิกฤตอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ต้องยอมรับความเป็นจริงว่า โรงแรมส่วนใหญ่กว่า 90% เป็นโรงแรมที่ไม่มีใบอนุญาต ส่วนโรงแรมที่มีใบอนุญาตคิดเป็น 10% ของภาพรวมเท่านั้น แต่ทั้ง 10% นี้เป็นโรงแรมที่มีขนาดใหญ่ มีความมั่นคง และมีกระแสเงินสดที่แข็งแกร่ง หมายความว่าโรงแรมที่มีใบอนุญาตถือเป็นโรงแรมที่มีส่วนน้อยในภาพรวมอุตสาหกรรมโรงแรม หากมีมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ แต่รัฐบาลไม่อนุญาตให้โรงแรมส่วนน้อยที่มีกว่า 90% ของภาพรวม เข้าระบบเราเที่ยวด้วยกัน เท่ากับว่าภาครัฐเข้าไปช่วยเหลือโรงแรมส่วนน้อยที่มีความแข็งแกร่ง และมีความมั่นคงอยู่แล้ว ส่วนโรงแรมขนาดเล็กไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยา แต่ได้รับผลกระทบจากการระบาดไวรัสโควิด-19 ไม่แตกต่างกัน และเมื่อโรงแรมขนาดเล็กไม่ได้เข้าระบบเราเที่ยวด้วยกัน นักท่องเที่ยวที่มีกำลังใช้จ่ายสูงก็จะไปจองโรงแรมที่มีขนาดใหญ่ เท่ากับว่ารัฐไม่ได้ช่วยผู้ประกอบการตัวเล็กๆ แต่ทำให้เดือดร้อนหนักขึ้น เนื่องจากเป็นการแย่งลูกค้าของผู้ประกอบการขนาดเล็กไปให้ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ในระบบแทน

 

⦁ทำไมโรงแรมขนาดเล็กไม่เข้าระบบให้ถูกต้อง
“โรงแรมขนาดเล็กหลายราย ไม่ใช่ไม่อยากเข้าสู่ระบบ แต่เนื่องจากกฎหมายโรงแรมในปัจจุบันระบุให้จดทะเบียนภายใต้เงื่อนไขเดียวกันกับโรงแรมขนาดใหญ่ แม้โรงแรมขนาดเล็กจะมีห้องพักไม่กี่ห้องก็ตาม จึงมองว่ากฎหมายควรต้องปรับปรุงให้ทันสมัย และทันภาคธุรกิจมากขึ้น เนื่องจากต้องยอมรับว่า กฎหมายฉบับที่ใช้กันมามีความล้าสมัยมากพอสมควร โดยที่ผ่านมารัฐบาลก็มองเห็นปัญหาตรงนี้ ซึ่งเป็นปัญหาของความไม่เท่าเทียมระหว่างผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ที่จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขกฎหมายโรงแรมฉบับเดียวกัน ทั้งที่มีขนาดแตกต่างกันมาก โดยโรงแรมเล็กๆ เหล่านี้ ก็มีการเสียภาษีถูกต้องตามกฎหมาย เพราะมีการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ซึ่งเมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 ขึ้น ก็อยากให้รัฐบาลช่วยเหลือโรงแรมเหล่านี้ด้วย แม้จะไม่ได้จดทะเบียนก็ตาม”

 

ในระยะเริ่มต้นของแพคเกจเราเที่ยวด้วยกัน รัฐบาลมีแนวคิดที่จะอนุญาตให้โรงแรมขนาดเล็กที่ไม่ได้จดทะเบียน แต่มีการเสียภาษีถูกต้องตามกฎหมาย เข้าร่วมระบบเราเที่ยวด้วยกันได้ ซึ่งมีประกาศผ่านการอนุญาตจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ออกมา แต่ขณะนี้เป็นเวลากว่า 1 เดือนแล้ว ก็ยังไม่มีความคืบหน้าและการเคลื่อนไหวจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการนำโรงแรมขนาดเล็กเข้าสู่ระบบได้ออกมา จึงกลายเป็นแม้มีแนวคิดที่ได้รับการอนุญาตแล้ว แต่ในทางปฏิบัติกลับยังไม่เห็นความคืบหน้า ซึ่งผิดหลักปฏิบัติการแก้ไขปัญหาในยามวิกฤต เพราะการแก้ไขปัญหาในยามวิกฤตจะต้องเร่งช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง กลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อนมากที่สุด และมาแบบถูกที่ถูกเวลา

 

⦁การที่รัฐเพิ่มสิทธิใช้ห้อง-เพิ่มค่าเครื่องบินจะช่วยได้หรือไม่
การเพิ่มสิทธิทั้งห้องพัก 10 คืนต่อคน และตั๋วเครื่องบินไม่เกิน 2,000 บาท ประเมินว่าอาจช่วยให้เห็นการเดินทางระยะไกลมากขึ้น แต่คงไม่ได้ผลดีเท่าที่รัฐบาลคาดการณ์ไว้ เพราะปัญหาไม่ได้อยู่ที่จำนวนห้องพัก แต่อยู่ที่จำนวนวันหยุดและงบในการใช้จ่ายที่ค่อนข้างจำกัด เนื่องจากการให้จำนวนห้อง 10 คืนก็ไม่ได้หมายความว่า ผู้ที่ได้สิทธิจะสามารถพักได้ครบทั้ง 10 คืน โดยรัฐบาลอาจตีโจทย์ว่า ที่นักท่องเที่ยวยังใช้สิทธิจองที่พักน้อย เป็นเพราะได้จำนวนคืนน้อย ตรงนี้มองว่าไม่น่าจะใช่เหตุผลนั้น เนื่องจากความสามารถในการเดินทางท่องเที่ยวของคนไทยขึ้นอยู่กับวันหยุด และเงินในกระเป๋ามากกว่า แต่หากรัฐบาลมองกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มวัยที่ปลดเกษียณแล้ว อันนั้นน่าจะเห็นผลมากขึ้น เนื่องจากทั้งสองกลุ่มเป็นกลุ่มที่มีเวลาว่างและมีกำลังในการใช้จ่ายสูง โดยเชื่อว่าการเพิ่มวันหยุดยาว น่าจะตอบโจทย์การเดินทางท่องเที่ยวในระยะไกลมากขึ้น อาทิ การประกาศให้หยุดยาวในวันที่ 4-6 กันยายนนี้ จากที่ประกาศหยุดยาวรวมตั้งแต่วันที่ 4-7 กันยายนนี้และนำวันที่ 7 กันยายนที่เหลืออยู่ไปผนวกเข้ากับวันหยุดเสาร์และอาทิตย์ช่วงหยุดยาว 3 วัน 2 รอบ ซึ่งจะเป็นส่วนทำให้เกิดการกระจายการเดินทางและเพิ่มจำนวนการเดินทางมากขึ้น จึงอยากให้มีการกระจายวันหยุดให้ดีมากกว่านี้

 

การเดินทางของคนไทยยังนิยมเดินทางในระยะใกล้กรุงเทพฯและปริมณฑลเท่านั้น เป็นการขับรถ 1-3 ชั่วโมงถึงที่หมาย ส่วนการเดินทางในระยะไกลๆ ยังไม่ค่อยเห็นมากนัก แต่ยังคาดหวังว่าการเพิ่มส่วนต่างสนับสนุนค่าตั๋วเครื่องบินให้ในอัตราไม่เกิน 2,000 บาท น่าจะเห็นการเดินทางระยะไกลมากขึ้น โดยเฉพาะหากมีวันหยุดยาวเพิ่มจากวันเสาร์และอาทิตย์ เนื่องจากหากอาศัยเฉพาะวันหยุดเสาร์และอาทิตย์เท่านั้น การเดินทางในระยะไกลอาจจะไม่เพียงพอ เพราะมีข้อจำกัดของเวลาเดินทาง ทำให้หากถามว่าภาคการท่องเที่ยวในประเทศเป็นอย่างไรในขณะนี้ ก็ต้องบอกว่ายังแย่อยู่ และผู้ประกอบการส่วนใหญ่ก็ยังปิดกิจการอยู่ หรือหากเปิดก็เปิดเฉพาะบางส่วน ซึ่งจะใช้พนักงานน้อยลง ทำให้แม้จะเริ่มมีการเดินทางแล้วแต่ก็ยังฟื้นตัวน้อยมาก

 

⦁วันหยุดยาวจะหมดไปแล้วจากนี้ผู้ประกอบการจะทำอย่างไร
“หลังจากนี้วันหยุดยาวจะหมดแล้ว มีอีกทีไตรมาส 4 เลย มองว่าผู้ประกอบการบริษัททัวร์นำเที่ยวคงอยู่ไม่ได้ เพราะกิจกรรมในภาคท่องเที่ยวมีน้อยมาก ส่วนใหญ่การเดินทางก็เป็นการเดินทางเที่ยวเอง หากจะทำให้บริษัททัวร์อยู่ได้จะต้องกระตุ้นให้องค์กร บริษัท หรือภาครัฐมาใช้บริการท่องเที่ยวผ่านบริษัททัวร์ โดยรัฐบาลอาจจะมีแรงจูงใจอื่นๆ เพิ่มเติม อาทิ หากราชการออกเดินทางผ่านบริษัททัวร์ สามารถนำค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวมาหักภาษีได้กี่เท่าก็ว่าไป รวมถึงการจัดประชุมสัมมนาข้ามจังหวัด ในรูปแบบการใช้บริการผ่านบริษัททัวร์ หากสามารถทำได้แบบนี้ก็อาจจะเป็นการต่ออายุการปิดบริษัททัวร์ได้จำนวนมาก โดยขณะนี้ผู้ประกอบการบริษัททัวร์ไม่ได้คิดว่า ประกอบกิจการแล้วจะต้องมีกำไร แต่ต้องการที่จะมีกระแสเงินสดเข้ามาในแบบของการมีลูกค้าเพิ่มขึ้น เพื่อให้สามารถประคองตัวผ่านวิกฤตนี้ไปได้ และสามารถจ้างพนักงานของตัวเองไว้ได้ต่อไป เพราะไม่อย่างนั้นคงต้องปิดหมด เนื่องจากตอนนี้ผู้ประกอบการตลาดต่างชาติเที่ยวไทย (อินบาวด์) ปิดตัวกว่า 90% แล้ว ส่วนตลาดคนไทยไปเที่ยวนอก (เอาต์บาวด์) ก็ปิดตัวลงเกือบหมดเช่นกัน ตอนนี้จึงเหลือเพียงคนไทยเที่ยวในประเทศเท่านั้น แต่ก็เหลือบริษัทที่สามารถประกอบกิจการอยู่ได้เพียง 10-20% เพราะส่วนใหญ่ไม่มีรายได้เพียงพอในการจ้างพนักงานในบริษัทแล้ว”

 

⦁แนวคิดให้ข้าราชการ-รสก.เที่ยวจะช่วยได้หรือไม่
สำหรับแนวคิดการอนุญาตให้พนักงานราชการและรัฐวิสาหกิจ ออกเดินทางท่องเที่ยว ผ่านวันหยุดจำนวน 1-2 วันเพิ่มแบบไม่หักสิทธิวันลาหยุด มองว่าอาจมีส่วนช่วยกระตุ้นท่องเที่ยวได้ แต่หากจะให้บริษัททัวร์ได้รับอานิสงส์ด้วย รัฐจะต้องกำหนดว่า ข้าราชการ และรัฐวิสาหกิจจะต้องเดินทางท่องเที่ยวผ่านบริษัททัวร์ จึงจะได้รับวันหยุดเพิ่มแบบไม่หักจากจำนวนวันลา โดยการใช้บริการผ่านบริษัททัวร์นำเที่ยว มีประโยชน์มาก เพราะเป็นตัวกลางในการกระจายรายได้ให้กับโรงแรม บริษัทรถบัส ร้านอาหาร ร้านขายของฝาก และกิจกรรมต่อเนื่องอื่นๆ อาทิ รถสองแถวขึ้นดอย เรือข้ามฝาก รวมถึงการพาเข้าแหล่งท่องเที่ยวตามชุมชนต่างๆ ซึ่งหากไปเที่ยวเอง อาจไม่สามารถเดินทางไปในแหล่งท่องเที่ยวชุมชน หรือรู้ว่าควรไปเที่ยวสถานที่ใด และอาจเที่ยวกันแค่ในเมืองเท่านั้น โดยมองว่าพนักงานราชการและรัฐวิสาหกิจ ไม่ได้เดือดร้อนจากวิกฤตนี้ เนื่องจากมีเงินเดือนตรงตามกำหนด และไม่มีการจ่ายเงินเดือนล่าช้า ทำให้หากกระตุ้นให้กลุ่มคนเหล่านี้ออกมาจับจ่ายใช้สอยเพิ่ม ก็จะสามารถหมุนเวียนเศรษฐกิจได้มากขึ้นด้วย

 

⦁ต้องคลายเงื่อนไขแพคเกจกำลังใจหรือไม่
ส่วนแพคเกจกำลังใจ ที่ให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจําหมู่บ้าน (อสม.) อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตําบล (รพ.สต.) จำนวน 1.2 ล้านคน ลงทะเบียนรับสิทธิเที่ยวฟรี โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐจำนวน 2,000 บาท ซึ่งได้เปิดให้ อสม. อสส. และ รพ.สต.เริ่มเดินทางตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยกำหนดให้เดินทางท่องเที่ยวผ่านบริษัททัวร์นำเที่ยว ขณะนี้มีผู้ใช้บริการเพียง 10,000 รายเท่านั้น จากจำนวนทั้งหมด 1.2 ล้านคน ซึ่งถือว่าไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ สาเหตุอาจเป็นเพราะมีความซับซ้อนในการจอง หรือขั้นตอนและกระบวนการลงทะเบียน รวมถึงราคาที่รัฐสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยวจำนวน 2,000 บาท ต่อการเที่ยว 2 วัน 1 คืน ถือว่าอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ ทำให้บริษัททัวร์นำเที่ยวสมัครเข้าร่วมโครงการเพียง 1,000 แห่งเท่านั้น จากทั้งหมดกว่า 10,000 แห่ง “ต้องยอมรับว่า หากทำไปแล้วได้ไม่คุ้มเสีย การไม่ทำก็น่าจะดีกว่า เพราะถามว่าบริษัททัวร์อยากได้ลูกค้าหรือไม่ ก็ต้องบอกว่าอยากได้มาก แต่หากประเมินแล้วการรับลูกค้าในจำนวนเท่านี้ มีค่าใช้จ่ายให้ 2,000 บาท กับการดูแลในเวลา 2 วัน 1 คืน มีค่าที่พัก ค่ากิน ค่าเดินทาง ทำไปก็อาจไม่คุ้ม และเสี่ยงต่อการขาดทุน จึงมองว่า หากทำแล้วมีความเสี่ยงขาดทุนก็อยู่เฉยๆ ดีกว่า แม้จะอยากได้ลูกค้าเพิ่มเติม แต่หากประเมินแล้วทำไม่ได้จริงๆ ก็ต้องยอมทิ้งไป ถามว่ามีความเดือดร้อนหรือไม่ ก็เดือดร้อนมากๆ แต่ถ้าเข้าไปแล้วเจ็บตัว ก็ดิ้นรนในหนทางอื่นแทนดีกว่า”

 

นี่คือมุมมองของผู้ประกอบการที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการท่องเที่ยวมานาน ผ่านมาแล้วหลายวิกฤต ก็อยู่ที่ว่ารัฐบาลจะนำข้อเสนอแนะเหล่านี้ไปปรับใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการท่องเที่ยวในประเทศหรือไม่อย่างไร!

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง