ผวาบล็อกเมือง‘แรงงานเจ็บ-จน’พุ่ง วัดกึ๋นรัฐบาล...รับมือลอยแพล้านคน
วันนี้สถานการณ์การระบาดโควิด-19 ถือว่ารุนแรงขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ใกล้ถึงหมื่นรายต่อวัน ทำสถิติยอดผู้ติดเชื้อสูงสุดรอบใหม่ (นิวไฮ) มาต่อเนื่องในรอบ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ล่าสุด ณ วันที่ 11 กรกฎาคม 2564 ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รายงานพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ เพิ่มอีก 9,539 ราย ผู้เสียชีวิตเพิ่ม 86 รายถือเป็นตัวเลขนิวไฮทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิต!!
เมื่อสถานการณ์ผู้ติดเชื้อลุกลามและไม่ชัดเจนว่าจะยุติเมื่อใด รัฐบาล “บิ๊กตู่” จึงเลือกยกระดับมาตรการควบคุมการระบาดโควิดให้เข้มข้นขึ้นอีก โดนเฉพาะใน 10 จังหวัดเสี่ยงสูง แม้รัฐบาลจะยืนยันว่าไม่ให้เรียกว่ามาตรการล็อกดาวน์เพียงมาตรการควบคุมที่เข้มข้นขึ้น แต่ในทางปฏิบัติมาตรการที่นำมาใช้ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศโดยภาพรวมและเศรษฐกิจอยู่ดี โดยเฉพาะความสามารถในการทำมาหากิน การประกอบกิจการหรือการประกอบอาชีพต่างๆ ถูกตัดทอนโอกาสหาเงิน จากข้อจำกัดเรื่องเวลาเพื่อการซื้อขายลดลงประกอบกับจำนวนผู้ออกนอกอาคารที่พักอาศัยลดลงทั่วประเทศ ผลกระทบตกไปที่ลูกจ้างกินเงินรายวันรายชั่วโมง นำโดยภาคบริการ ภาคค้าปลีก และภาคท่องเที่ยว รวมถึงปัญหาสะสมต่อระบบธุรกิจและเศรษฐกิจจากโควิดกำลังลามไปถึงพนักงานกินเงินเดือนทั้งภาครัฐและเอกชน เสี่ยงมากขึ้นซึ่งภาคธุรกิจออกมาชี้แล้วว่ากลัวเจ็บแล้วไม่จบ!!
⦁วันนี้คนว่างงาน7.6แสน/อนาคตพุ่ง
ข้อมูลจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เผยสถานการณ์ตลาดแรงงาน ในไตรมาส 1/2564 อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น และการว่างงานของแรงงานในระบบยังอยู่ในระดับสูง โดยผู้ว่างงานเพิ่มเป็น 7.6 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงาน 1.96% สูงขึ้นอีกครั้ง หลังจากปรับตัวลดลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ทั้งปี 2563 ปิดยอดผู้ว่างงาน 6.51 แสนคน อัตราการว่างงานเพิ่ม 1.69% เทียบปี 2562 จึงสะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบจากโควิด-19 ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มจะส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานมากขึ้น หลังจากเกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่ แยกในรายกลุ่ม ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดคือแรงงานในวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอีเอส) อาจตกงานมากขึ้นอีก หรือถูกลดชั่วโมงการทำงาน สัญญาณจากเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีการสำรวจสถานประกอบการเอสเอ็มอีเอส ส่วนใหญ่ให้ข้อมูลว่ามีความสามารถในการประคองธุรกิจได้อีก 6 เดือนเท่านั้น ทั้งที่เดือนกุมภาพันธ์ อยู่ในช่วงการควบคุมการระบาดระลอก 2และสถานการณ์ดีขึ้นในเดือนมีนาคม
แรงงานในภาคบริการถือว่ามีจำนวนมากที่สุด โดยแรงงานในภาคการท่องเที่ยวอาจถูกเลิกจ้างมากขึ้น และต้องหาอาชีพใหม่ เนื่องจากการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวจะต้องเลื่อนและล่าช้ากว่าที่คาดไว้ เบื้องต้นคาดว่าจะไม่ใช่ปีนี้แน่นอน ส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานในภาคการท่องเที่ยวประมาณ 7 ล้านคน ที่จะไม่สามารถกลับไปทำงานได้ตามปกติ และอาจต้องเปลี่ยนอาชีพไป รวมถึงการระบาดโควิดส่งผลต่อแรงงานจบใหม่ ทำให้ตำแหน่งงานอาจไม่เพียงพอในการรองรับเด็กจบใหม่ เนื่องจากเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเติบโตต่ำกว่าเป้าหมาย ทำให้ธุรกิจเลื่อนการขยายตำแหน่งงานใหม่ กระทบต่อการหางานของเด็กจบใหม่ จำนวนกว่า 4.9 ล้านคน
เมื่อตลาดแรงงานมีความเปราะบางมาก ผลที่เกิดขึ้นจึงเกี่ยวเนื่องกับแนวโน้มหนี้ครัวเรือน โดยไตรมาส 4/2563 หนี้ครัวเรือนขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.9% ขณะที่สัดส่วนหนี้สินต่อจีดีพียังคงเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ตามการหดตัวของภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งในระยะถัดไป สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพียังทรงตัวอยู่ในระดับสูง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวกลับไปในระดับก่อนโควิด-19 ตลาดแรงงานที่ได้รับผลกระทบรุนแรงขึ้น กระทบต่อรายได้ครัวเรือน ประสบปัญหาการขาดสภาพคล่องมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้น้อยอยู่แล้ว ทำให้ความสามารถในการใช้จ่ายมีน้อยลงไปอีก ครัวเรือนจึงต้องระมัดระวังการใช้จ่ายในการซื้อสินค้าคงทน (บ้านและรถยนต์) ส่งผลกระทบต่อตลาดสินค้าดังกล่าว รวมถึงเมื่อคนมีเงินในมือน้อยลง แต่การใช้จ่ายเพื่อดำเนินชีวิตยังมีอยู่และต้องเดินหน้าต่อไป จะทำให้ความต้องการสินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ ทำให้เห็นการก่อหนี้เพิ่ม ทั้งในระบบและนอกระบบ ซึ่งจะกลายเป็นปัญหาด้านโครงสร้างทางสังคมต่อไป
⦁ล็อกดาวน์ซ้ำเติมตลาดแรงงาน
จากตัวเลขนั้นสะท้อนภาวะตลาดแรงงานที่มีความเปราะบางสูง ก็จะถูกซ้ำเติมมากขึ้น เมื่อรัฐประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์
ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) ให้ความเห็นว่า เมื่อรัฐประกาศล็อกดาวน์พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มข้น 10 จังหวัด ส่งผลให้เกิดแรงงานกลุ่มเสี่ยง หรือกลุ่มเสมือนว่างงานที่ทำงานน้อยกว่า 4 ชั่วโมงต่อวันจากการประเมินของกระทรวงแรงงานพบว่ากลุ่มนี้มีประมาณ 4 ล้านคน ส่วนกลุ่มที่ทำงานเพียง 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์มีจำนวนประมาณ 1.2 ล้านคน ซึ่งแรงงานส่วนใหญ่จะอยู่ในธุรกิจที่เปราะบาง อาทิ ร้านอาหารรายย่อยและร้านเสริมสวย และมีความกังวลอย่างมากว่าคนกลุ่มนี้จะถูกเทออกมาจากระบบในช่วงสถานการณ์วิกฤตเช่นนี้ส่วนจำนวนคนว่างงานในปัจจุบันมีประมาณ 9 แสน ถึง 1 ล้านคน
“การประกาศล็อกดาวน์ดังกล่าว ส่งผลให้ธุรกิจที่บอบช้ำอยู่แล้ว เป็นการซ้ำเติมเข้าไปอีก ซึ่งจะมีผลต่อแรงงานกลุ่มนี้โดยตรง รัฐบาลจึงต้องเร่งใส่เงินในการช่วยเหลือเข้าไปเยียวยา อย่าให้ถูกเทออกมา และต้องช่วยให้ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ในเรื่องสภาพคล่องโดยต้องช่วยให้เข้าถึงแหล่งเงินกู้ให้ได้โดยเร็ว โดยเฉพาะสินเชื่อฟื้นฟู วงเงิน 2.5 แสนล้านบาท ซึ่งต้องไปดูว่าเหตุที่ไม่สามารถปล่อยเงินกู้ได้เกิดจากอะไร ทำไมถึงปล่อยไม่ได้ ซึ่งปัญหานี้ต้องเร่งแก้ไขเพื่อต่อลมหายใจให้ผู้ประกอบการ” นายธนิตกล่าว
⦁ท่องเที่ยวจ่อตกงาน2ล้านคน
ชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวเสริมว่า การระบาดโควิดที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้แรงงานในภาคธุรกิจท่องเที่ยวที่มีจำนวนกว่า 4 ล้านคน ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ทั้งถูกพักงานชั่วคราวและถูกลดเงินเดือน โดยคาดว่าหลังรัฐใช้มาตรการล็อกดาวน์จะทำให้แรงงานตกงานเพิ่มอีกกว่า 2 ล้านคน เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่มีรายได้มากพอที่จะรักษาการจ้างงานได้อีกต่อไป โดยพิจารณาธุรกิจในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ขณะนี้มีการเปิดบริการปกติเพียง 50% เท่านั้น โดยมีปิดกิจการชั่วคราว 35% เพิ่มขึ้นจาก 22% และปิดกิจการถาวร 4% เพิ่มขึ้นจาก 1% โดยกิจการที่ปิดกิจการถาวรมากที่สุด คือ ร้านขายของที่ระลึก รองลงมาคือ สปา นวดแผนไทย, สถานบันเทิง และโรงแรม
“หากดูภาวะการจ้างงานโดยเฉลี่ยของไตรมาสที่ 2 ที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกปรับลดลงค่อนข้างมาก เพราะเข้าสู่การระบาดระลอก 3 แล้ว ซึ่งแรงงานท่องเที่ยวเกินกว่าครึ่ง หรือจากจำนวน 4 ล้านคน ขณะนี้ถูกเลิกจ้างไปแล้ว 2 ล้านคนแล้ว และคาดว่าจากการใช้มาตรการควบคุมโควิดที่เข้มข้นของรัฐบาล จะทำให้แรงงานถูกเลิกจ้างเพิ่มอีกไม่น้อยกว่าเดิม” นายชำนาญกล่าว
12 กรกฎาคม เริ่มมาตรการยกระดับรอบใหม่ 14 วัน ต่างก็ลุ้นมาตรการยาแรงของรัฐเพื่อหวังคุมโควิด และมาตรการยาแรงที่เริ่มประกาศออกมาจะส่งผลต่อตลาดแรงงานให้ยืนอยู่ไหวท่ามกลางมรสุมโควิดได้อีกแค่ไหน