กพร. ปัดเอื้อประโยชน์บริษัท อัคราฯ กรณีออกอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำ
กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม ปฏิเสธการเอื้อผลประโยชน์ให้กับบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) กรณีอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำ ยันดำเนินการทุกขั้นตอนตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งพิจารณาผลกระทบในมิติต่าง ๆ อย่างรอบคอบแล้ว
นายนิรันดร์ ยิ่งมหิศรานนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เปิดเผยถึงกรณีที่ตัวแทนกลุ่มประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ ยื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กรณีอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษให้กับ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ในเขตพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ จำนวน 44 แปลง โดยมองว่าเป็นการกระทำความผิดตามกฎหมายพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มีลักษณะเป็นการเอื้อผลประโยชน์ให้กับบริษัท อัคราฯ เพื่อไม่ให้เกิดการประมูลตามที่กฎหมายบัญญัติไว้
กพร. ขอชี้แจงว่า การอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำของบริษัท อัคราฯ เป็นการอนุญาตตามคำขอเดิมที่บริษัท อัคราฯ ได้ยื่นไว้ตั้งแต่ปี 2546 และ 2548 แต่ด้วยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 72/2559 ระบุให้ผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคําทุกรายทั่วประเทศระงับการประกอบกิจการไว้เป็นการชั่วคราว รวมถึงให้ระงับการอนุญาตสํารวจและทําเหมืองแร่ทองคําไว้จนกว่าคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ (คนร.) จะมีมติเป็นอย่างอื่น ซึ่งต่อมาในเดือนสิงหาคม 2560 คนร. มีมติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถพิจารณาอนุญาตประกอบกิจการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำได้ภายใต้ พ.ร.บ. แร่ พ.ศ. 2560 และกรอบนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ทองคำ พ.ศ. 2560
ส่วนขั้นตอนในการอนุญาตสำรวจหรือทำเหมืองแร่ ต้องผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการแร่ตามกฎหมาย ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 7 กระทรวง 14 หน่วยงาน และผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่าง ๆ ร่วมเป็นคณะกรรมการ การอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำดังกล่าว จึงเป็นไปตามขั้นตอนตามกฎหมาย และได้คำนึงถึงผลกระทบต่าง ๆ อย่างรอบคอบรัดกุมแล้ว มิได้เป็นการเอื้อผลประโยชน์ให้กับบริษัท อัคราฯ ตามที่มีการกล่าวอ้างแต่อย่างใด
นอกจากนี้ ตามมาตรา 21 ของ พ.ร.บ. แร่ พ.ศ. 2560 ซึ่งกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โดยความเห็นชอบของ คนร. มีอำนาจนำพื้นที่ที่แผนแม่บทการบริหารจัดการแร่กำหนดให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง และได้มีการสำรวจเบื้องต้นแล้วว่ามีแหล่งแร่อุดมสมบูรณ์ รวมถึงมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจสูงมาประกาศให้มีการประมูลฯ ซึ่งพื้นที่ตามอาชญาบัตร จำนวน 44 แปลง ที่มีการอนุญาตไปนั้น ยังไม่ได้ถูกกำหนดให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ ฉบับที่ 1 จึงไม่สามารถนำพื้นที่ดังกล่าวมาเปิดประมูลได้
นอกจากนี้ กรอบนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ทองคำ ยังกำหนดว่าพื้นที่ศักยภาพแหล่งแร่ทองคำที่สามารถนำมาเปิดประมูลได้ จะต้องเป็นพื้นที่ที่ภาครัฐได้ทำการสำรวจเอง และมีข้อมูลผลการสำรวจที่ระบุว่าเป็นแหล่งแร่อุดมสมบูรณ์และมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจสูงเพียงพอที่จะประกาศกำหนดเขตเป็นพื้นที่เพื่อการพัฒนาเหมืองแร่ทองคำด้วย ดังนั้น ในกรณีการอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษให้กับ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) จึงไม่เข้าเงื่อนไขของพื้นที่ที่จะนำไปเปิดประมูลได้
“กพร. พิจารณาคำขออนุญาตสำรวจหรือทำเหมืองแร่ตาม พ.ร.บ. แร่ พ.ศ. 2560 ของผู้ประกอบการทุกรายตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด ด้วยความเสมอภาค เรารับฟังทุกความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เน้นรักษาผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก ภายใต้ดุลยภาพทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชน” นายนิรันดร์ กล่าวทิ้งท้าย