คณะกรรมาธิการฯตรวจเหมืองแร่ทองคำ รับข้อเสนอฝ่ายหนุน-ฝ่ายคัดค้าน
วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2565 ที่อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร ขณะที่คณะกรรมาธิการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร นำโดยนายจารึก ศรีอ่อน รองประธานคณะกรรมาธิการฯ และคณะฯ ลงพื้นที่โดยรอบเหมืองแร่ทองคำชาตรี บริษัทอัครารีซอร์สเซส จำกัด ตำบลเขาเจ็ดลูก อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร และอำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อตรวจสอบหาข้อเท็จจริงผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำรวมถึงตรวจสอบข้อร้องเรียนจากชาวบ้านพื้นที่โดยรอบจำนวน 29 หมู่บ้าน รวมทั้งสอบหาข้อเท็จจริงจากผู้นำท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำข้อมูลประกอบการพิจารณาข้อร้องเรียนในการเปิดเหมืองแร่ทองคำที่จะมีขึ้นในเร็วๆนี้ หลังจากบริษัทอัครารีซอร์สเซส จำกัด ได้รับการต่ออนุญาตใบประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำจำนวน 4 แปลง เป็นระยะเวลา 10 ปี และต่อใบอนุญาตโรงงานโลหะกรรมอีก 5 ปี
โดยวันนี้ขณะลงพื้นที่มีกลุ่มผู้สนับสนุนให้เปิดเหมืองทอง และกลุ่มผู้คัดค้านการเปิดเหมืองทองต่างฝ่ายต่างทำหนังสือมายื่นต่อรองประธานคณะกรรมาธิการฯ โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ทับคล้อ มาดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย เนื่องจากเป็นการเผชิญหน้ากันทั้งสองฝ่าย
นายชัยพร สุดสิน ประธานชมรมคนรักเหมืองทอง กล่าวว่า ตนเองพร้อมด้วยอดีตพนักงานเหมืองทองรวมถึงชาวบ้าน พ่อค้า แม่ค้าอยู่ในพื้นที่จำนวนกว่า 200 คน มีข้อห่วงกังวลเรื่องการให้ข้อมูลจากกลุ่มบุคคลนอกพื้นที่ที่อาจจะมีวาระอื่นแอบแฝงหรือไม่ โดยอ้างพิษภัยของการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ ทั้งๆ ที่อยู่ห่างไกลเหมือง ซึ่งตนเองกล้ายืนยันว่า การประกอบการเหมืองแร่ทองคำนั้นไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมพื้นที่โดยรอบเหมืองแร่ทองคำรวมทั้งสุขภาพประชาชนรอบเหมืองแร่ทองคำแต่อย่างใด มิเช่นนั้นพวกคนในพื้นที่จะเป็นผู้ต่อต้านเอง ซึ่งจากการปิดเหมือง ชาวบ้านในพื้นที่รวมถึงร้านค้าในพื้นที่ได้รับผลกระทบทั้งด้านคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ ครอบครัวตลอดจนกลุ่มพนักงานกว่าพันคนก็ได้รับความเดือดร้อนตามไปด้วย ขณะที่ผู้ประกอบการ ร้านค้าก็พลอยขาดรายได้ตามไปด้วย ซึ่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระดับฐานรากและสังคมชุมชนพลอยได้รับผลกระทบตามไปด้วย
ทางด้านนางสาวพรีมสินี สินทรธรรมทัช กล่าวว่า วันนี้จะมายื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการฯ เพื่อให้มีการตรวจสอบเหมืองแร่ทองคำ ว่า ได้มีการแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพชาวบ้าน ตั้งแต่ตอนที่เหมืองแร่ทองคำยังเปิดอยู่หรือยัง แล้วเหตุใดเหมืองแร่ทองคำจึงได้รับการต่ออนุญาตใบประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำจำนวน 4 แปลง เป็นระยะเวลา 10 ปี และต่อใบอนุญาตโรงงานโลหะกรรมอีก 5 ปีได้ หากยังไม่แก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนดังกล่าว เนื่องจากชาวบ้านยังไม่ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการจะเปิดเหมืองแร่ทองคำ เพราะผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชนรอบๆ เหมืองแร่ทองคำนั้นเยอะมาก
ทางด้านนายจารึก ศรีอ่อน รองประธานคณะกรรมมาธิการฯ กล่าวว่า การมาลงพื้นที่วันนี้ เพราะจะมารับฟังปัญหาอย่างรอบด้าน ทั้งฝ่ายคัดค้านหรือจะเป็นฝ่ายสนับสนุนให้มีการเปิดเหมืองแร่ทองคำอีกครั้ง เพื่อนำปัญหาในด้านต่างๆ ทั้งปัญหาข้อร้องเรียนและคัดค้าน หรือจะเป็นข้อเรียกร้องให้มีการเปิดเหมืองแร่ทองคำขึ้นมาอีกครั้ง โดยวันนี้ได้รับฟังปัญหาจากแกนนำทั้งสองฝ่ายรวมถึงจากทางราชการทุกหน่วยงาน เพื่อนำปัญหาต่างๆ กลับไปสรุปผลและพิจารณาจต่อไป
ภาพ ผู้สื่อข่าว จ.พิจิตร