สะพรึง! ภัยไมโครพลาสติกบุกถึงถ้ำลับมะกัน กระทบระบบนิเวศหนัก
TNN ช่อง16
8 ตุลาคม 2566 ( 15:48 )
101
ภัยร้ายต่อระบบนิเวศอย่างไมโครพลาสติก (Microplastics) ได้ทวีความรุนแรงขึ้นอีกครั้ง เมื่อนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเซนต์หลุยส์ (Saint Louibse University) ประเทศสหรัฐอเมริกา เปิดเผยความจริงที่น่ากลัวว่า แม้แต่ถ้ำคลิฟฟ์ (Cliff Cave) มรดกทางธรรมชาติประจำเซนต์หลุยส์เคาน์ตี รัฐมิสซูรี ที่เคยบริสุทธิ์สมบูรณ์และไร้การรบกวนของมนุษย์มาถึง 3 ทศวรรษ ปัจจุบันกลับไม่รอดพ้นจากการคุกคามไมโครพลาสติก
การค้นพบปริมาณไมโครพลาสติกจำนวนมากในถ้ำแห่งนี้เป็นผลงานการศึกษาของคณะวิจัยมหาวิทยาลัยเซนต์หลุยส์ นำทีมโดย ดร.เอลิซาเบธ ฮาเซนมูลเลอร์ (Elizabeth Hasenmueller) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นโลกและบรรยากาศ และผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันเดอะวอเตอร์ (the WATER Institute) มหาวิทยาลัยเซนต์หลุยส์ โดยการศึกษาที่เผยแพร่ในวารสาร Science of the Total Environment and Water Research นี้สร้างความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับผลกระทบของอนุภาคพลาสติกขนาดเล็กต่อระบบนิเวศที่เปราะบางทั่วโลก
ทั้งนี้ ไมโครพลาสติก หรืออนุภาคพลาสติกที่มีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร กลายเป็นสิ่งที่หลายคนให้ความสนใจเนื่องจากมันได้ระจายตัวในสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะสภาพแวดล้อมทางทะเลอย่างกว้างขวาง ซึ่งผลกระทบของมันส่งผลต่อร่างกายของมนุษย์ โดยหากมีการสะสมไมโครพลาสติกในร่างกายจำนวนมากก็อาจก็ให้เกิดโรคร้ายได้ ขณะที่หาดสัตว์กินไมโครพลาสติกเข้าไปก็จะเป็นภัยต่อชีวิตเช่นกัน และที่มากไปกว่านั้น ผลงานของ ดร. ฮาเซนมูลเลอร์ ยังเผยอีกว่าภัยร้ายต่อระบบนิเวศชนิดนี้ได้ส่งผลกระทบไปยังพื้นที่ทางธรรมชาติที่ซ่อนเร้น อย่างแหล่งทรัพยากรใต้พื้นดิน ซึ่งรวมถึงถ้ำที่มีระบบนิเวศที่เปราะบางและน้ำบาดาลซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรน้ําสำหรับอุปโภคบริโภคทั่วไป
ขณะที่คณะวิจัยศึกษาลงไปยังถ้ำคลิฟฟ์ พวกเขาพบระดับไมโครพลาสติกในถ้ำดังกล่าวเชื่อมโยงกับปรากฏการณ์น้ำท่วม กล่าวคือ อนุภาคพลาสติกขนาดเล็กที่เจือปนอยู่ตามแหล่งน้ำจะไหลไปตามกระแสน้ำเมื่อเกิดน้ำท่วมและเข้าสู่ระบบของถ้ำที่มีความซับซ้อน และเมื่อเวลาผ่านไปก็ส่งผลให้ปริมาณไมโครพลาสติกในถ้ำดังกล่าวสูงขึ้น
โดยทีมงานยังสังเกตเห็นเศษพลาสติกขนาดเล็กจํานวนมากที่ทางเข้าหลักของถ้ำ ซึ่งคาดว่าถูกน้ำท่วมพัดมาหรืออาจเกิดจากอนุภาคที่แขวนลอยในอากาศรอบ ๆ ทางออกของถ้ำ อย่างไรก็ตาม เรื่องที่น่าตกใจที่สุดคือการพบไมโครพลาสติกในตะกอนถ้ำมากกว่าในน้ําเกือบ 100 เท่า สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่าขยะขนาดจิ๋วนี้ได้ตกค้างภายในระบบนิเวศของถ้ำ แม้น้ําท่วมจะลดระดับลง ซึ่งมันไม่เพียงแต่คุกคามสภาพแวดล้อมของถ้ำเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในถ้ำคลิฟฟ์ด้วย
นอกจากนี้ การศึกษาของทีมสอดคล้องกับการวิจัยชิ้นก่อนหน้านี้ของสถาบันเดอะวอเตอร์ มหาวิทยาลัยเซนต์หลุยส์ ที่เน้นย้ำว่าความหนาแน่นของประชากรเป็นปัจจัยที่สําคัญที่สุดในการกระจายของไมโครพลาสติกในธรรมชาติ จึงจําเป็นอย่างยิ่งที่จะทำการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อทําความเข้าใจขอบเขตของภัยคุกคามนี้ให้มากขึ้น รวมถึงพัฒนากลยุทธ์เพื่อปกป้องระบบนิเวศที่เปราะบางเหล่านี้ด้วย
ที่มาของข้อมูล interestingengineering.com
ที่มาของรูปภาพ Reuters