รีเซต

ไขปริศนาตุ๊กแกยักษ์ในตำนาน ด้วย DNA จากชิ้นตัวอย่างในพิพิธภัณฑ์

ไขปริศนาตุ๊กแกยักษ์ในตำนาน ด้วย DNA จากชิ้นตัวอย่างในพิพิธภัณฑ์
TNN ช่อง16
26 มิถุนายน 2566 ( 17:43 )
207
ไขปริศนาตุ๊กแกยักษ์ในตำนาน ด้วย DNA จากชิ้นตัวอย่างในพิพิธภัณฑ์

ตุ๊กแกยักษ์เดลคอร์ท (Delcourt’s giant gecko) ถือเป็นหนึ่งปริศนาลึกลับของโลกสัตว์เลื้อยคลาน ที่ยังไม่มีใครทราบเลยว่าเจ้าตุ๊กแกขนาดยักษ์ตัวเขื่องเกือบเมตรนี้มีที่มาจากไหน แถมหลักฐานเกี่ยวกับเจ้าตุ๊กแกยักษ์เดลคอร์ทก็ยังเหลืออยู่แค่ชิ้นเดียว เป็นชิ้นตัวอย่างจัดแสดง (specimen) ในพิพิธภัณฑ์ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์บางกลุ่มสันนิษฐานว่ามันน่าจะเป็นตุ๊กแกสักสายพันธุ์ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว บ้างก็เชื่อว่าอาจจะเป็นตุ๊กแกยักษ์ในตำนานประเทศนิวซีแลนด์อีกด้วย !

ทว่างานวิจัยที่ตีพิมพ์บนวารสารเนเจอร์ (Nature) เมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมาเผยว่า ในที่สุดทีมนักวิจัยก็สามารถตรวจหาสารพันธุกรรม หรือดีเอ็นเอ (DNA) ย้อนหลังจากชิ้นตัวอย่างจัดแสดง และพบว่าเจ้าตุ๊กแกยักษ์ปริศนานี้ไม่ใช่ตุ๊กแกยักษ์ประเทศนิวซีแลนด์  แต่มาจากเกาะนิวแคลิโดเนียน (New Caledonian) ทางมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกเฉียงใต้ต่างหาก !

ตุ๊กแกยักษ์เดลคอร์ทใหญ่ขนาดไหน ? 

ตุ๊กแกยักษ์เดลคอร์ทถือเป็นตุ๊กแกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยค้นพบ โดยมีขนาดตัววัดได้อย่างน้อย 60 เซนติเมตร จากจมูกถึงปลายหาง ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าสปีชีส์ตุ๊กแกที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่ยังมีชีวิตอยู่อย่างตุ๊กแกยักษ์นิวแคโดเนีย ( Rhacodactylus leachianusถึงร้อยละ 50 เลยทีเดียว ! 

ภาพจาก Nature


อย่างไรก็ตาม ขนาดตัวใหญ่ยักษ์ของเจ้าตุ๊กแกยักษ์เดลคอร์ทไม่ใช่เรื่องบังเอิญ หรือการกลายพันธุ์แต่อย่างใด โดย แมทธิว ไฮนิเก้ (Matthew Heinicke) นักชีววิทยาด้านวิวัฒนาการจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน-เดียร์บอร์น (University of Michigan-dearborn) สหรัฐอเมริกา อธิบายว่า “ตุ๊กแกยักษ์เดลคอร์ทบังเอิญเป็นสายพันธุ์ตุ๊กแกที่มีขนาดใหญ่โตเป็นปกติ” 


ตุ๊กแกยักษ์เดลคอร์ทพิเศษอย่างไร ? 

นักวิทยาศาสตร์เริ่มสนใจศึกษาเกี่ยวกับตุ๊กแกยักษ์เดลคอร์ท ในช่วงทศวรรษที่ 1980 หลังจากที่ อแลง เดลคอร์ท (Alain Delcourt) ผู้จัดการคอลเลกชันพิพิธภัณฑ์ค้นเจอชิ้นตัวอย่างจัดแสดงที่ไม่มีใครสนใจชิ้นหนึ่ง ในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติมาร์เซย์ (Natural History Museum of Marseille) ในประเทศฝรั่งเศส 

โดยตัวอย่างจัดแสดงของตุ๊กแกปริศนานี้มีลำตัวอวบหนาเป็นสีน้ำตาล และมีแถบสีแดงจาง ๆ โดย แอรอน บาวเออร์ (Aaron Bauer) นักวิทยาสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก (Herpetologist) ที่ได้เดินทางมาที่พิพิธภัณฑ์ในปี 1983 เพื่อตรวจสอบชิ้นตัวอย่างจัดแสดงที่เพิ่งค้นเจอ กล่าวว่า “ตอนที่เดลคอร์ทหยิบชิ้นตัวอย่างออกมาจากตู้ ผมอ้าปากค้างไปเลย”  โดยภาพข้างล่างคือ อแลง เดลคอร์ทถือชิ้นตัวอย่างน้องตุ๊กแกยักษ์ในช่วงต้นศตวรรษที่ 1980

ภาพจาก sciencenews

 

ใหญ่จนคิดว่าเป็นตุ๊กแกในตำนานชาวมาวรี

ตอนแรก บาวเออร์ เขียนคำอธิบายชิ้นตัวอย่างตุ๊กแกปริศนาในปีค.ศ 1986 ไว้ว่ามันน่าจะเป็นตุ๊กแกสักสายพันธุ์ในกลุ่มเดียวกันกับตุ๊กแกนิวซีแลนด์ เพราะมีลักษณะทางกายภาพคล้าย ๆ กัน นอกจากนี้ เขายังเสนอว่า ตุ๊กแกปริศนาอาจจะเป็น “คาเวคาเวหยาว” หรือ Kawekaweau ตุ๊กแกยักษ์ในตำนานของชนเผ่ามาวรี ชนพื้นเมืองของประเทศนิวซีแลนด์ เนื่องจากสีและขนาดตัวมหึมาของน้องตุ๊กแกปริศนาดูคล้ายกับคำอธิบายลักษณะตุ๊กแกยักษ์ในตำนาน !

กลับไปศึกษาด้วยเทคโนโลยีใหม่

แต่ด้วยเทคโนโลยีในทุกวันนี้ ทำให้การศึกษาต้นตอของสิ่งมีชีวิตง่ายขึ้น เพราะโดยพื้นฐานแล้วสิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลกมีสารพันธุกรรม หรือดีเอ็นเอ (DNA) เป็นองค์ประกอบ ไม่ว่าจะเป็น มนุษย์ พืช หรือสัตว์ ซึ่งชิ้นตัวอย่างจัดแสดง (specimen) ในพิพิธภัณฑ์มีความพิเศษตรงที่เป็นตัวอย่างต้นแบบจากสัตว์จริง ๆ ไม่ใช่แค่โมเดลจำลอง ภายในจึงมีสารพันธุกรรมหลงเหลืออยู่

เมื่อเวลาผ่านไป เทคนิควิธีการสกัดและวิเคราะห์สารพันธุกรรม หรือ ดีเอ็นเอ (DNA) พัฒนาไปไกลมากขึ้น เทคนิควิธีการสกัดและวิเคราะห์สารพันธุกรรมสามารถดึงข้อมูลได้ทั้งจากตัวอย่างที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นสารคัดหลั่ง ซากพืชซากสัตว์ หรือแม้กระทั่งดีเอ็นเอที่ปะปนมาในสิ่งแวดล้อม

ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนามากขึ้นในปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์สามารถดึงข้อมูลลำดับพันธุกรรมจากชิ้นตัวอย่าง หรือสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วอย่าง นกโดโด้ หรือช้างแมมมอธได้ ทีมนักวิจัยจึงเกิดความคิดนำเทคนิคดังกล่าวมาศึกษาน้องตุ๊กแกปริศนานี้อีกครั้ง 

ไขปริศนาต้นกำเนิดตุ๊กแกยักษ์

ทีมนักวิจัยจึงตัดสินใจกลับเยือนชิ้นตัวอย่างตุ๊กแกยักษ์อีกครั้ง และค่อย ๆ ทดลองสกัดสารพันธุกรรมจากกระดูกของชิ้นตัวอย่าง และสกัดเนื้อเยื่อไขกระดูก เพื่อหาข้อมูลสารพันธุกรรมเพิ่มเติมจากเซลล์เม็ดเลือดต่าง ๆ และไมโทคอนเดรีย หรืออวัยวะขนาดจิ๋วภายในเซลล์ ซึ่งไมโทคอนเดรีย จะมีสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอเป็นของตัวเองอีกด้วย 

ก่อนหน้านี้ นักวิทยาศาสตร์คาดกันว่า ตุ๊กแกยักษ์เดลคอร์ท น่าจะเป็นตุ๊กแกซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศนิวซีแลนด์ แต่ข้อมูลจากสารพันธุกรรมใหม่เผยว่า แท้จริงแล้ว มันมีความเกี่ยวข้องกับตุ๊กแกในกลุ่มนิวแคลิโดเนียน ซึ่งมีถิ่นอาศัยอยู่ในเกาะนิวแคลิโดเนีย (New Caledonia) ดินแดนโพ้นทะเลทางภูมิภาคแปซิฟิกใต้ของประเทศฝรั่งเศส แต่ทั้งสองสายพันธุ์มีวิวัฒนาการแยกจากกันเมื่อราว 45 ล้านปีก่อน จนกลายมาเป็นตุ๊กแกสกุล (genus) ใหม่

น้องได้ชื่อใหม่ด้วย

นอกจากนี้น้องตุ๊กแกยักษ์ยังได้ชื่อใหม่ว่า “Gigarcanum delcourti” ซึ่งชื่อสกุล (genus) “Gigarcanum” นั้นมีความหมายว่า “ยักษ์ใหญ่ลึกลับ” ส่วนชื่อคำแสดงคุณลักษณะ (specific epithet) “delcourti” ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ อแลง เดลคอร์ท (Alain Delcourt) ผู้ที่ค้นเจอชิ้นตัวอย่างจัดแสดงของน้องตุ๊กแก Gigarcanum delcourti ก่อนหน้านี้นั่นเอง 

ทีมวิจัยเตรียมศึกษาเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ทีมวิจัยเองก็ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าในปัจจุบัน น้อง ตุ๊กแกยักษ์เดลคอร์ท หรือ ตุ๊กแก Gigarcanum delcourti ยังมีชีวิตอยู่บนเกาะนิวแคลิโดเนียหรือไม่ แต่ในเบื้องต้นดาดว่าตุ๊กแกสายพันธุ์นี้อาจจะสูญพันธุ์ไปแล้ว ซึ่งในอนาคตทีมนักวิจัยตั้งใจจะสำรวจหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับน้องตุ๊กแกยักษ์ต่อไป เพื่อศึกษาความหลากหลายของเหล่าตุ๊กแก และสัตว์เลื้อยคลานอื่น ๆ ต่อไป

หากใครสนใจอ่านงานวิจัยเพิ่มเติมสามารถอ่านต่อไปที่เว็บไซต์ Nature


ที่มาข้อมูลและภาพ Sciencenews, SHSU

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง