กนง.แนะปรับค่าแรงขั้นต่ำแบบค่อยเป็นค่อยไป ห่วงเกิดเงินเฟ้อสูงฝังราก
ข่าววันนี้ 9 ก.พ. นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้ออาจจะเกินกรอบเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 3% ตามราคาพลังงาน และราคาอาหารสดที่ปรับตัวสูงขึ้น การส่งผ่านต้นทุนอาจจะเพิ่มมากขึ้น พร้อมกับถ้าเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวเร็วและมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ยังไม่เห็นสัญญาณการปรับขึ้นของราคาในวงกว้าง เมื่อดูราคาสินค้าและบริการ มีสินค้าไม่กี่ประเภทที่ปรับตัวสูงขึ้น แต่เมื่อถ่วงน้ำหนักแล้วพบว่ามีสัดส่วนน้อย ประกอบกับมีสินค้าหลายตัวที่ปรับตัวลดลงด้วย เมื่อเทียบกับประเทศสหรัฐอเมริกา มีสินค้ากว่า 35% ปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ แต่ในประเทศไทยยังไม่มีการปรับราคาสินค้าขึ้นเป็นวงกว้างแบบนั้น
ทั้งนี้ครัวเรือนที่มีรายได้น้อย มีการบริโภคสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่มในสัดส่วนที่ 45% ซึ่งสูงกว่าครัวเรือนที่มีรายได้สูง อยู่ที่ 25% ประกอบกับรายได้ของลูกจ้างภาคบริการและผู้ประกอบอาชีพอิสระ ยังฟื้นตัวได้ไม่เท่ากับลูกจ้างภาคการผลิต อีกทั้งยังมีหนี้สินในสัดส่วนที่สูงด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อสูงเป็นปัญหาในระยะชั่วคราว โดยกรอบเงินเฟ้อที่กำหนดไว้มีความยืดหยุ่น เพื่อยึดเหนี่ยวเงินเฟ้อระยะปานกลางให้อยู่ระดับที่เหมาะสม โดยกนง. จะให้ความสำคัญกับแนวโน้มระยะยาวของเงินเฟ้อ การมีกรอบนโยบายการเงินที่คาดการณ์ไว้เป็นสิ่งดี ทำให้ไม่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อฉุดการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ แต่สิ่งที่กนง. เฝ้าระวัง คือ ไม่อยากให้เงินเฟ้อหยั่งรากลึกเป็นวงจร ยกตัวอย่างเช่นมีสินค้าบางเฉพาะทำให้เงินเฟ้อสูง นำไปสู่การคาดการณ์สินค้าอื่นสูงขึ้น หรือ ค่าจ้างแรงงานสูงขึ้นแพร่หลาย ต้นทุนสูงขึ้น ผู้ประกอบการทนไม่ไหวตั้งราคาสูงขึ้น ทำให้เกิดเงินเฟ้อสูงฝังราก
ส่วนการพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้น มองว่า เป็นสิ่งที่คณะกรรมการจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ และต้องมองระยะปานกลางมากกว่าปัจจัยเฉพาะ เพราะราคาสินค้าที่ปรับเพิ่มขึ้น หากเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราว แต่มีการตอบรับเร็ว โดยการเพิ่มขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้น อาจส่งผลกระทบได้ สะท้อนจากครั้งก่อนที่มีการปรับขึ้นค่าแรงเป็น 300 บาท ซึ่งเป็นการปรับขึ้นเร็วและกระโดด แม้จะช่วยครัวเรือนในกลุ่มที่มีรายได้น้อย แต่ได้สร้างภาระต้นทุนสูงขึ้นให้กับผู้ประกอบการ และทำให้บริษัทขนาดเล็กลดการจ้างงานไปด้วย จึงพบว่ามีกลุ่มที่มีรายได้เพิ่ม แต่ก็จะมีบางกลุ่มที่อาจไม่มีงานทำด้วย